ฐานที่ตั้งสติและคำบริกรรม

🌷 ฐานที่ตั้งสติ

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ คือ การสร้างสติของผู้ปฏิบัติให้ตั้งอยู่อย่างมั่นคง ในเมื่อมีอารมณ์มากระทบจิต โดยการยกจิตให้เข้าไปตั้งอยู่ ณ ฐาน ๔ แห่ง แห่งใดแห่งหนึ่งบ่อยๆ เนืองๆ คือ ที่ฐานกาย เวทนา จิต หรือธรรม ซึ่งทำให้จิตสามารถตัดอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ได้

ในทางปฏิบัติ การยกจิตเข้าไปไว้ที่ฐานที่ตั้งสตินี้ ก็คือ การเปลี่ยนความสนใจจากอารมณ์ที่กำลังเข้ามากระทบเฉพาะหน้า ให้เข้าไประลึกรู้ชัดอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติแทนเสีย

ถ้ายกจิตเข้าไปตั้งที่ฐานที่ตั้งสติและประคองไว้ด้วยอุบายอันแยบคายได้สำเร็จ สัมมาสติ สัมมาวายามะ สัมมาสมาธิ ย่อมเกิดขึ้น และทำให้ความยินดียินร้ายกระสับกระส่ายดับไปจากจิต

แต่ถ้ายกจิตเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่มีความเพียรประคองให้ตั้งอยู่ที่ฐานดังกล่าว ต่อเนื่องต่อไป (คือปล่อยให้แลบหนีออกไปอยู่ที่อารมณ์ใดๆ เสีย) สัมมาสติย่อมดับ ซึ่งจะทำให้ความยินดี ยินร้าย กระสับกระส่ายเกิดขึ้นที่จิตได้เป็นธรรมดา

ดังนั้น ฐานที่ตั้งสติ จึงเป็นองค์ธรรมสำคัญที่ผู้ปฏิบัติจะต้องอุปโลกน์ขึ้นไว้ในใจก่อน เพื่อใช้เป็นฐานรองรับจิตที่แยกตัวออกจากอารมณ์ทั้งหลาย ก่อนลงมือปฏิบัติธรรม ไม่ว่าหมวดกาย เวทนา จิต หรือธรรม หมวดใดหมวดหนึ่งในสติปัฏฐาน ๔ ก็ตาม

ผู้ปฏิบัติจะต้องอุปโลกน์ฐานที่ตั้งสติ ให้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถยกจิตเข้าไปได้โดยสะดวก แล้วจดจำไว้ในใจให้แม่นยำ พร้อมที่จะยกจิตเข้าไปตั้งได้อย่างมั่นคงและแข็งแรงทุกขณะ เพื่อที่จะใช้เป็นฐานที่ตั้งสติได้ตลอดชีวิตอีกด้วย

เมื่ออุปโลกน์ฐานที่ตั้งสติขึ้นแล้ว ผู้ปฏิบัติก็ย่อมมีหลักในใจว่า ถ้ามีอารมณ์ใดๆ เข้ามากระทบ ก็ให้รีบยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติทันที ก่อนที่จะปรุงแต่งให้เกิดความยินดียินร้ายขึ้นมา (คือ รู้เรื่องแล้วรีบละทิ้งเรื่องที่รู้เสียได้)

ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกยกจิตเข้าไปตั้งที่ฐานที่ตั้งสติอย่างคล่องแคล่ว พร้อมกับเพียรประคองไว้ด้วยอุบายอันแยบคาย ทุกครั้งที่มีอารมณ์เข้ามากระทบ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่อารมณ์เริ่มกระทบ) สภาพเช่นนี้เรียกว่า สติปัฏฐานเกิดขึ้นแล้ว ความยินดียินร้าย กระสับกระส่ายก็ย่อมไม่ปรากฏขึ้นที่จิต

ถ้าตั้งเจตนาประคองสติให้ตั้งอยู่อย่างต่อเนื่องได้ ก็เรียกว่า เป็นผู้มีสติตื่นอยู่เป็นนิตย์ (ชาคโร) ซึ่งเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔

เมื่อมีสติตื่นอยู่เป็นนิตย์แล้ว ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ จึงไม่มีทางที่จะกลายเป็นคนบ้าไปได้เลย นอกจากจะทิ้งฐานที่ตั้งสติออกไปอยู่กับอารมณ์ เช่น อยากดูหวยว่าออกอะไร หรืออยากมีฤทธิ์ เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดความยินดียินร้าย เกิดกิเลสตัณหาขึ้น แล้วกลายเป็นบ้าไปเท่านั้น

🌻 ฐานที่ตั้งสติของโบราณาจารย์

เนื่องจากสติปัฏฐานสูตรได้กำหนดฐานที่ตั้งสติไว้กว้างๆ ๔ แห่ง คือ ที่ฐานกาย เวทนา จิต และธรรมเท่านั้น ดังนั้น ในด้านปฏิบัติจริงนั้น โบราณาจารย์ต่างๆ หลายท่านจึงได้กำหนดฐานที่ตั้งสติขึ้น (เพื่อยกจิตเข้าไปตั้งไว้เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบ) ตามความเชื่อของท่านว่าดีที่สุด สำหรับทำให้จิตสงบตั้งมั่น ดังต่อไปนี้คือ

๑. ฐานที่ใต้สะดือ ๒ นิ้ว
๒. ฐานที่เหนือสะดือ ๓ นิ้ว
๓. ฐานที่ก้อนเนื้อหัวใจ
๔. ฐานที่สุดของลำคอ
๕. ฐานที่ท้ายทอย
๖. ฐานบนกระหม่อม
๗. ฐานระหว่างคิ้วทั้งสอง
๘. ฐานระหว่างนัยน์ตาทั้ง ๒ ข้าง
๙. ฐานที่ปลายจมูก
๑๐. ฐานในโพรงจมูก

จากรายละเอียดของฐานที่ตั้งสติซึ่งโบราณาจารย์ได้ใช้ปฏิบัติแตกต่างกันไปเหล่านี้ ผู้ที่ศึกษาวิธีปฏิบัติธรรม ควรจะได้พิจารณาแล้วเลือกฐานดังกล่าวให้เหมาะและสะดวก เพื่อใช้เป็นนิมิตหมายทางใจเพียง ๑ ฐานเท่านั้น

🌻 วิธีอุปโลกน์ฐานที่ตั้งสติ

สำหรับการปฏิบัติอานาปานสติ พิจารณาลมหายใจเข้าออก ผู้ที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ควรอุปโลกน์ฐานที่ตั้งสติขึ้นที่จุดลมหายใจกระทบตรงบริเวณช่องจมูก เพียงจุดเล็กๆ จุดเดียวให้แน่นอน คงที่ ที่ผู้ปฏิบัติจะสามารถดูได้อย่างชัดเจนตลอดเวลา ทุกขณะที่ลมหายใจเคลื่อนผ่านเข้าออกที่จุดนี้เท่านั้น

เมื่อเลือกฐานที่ตั้งสติได้เป็นที่พอใจแล้ว ก็ให้จำและรักษาไว้ในใจให้มั่นคง อย่าพยายามเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนฐานนี้บ่อยๆ หรือปล่อยให้เคลื่อนเข้าออกตามลมหายใจไปด้วยเป็นอันขาด เพราะจะทำให้จิตเคลื่อนไหวและไม่เป็นสมาธิไปในที่สุด

การเปลี่ยนฐานที่ตั้งสติบ่อยๆ จะทำให้เกิดความลังเลใจในการยกจิตเข้าไปตั้งไว้ และกั้นจิตไม่ให้ทำงานคล่องแคล่วเสียเองก็ได้

ผู้ปฏิบัติต้องหมั่นฝึกยกจิตเข้าไปตั้งที่ฐานที่ตั้งสติที่อุปโลกน์ขึ้น และเพียรประคองไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้จิตแลบหนีออกไปหาอารมณ์ใดๆ ได้อีก โดยจะต้องฝึกปฏิบัติบ่อยๆ เนืองๆ จนชำนาญในที่สุด

จิตที่ได้ยกเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ และประคองไว้ได้สำเร็จ จะทำหน้าที่เป็น “สัมมาสติ” ในมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่า “สติเกิดขึ้น” แต่ถ้าจิตแลบหนีออกไปเพราะประคองไว้ไม่ได้ ก็เรียกว่า “สติดับไป”

ดังนั้น การเกิดขึ้นของสติก็ดี การดับไปของสติก็ดี จิตยังเคลื่อนไหวเข้าไปสู่ฐานที่ตั้งสติ และเคลื่อนไหวแลบหนีออกไปจากฐานที่ตั้งสติ ตามลำดับ

ดังนั้น สติจึงจัดว่าเป็นสังขารธรรมอยู่ในระยะแรกๆ แต่ถ้าฝึกปฏิบัติจนชำนาญและรักษาไว้ที่ฐานที่ตั้งสติอย่างมั่นคงต่อเนื่องทุกขณะแล้ว ก็ย่อมบรรลุอรหัตตผลในที่สุด ความยินดียินร้ายย่อมไม่เกิดขึ้นในจิตของพระอรหันต์เลย จิตไม่เคลื่อนไหวอีกต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้สติจะเป็นสังขารธรรมก็ตาม แต่ก็จัดว่าเป็นมรรค ที่สำคัญในมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดให้ผู้ปฏิบัติ “ทำให้เกิดขึ้น”(ภาเวตัพพะ) “ไม่ใช่เกิดขึ้นเอง” เพื่อไปสู่ความดับทุกข์

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกฝนบังคับให้มีให้เป็นให้เกิดขึ้นให้ได้ จะถือเสียว่าสติเป็นสังขารธรรม แล้วบังคับบัญชาไม่ได้เลยนั้น ย่อมไม่ถูกต้องแน่นอน

ที่ว่าสังขารธรรมนั้นไม่อาจบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใจหวังนั้น ก็เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับความเก่าแก่คร่ำคร่าฝืนคติธรรมดาเท่านั้น แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้สอยให้ทำงานอย่างถูกต้องนั้น สังขารย่อมต้องควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างไม่มีปัญหา ดังเช่น “สติ” นี้เป็นต้น ซึ่งผู้ปฏิบัติจะต้องคอยระมัดระวังควบคุมบังคับบัญชา ไม่ให้แลบหนีออกจากฐานอยู่ตลอดเวลา จึงจะบรรลุมรรคผลได้ในที่สุด

🌷 คำบริกรรมที่ใช้ในการปฏิบัติสมาธิ

โดยทั่วไปแล้ว ในปัจจุบันนี้ แต่ละสำนัก แต่ละอาจารย์ ได้คิดคำบริกรรมสำหรับใช้ผูกมัดจิตอันปราดเปรียวนี้ขึ้น ควบคู่กับการยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติอีกอย่างหนึ่งด้วย สุดแต่จะนิยมนับถือว่าอย่างใดเหมาะสมที่สุด

โบราณาจารย์ ใช้คำบริกรรมว่า “อรหัง”
สายพระอาจารย์มั่น ใช้คำบริกรรมว่า “พุทโธ”
สายหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ใช้คำบริกรรมว่า “สัมมาอรหัง”
สายพม่า ใช้คำบริกรรมว่า “ยุบหนอ – พองหนอ หรือ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ เป็นต้น

นับว่าเป็นเจตนาที่ดีของท่านอาจารย์ในแต่ละสำนักดังกล่าวมานี้ ที่จะช่วยสานุศิษย์ของตนให้ปฏิบัติสมาธิได้รวดเร็วขึ้น

แต่อีกด้านหนึ่งนั้น ก็มักจะทำให้สานุศิษย์ของแต่ละสำนักที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ เกิดมีทิฐิและภาคภูมิว่า คำบริกรรมที่ตนกำลังใช้อยู่นี้ถูกต้อง ส่วนคำบริกรรมอย่างอื่นหรือของสำนักอื่นไม่ถูก ดังนั้น จึงมักจะโต้แย้งขัดคอกันบ่อยๆ เพราะไม่เข้าใจจุดประสงค์ว่าใช้คำบริกรรมเพื่ออะไร

เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้ปฏิบัติส่วนมากใช้คำบริกรรมไม่กลมกลืนกับสภาวะของจิต กล่าวคือ บางขณะก็เน้นจิตให้อยู่กับคำบริกรรม บางขณะก็เน้นจิตให้อยู่กับฐานที่ตั้งสติ เพราะฉะนั้น จึงกลายเป็นสองอารมณ์ขึ้นมา

เมื่อเป็นสองอารมณ์ เนื่องจากไม่มีอุบายอันแยบคาย ก็ย่อมทำให้เกิดความลังเลสงสัยว่า จะกำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์อันไหนแน่ ทำให้จิตซัดส่ายออกไปได้โดยง่ายในที่สุด

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องศึกษาวิธีใช้คำบริกรรมจากพระอาจารย์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน จึงจะลงมือปฏิบัติต่อไปได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วที่สุด

ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ใช้ สติ และสัมปชัญญะ เพ่งดู และรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะที่มีอารมณ์เข้ามากระทบ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจะไม่ใช้คำบริกรรมเลยตั้งแต่เริ่มต้น ก็ย่อมทำได้โดยไม่ผิดพลาด

สำหรับผู้ที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ที่ไม่ประสงค์จะใช้คำบริกรรม ก็อาจไม่ใช้เสียเลยก็ได้ เพราะจะช่วยย่นระยะการปฏิบัติให้สั้นเข้า แต่ถ้าประสงค์จะใช้ตามคำแนะนำของอาจารย์ในแต่ละสำนัก ก็ควรจะได้ศึกษาให้เข้าใจและรู้จักวิธีใช้ให้กลมกลืนกับสภาวะจิตใจ จึงจะช่วยให้จิตเป็นสมาธิได้รวดเร็ว

และสำหรับผู้ที่ใช้คำบริกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดมาจนเคยชินแล้ว ก็ควรจะได้ใช้คำบริกรรมอย่างนั้นต่อไป ไม่ควรใช้บ้าง หรือไม่ใช้บ้าง หรือคิดเปลี่ยนไปใช้คำบริกรรมอย่างอื่น เพราะจะทำให้ไม่ได้รับความคล่องแคล่วในการเข้าสมาธิเพิ่มขึ้นจากเดิม จนทำให้ต้องเริ่มต้นคลำหาทางเข้าสมาธิกันใหม่ ทุกครั้งที่ลงมือปฏิบัติตลอดไป

ทั้งนี้หมายความว่า ผู้ใดเคยปฏิบัติมาอย่างใดหรือเคยใช้คำบริกรรมแบบไหนมาก่อนจนเคยชินแล้ว ก็ให้ดำเนินปฏิบัติแบบนั้นต่อไป โดยไม่เปลี่ยนแปลงตลอดชีวิต เมื่อจิตเริ่มสงบแล้วก็ให้หยุดใช้คำบริกรรมเสียทันที

🌻 คำบริกรรมอุปมาเหมือนดังป้ายบอกทางเดินของจิต

ตามธรรมดาแล้ว จิตใจของสามัญชนย่อมวนเวียนท่องเที่ยวไปสู่อารมณ์ที่น่ารักใคร่ ตามความสะดวกสบายของตนเป็นนิตย์

ส่วนการปฏิบัติสมาธินั้น เป็นการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากอารมณ์อันน่ารักใคร่ ซึ่งฝืนกับกระแสจิตของสามัญชนที่มีอยู่แต่ก่อน จึงทำให้เกิดความสงบสุขแก่ตนเองในที่สุด

อุปมาดังการยกระดับตนเองขึ้นที่สูงให้พ้นทุกข์ จากการวนเวียนท่องเที่ยวไปหาชมสิ่งต่างๆ ในพื้นที่ราบหรือที่ต่ำตามความพอใจ ฉะนั้น

ในขณะที่ท่องเที่ยวอย่างเพลิดเพลินอยู่นั้น จิตย่อมได้รับความวุ่นวายซัดส่ายไปมาจนหาความสงบไม่ได้เลย แต่ถ้าสามารถยกตนให้สูงขึ้น และห่างออกจากความวุ่นวายซัดส่ายไปมาเสียได้ ก็จะเริ่มพบกับความสงบมากขึ้นตามลำดับ

เหมือนดังยกตัวให้สูงจากพื้นที่ราบหรือที่ต่ำ ด้วยการไต่เขาสูงขึ้นไปตามลำดับ ถ้ายิ่งไต่เขาสูงขึ้นไปเพียงใด ก็ยิ่งยกตัวห่างออกจากทุกข์ในพื้นที่ราบมากขึ้นเพียงนั้น ข้อนี้ฉันใด

คำบริกรรมนั้น อุปมาดังป้ายบอกทางเดินในขณะที่ยังอยู่ในระดับพื้นราบ เพื่อให้สามารถมุ่งตรงไปยังเชิงเขาได้ โดยตรงเท่านั้น พอเริ่มไต่เขาสูงขึ้นไปเมื่อใด ก็จะต้องทิ้งป้ายบอกทางไว้ข้างหลัง และมุ่งหน้าไต่เขาให้สูงขึ้นไปตามลำดับเมื่อนั้นทันที

ถ้ายังยึดเกาะป้ายบอกทางนั้นไว้ คือ ไม่ปล่อยวางอย่างสิ้นเชิง ก็จะทำให้เกิดกังวลและไต่เขาให้สูงขึ้นไม่ได้เป็นธรรมดา ข้อนี้ก็ฉันนั้น

ทั้งนี้หมายความว่า คำบริกรรมนั้นเป็นอุบายที่จะรวมจิตให้สงบเท่านั้น เมื่อจิตเริ่มสงบแล้ว คำบริกรรมก็ย่อมหมดหน้าที่ทันที ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องทิ้งคำบริกรรมเสีย จิตจึงจะสงบมากขึ้นต่อไป ถ้าไม่ทิ้งคำบริกรรมในขณะที่จิตรวมดีแล้ว ก็อาจทำให้จิตซัดส่ายแลบออกไปอีกได้ (จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ใช้คำบริกรรม) เมื่อทิ้งคำบริกรรมเสีย จิตก็จะเข้าสู่ความสงบทันที

ผลเสียอาจเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้คำบริกรรมก็ได้ คือ จิตไปจับอยู่ที่คำบริกรรมเพียงอย่างเดียว จึงทำให้ลืมฐานที่ตั้งสติที่กำหนดไว้เดิมเสียก็มี หรือเวลาจิตเริ่มรวมตัวเป็นสมาธิแล้ว ไม่หยุดใช้คำบริกรรมเสียก็มี เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความลังเลสงสัยขึ้น และกั้นไม่ให้จิตเป็นสมาธิได้ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ ในตอนที่ยังไม่ชำนาญในการปฏิบัติอยู่ จึงจะเพิ่มวสีให้แก่ตนเองมากขึ้นตามลำดับ