อวิชชา (รู้ผิดจากความเป็นจริง)

🌷 อวิชชา (รู้ผิดจากความเป็นจริง)

คำว่า อวิชชานี้ มีความหมายตรงข้ามกับคำว่า วิชชา

คำว่า วิชชา สามารถแผลงอักษรออกไปเป็น พุทโธ ได้ดังนี้ คือ วิชฺชา –> วิชฺโช –> วุชฺโช –> พุชฺโช –> พุทฺโธ แปลว่า ผู้รู้ถูก, ผู้ตื่น, ผู้เบิกบาน คือ จิตรู้จักอารมณ์อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง นั่นเอง

ดังนั้น อวิชชา จึงต้องแปลว่า รู้ผิดจากความเป็นจริง คือ จิตไม่รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง จึงเกิดความยินดีและยึดถืออารมณ์นั้นๆ ไว้เป็นของตน พระพุทธองค์ทรงเรียก จิตที่ยังติดข้องยึดถืออารมณ์อยู่ ว่าเป็นสัตว์

เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนานี้ คำว่า “อวิชชา” จึงเป็นต้นเหตุอันสำคัญที่มีประจำอยู่กับสัตว์ทั้งปวง ซึ่งจัดว่าเป็นมลทินอย่างยิ่ง และทำให้สัตว์ต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรตลอดไป โดยไม่มีทางหลุดพ้นออกไปได้

บรรดากิเลสบาปกรรมสกปรกลามกใหญ่น้อยทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นที่จิตใจของสัตว์นั้น เกิดขึ้นเนื่องมาจาก อวิชชา ทั้งนั้น มีพระบาลีในพระธรรมบทกล่าวรับรองไว้ดังนี้ คือ “ตโต มลามลตรํ อวิชฺชา ปรมํ มลํ, เอตํ มลํ ปหนฺตวาน นิมฺมลา โหถ ภิกฺขโว” แปลว่า “บรรดามลทินใหญ่น้อยทั้งหลายย่อมมาจากอวิชชา ซึ่งเป็นมลทินอย่างยิ่ง ภิกษุทั้งหลายจงละมลทินนี้เสีย และเป็นผู้ไม่มีมลทินเถิด”

ในปัจจุบันนี้ นักธรรมะส่วนมากแปลคำ “อวิชชา” อย่างสั้นๆ ว่า “ความไม่รู้” เท่านั้น ทำให้ผู้สนใจศึกษาธรรมะ ตั้งคำถามเพื่อหาความรอบรู้ต่อไปอีกว่า

๑. ใครที่ไม่รู้ ?
๒. ไม่รู้เรื่องอะไร ?
๓. อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดอวิชชา ?
๔. เบื้องต้นและเบื้องปลายของอวิชชาอยู่ที่ไหน ?

รวมทั้งสิ้น ๔ ข้อ คำถามดังกล่าว,เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่ดี และอยู่ในขอบเขตของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ถ้าใครไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจถี่ถ้วนไว้ก่อน และเผอิญถูกอนุชนสอบถามปัญหาดังกล่าวนี้ขึ้น, เฉพาะหน้าแล้ว ก็จะต้องเบือนหน้าหนีไม่อยากตอบโต้ด้วย

ดังนั้น จึงเป็นที่น่าเสียดาย ที่ไม่ได้ช่วยจรรโลงหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ให้อนุชนได้รู้และเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ในเมื่อมีโอกาส

การตอบปัญหาเหล่านี้โดยไม่ให้ผิดพลาด จนเข้าใจอย่างชัดเจนนั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์สำหรับอ้างอิงหรือมีพุทธพจน์รับรอง ไม่เอาความคิดเห็นของตนเข้าไปตอบ จึงจะเป็นที่ยอมรับและเป็นที่เชื่อถือของผู้ฟังอย่างแท้จริง

ในมหาสติปัฏฐานสูตร มีคำจำกัดความของคำว่า อวิชชา ไว้ ๔ ประการ ดังนี้ คือ
๑. ทุกฺเข อญฺญาณํ (ไม่รู้จักทุกข์)
๒. ทุกฺขสมุทเย อญฺญาณํ (ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์)
๓. ทุกฺขนิโรเธ อญฺญาณํ (ไม่รู้จักการดับทุกข์)
๔. ทุกฺขนิโรธคามินียาปฏิปทาย อญฺญาณํ (ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์)

รวมทั้งสิ้น ๔ ประการ ซึ่งเป็นเรื่องของจิตที่โง่เขลาเบาปัญญาทั้งสิ้น การไม่รู้อย่างอื่นนอกจาก ๔ ประการนี้แล้ว ไม่ใช่อวิชชาในพระพุทธศาสนา

ดังนั้น เมื่อสรุปความแล้ว ก็ย่อมตอบคำถามของอนุชนที่ได้ตั้งไว้ ๒ ข้อแรกว่า
๑. จิต เป็นผู้ไม่รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง
๒. เพราะขาดการศึกษาให้รู้จัก อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ

เพราะฉะนั้น การแปลคำ “อวิชชา” ว่า “ความไม่รู้” ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงไม่ถูกต้อง เพราะสภาพธรรมของจิต คือ “ความรู้” ดังนั้นจึงต้องแปลว่า “รู้ผิดจากความเป็นจริง” คือ ไม่รู้จักอารมณ์ทั้งหลายตามที่เป็นจริง” ก็ได้

สำหรับการตอบปัญหาข้อ ๓ และข้อ ๔ ที่ว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดอวิชชา? และเบื้องต้น – เบื้องปลายของอวิชชาอยู่ที่ไหน?

มีพุทธพจน์ที่มาในพระสูตรที่ ๖๑ แห่งสังยุตตนิกาย พระสุตตันตปิฎก กล่าวไว้ว่า “ปุริมา ภิกฺขเว โกฏิ น ปญฺญายติ อวิชฺชาย, อวิชฺชา ปุพฺเพ นาโหสิ อถ ปจฺฉา สมฺภวิ” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เบื้องต้นและที่สุดของอวิชชานั้น ผู้มีปัญญาตามรู้ไม่ได้ อวิชชานี้ไม่ได้เกิดมีมาก่อน เพราะฉะนั้นจึงเกิดมีขึ้นในภายหลัง”

พระพุทธพจน์ข้อนี้ ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนในตัวเองแล้วว่า อวิชชาไม่ได้เกิดมีขึ้นก่อนมีจิต แต่ได้เกิดขึ้นที่จิตในภายหลัง เพราะขาดการศึกษาให้รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง เมื่อไม่ศึกษาให้ถูกต้องแล้วก็เกิดทิฐิ เห็นว่าอารมณ์เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร ซึ่งจัดว่าเป็น มิจฉาทิฐิ ฝ่ายสัสสตทิฐิ

ส่วนอวิชชาจะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ครั้งใด – สิ้นสุดเอาเมื่อใดนั้น ท่านผู้มีปัญญาย่อมตามรู้ไม่ได้ หมายความว่า จิตที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรแล้ว ย่อมมีอวิชชากำกับอยู่ตลอดไป จนกว่าจะได้ตรัสรู้

🌷 เมื่ออวิชชาดับ วิชชาย่อมเกิดแทนที่ที่จิตทันที

จิตของสามัญชน เมื่อได้รับการฝึกอบรมให้มีสติตั้งอยู่ที่ฐานอย่างต่อเนื่อง ระมัดระวังควบคุมสติ ไม่ให้แลบหนีออกไปหาอารมณ์เลย และหมั่นทำให้มากๆ จนจำทางเดินของจิตได้อย่างแม่นยำ จนมีสติต่อเนื่องไม่ขาดสายเป็นมหาสติ อวิชชาย่อมดับ และวิชชาย่อมเกิดขึ้นแทนที่ที่จิตทันที จิตย่อมบรรลุมรรคผลขั้นสูงสุด เป็น พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน โดยไม่กลับไปรู้ผิดอีกเลย

🌷 พุทโธ ผู้รู้ถูก ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มี ๓ จำพวกคือ

๑. อนุพุทโธ ผู้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ โดยมีครูสอน (เป็นพระสาวก)

๒. ปัจเจกพุทโธ ผู้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ได้เอง แต่ไม่มีโอกาสสั่งสอน – ประกาศพระศาสนา เพราะสังคมกำลังมีกิเลสหนาหน้ามืดตามัว จนไม่รับฟังธรรมใดๆ

๓. สัมมาสัมพุทโธ ผู้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ได้เอง แต่ประกาศสอนสังคมต่อไปได้ตามโอกาสที่มี

ขึ้นชื่อว่า พุทโธ แล้ว ไม่ประกาศศาสนาย่อมไม่มี จิตของท่านเหล่านี้ รู้เป็นวิชชา ไม่สร้างภพสร้างชาติอีก

🌷 อวิชชา และ โมหะ

อวิชชา และ โมหะ การรู้ผิดจากความเป็นจริง และ หลงดำเนินการอย่างผิดๆ คำทั้งสองนี้ เป็นชื่อกิเลสมลทินเครื่องเศร้าหมองของจิตใจสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งนักธรรมะมักเอามาใช้ให้มีความหมายเหมือนกันอยู่ในปัจจุบัน แต่โดยความถูกต้องแล้ว คำทั้งสองนี้ใช้ต่างขั้นตอนกัน

อวิชชา หมายถึง ความโง่เขลาที่อยู่ที่จิตมาก่อนแล้ว เป็นต้นเหตุผลักดันให้เกิด โมหะ คือ หลงดำเนินการไปอย่างผิดๆ ในเมื่อมีอารมณ์มากระทบเฉพาะหน้า ครั้นอารมณ์ดังกล่าวคล้อยตัวผ่านไปแล้ว โมหะก็ย่อมดับลงชั่วคราว แต่อวิชชาก็ยังคงมีอยู่ตามเดิม หาได้ดับตามไปด้วยไม่

อวิชชา จึงเป็น กิเลสวัฏฏ์
โมหะ อยู่ใน กรรมวัฏฏ์
ซึ่งหมายความว่า อวิชชา เป็นเหตุให้เกิด โมหะ ดังนั้น จึงใช้แทนกันอย่างไม่ถูกต้องในปัจจุบันนี้

โปรดดูพระบาลีที่มีมาใน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งแสดงไว้ชัดเจนที่สุดว่า ไม่ว่าโมหะเกิดขึ้น หรือดับไปจากจิตในขณะที่สัมพันธ์อยู่กับอารมณ์ก็ตาม อวิชชาก็ยังคงมีอยู่ที่จิต ไม่ได้ดับตามโมหะไปด้วย ดังนี้คือ

“สโมหํ วา จิตฺตํ สโมหํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ วีตโมหํ วา จิตฺตํ วีตโมหํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ” แปลว่า “เมื่อมีโมหะเกิดขึ้นที่จิต ก็รู้ชัดว่ามีโมหะเกิดขึ้นที่จิต เมื่อโมหะหายไปจากจิต ก็รู้ชัดว่าโมหะหายไปจากจิต ดังนี้”

สรุปความแล้ว ก็คือ อวิชชา เป็นเหตุผลักดันให้เกิด โมหะ (หลง) แสดงการกระทำอย่างผิดๆ ออกมาตามอำนาจกิเลสที่ปรุงแต่งจิตในขณะนั้น, นอกพุทธบัญญัติ เช่น เศกผ้ายันต์, ดูหมอ, สะเดาะเคราะห์, ต่อชะตา, ใบ้หวย เป็นต้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงขั้นล่วงละเมิดศีลของตนก็ตาม แต่ก็ละเมิดขนบธรรมเนียมที่ดีด้วยอำนาจของโมหะไปแล้ว