พระนิพพาน

🌷 พระนิพพานอยู่ที่ไหน?

ถ้าสังเกตดูพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเรื่องพระนิพพาน และทางไปสู่พระนิพพานทุกบททุกตอน ทุกเรื่องให้ดีแล้ว จะเห็นว่าพระองค์ได้ทรงชี้ให้ทุกคนค้นหาพระนิพพานในอัตภาพอันประชุม พร้อมด้วยรูปนามนี้เอง มิได้ทรงชี้ให้เที่ยวหาออกไปภายนอกแต่ประการใด

ดังตัวอย่างคำพังเพยของผู้รู้ ที่กล่าวตามๆ กันมาว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ นิพพานนั้นก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล เพียงหายใจก็ได้ยิน เรายอมรับกันว่าถูกต้องเสียด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พระนิพพานอันเป็นสภาพธรรมที่มีแก่นสาร ก็ย่อมอยู่ในอัตภาพร่างกายและจิตใจของเรานี้เอง ไม่ใช่ว่าจะมีแต่สิ่งที่ไม่มีประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว ดังที่เล่าเรียนกันอยู่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น

อุปมาดังก้อนเพชร ที่หมกตัวรวมอยู่กับแท่งหินใหญ่ในภูเขา ฉะนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงต้องค้นหาเพชรจากแท่งหินในภูเขา ไม่ใช่ไปค้นที่อื่น ข้อนี้ฉันใด

พระนิพพาน ก็มีรวมอยู่ในอัตภาพร่างกายและจิตใจเหมือนกัน ดังนั้น จึงต้องค้นหาพระนิพพานภายในอัตภาพร่างกายและจิตใจของเรานี้ จะไปค้นหาพระนิพพานจากที่อื่นไม่ได้ ข้อนี้ก็ฉันนั้น

เนื่องจากพระพุทธศาสนาได้ล่วงมานานมาก และได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาหลายทางหลายทอด ดังนั้น เมื่อพูดถึงพระนิพพานขึ้นมา ก็ย่อมมีรายละเอียดผิดเพี้ยนกันไปมากบ้างน้อยบ้าง เป็นธรรมดา

บางที่ก็อธิบายว่า พระนิพพานเป็นเมืองแก้วเมืองสวรรค์ ทำให้ผู้ฟังนึกเลยออกไปถึงแสงสีอันวูบวาบของเพชรนิลจินดา

บางที่ก็สอนว่าในพระนิพพานนั้นไม่มีอะไร ปลอดจากสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นสภาพว่างๆ แต่ไม่ชี้ชัดลงไปว่าอยู่ที่ไหน

บางที่ก็สอนเปรียบพระนิพพานกับความร้อนเย็นว่า ข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ ยังร้อนอยู่ ไม่ใช่พระนิพพาน ต้องปล่อยข้าวให้เย็นเสียก่อน จึงจะนิพพาน

บางที่ก็สอนว่าในอัตภาพอันประชุมพร้อมด้วยรูปและนามนี้ ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสักชิ้น คือหาประโยชน์อะไรไม่ได้เลย ซ้ำยังกล่าวโทษผู้ที่พูดว่ามีอะไรเป็นแก่นสารรวมอยู่ในอัตภาพนี้ว่า เห็นผิดอย่างร้ายแรงทีเดียว

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็หมายความว่า จะต้องออกไปค้นหาพระนิพพานที่อื่น ภายนอกอัตภาพร่างกายและจิตใจ อาจจะต้องออกไปค้นหาตามห้วยหนองคลองบึง ท้องทะเล เมฆหมอก หรือตามป่าเขาลำเนาไพร แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ แต่ยังไม่มีใครชี้ที่อื่นภายนอก ให้ค้นหาพระนิพพานอย่างแน่นอนได้สักแห่งหนึ่ง ทำให้ผู้ฟังเกิดความสับสนจับจุดสำคัญในความหมายของคำว่าพระนิพพานไม่ได้เลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวพุทธจึงเพียงแต่ขอให้ถึงด้วยการอธิษฐานอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อให้ถึงจริงๆ เลย

🌻 พระนิพพานในทัศนะของพระพุทธโฆษาจารย์

พระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งถือกันว่าเป็นพระอรรถกถาจารย์ในพระพุทธศาสนา ได้ให้ทัศนะเรื่องพระนิพพานไว้ ดังนี้ คือ พระนิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริง ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย ไม่ใช่มโนภาพที่จิตเนรมิตขึ้นเอง แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริง

อันหนวดเต่าเขากระต่าย เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาในครั้งไหนๆ แต่กาลก่อน อย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่อย่างแท้จริง แต่พระนิพพานนั้น ไม่ใช่หนวดเต่าเขากระต่าย เพราะว่า พระนิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริง

บรรดาสังขารทั้งหลาย มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป แต่พระนิพพานนั้น ไม่ปรากฏในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป แต่ปรากฏความเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดอนันตรกาล

🌻 พระนิพพานในทัศนะของพระอภิธรรม

ในพระอภิธรรมนั้น ถือว่า จิตคือวิญญาณขันธ์ หมายความว่า เมื่อพูดถึงจิตขึ้นมาแล้วจะต้องมีอารมณ์เข้ามาปรุงแต่งเป็นสังขารธรรมอยู่เสมอ จะแยกออกจากอารมณ์ไม่ได้

ดังนั้น จึงเข้าใจว่าจิตหรือวิญญาณขันธ์จะต้องดับลงเสียก่อน จึงจะบรรลุถึงพระนิพพานได้ พระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลาย เป็นแต่เพียงหมดกิเลสเท่านั้น ต้องรอให้จิตดับตายหายสูญไปเสียก่อน จึงจะบรรลุถึงพระนิพพาน หมายความว่า พระอรหันต์จะบรรลุถึงพระนิพพาน เมื่อตายแล้ว

เพราะไม่ยอมรับหลักธรรมว่า สามารถปฏิบัติธรรมเพื่อแยกเอาอารมณ์ออกจากจิตได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าได้ปฏิบัติสัมมาสมาธิจนย่างเข้าสู่สภาพที่สิ้นสุดจากอารมณ์ ที่เรียกว่าโคตรภูญาณ ก็ยังถือว่าต้องยึดพระนิพพานเข้ามาเป็นอารมณ์ของจิตอีกต่อไป

ในคัมภีร์พระอภิธรรมถือว่าจิตไม่ใช่นิพพาน นิพพานไม่ใช่จิต ดังนั้นในพระนิพพานจึงไม่มีจิต ใครมีจิตอยู่จึงบรรลุถึงพระนิพพานยังไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ฟังจึงจับจุดสำคัญเรื่องนี้ว่า เมื่อบรรลุถึงพระนิพพานแล้ว ก็ย่อมเข้าถึงสภาพดับตายหายสูญอย่างสิ้นเชิง ซึ่งในพระสูตรไม่ได้กล่าวไว้เช่นนี้

🌻 พระนิพพานในทัศนะของพระสูตร

ตามหลักฐานที่ปรากฏในพระสูตรสำคัญๆ ทั้งหลายนั้น เช่น อนัตตลักขณสูตร เป็นต้น ถือว่าจิตหลุดพ้นจากการถูกอารมณ์ปรุงแต่งอย่างสิ้นเชิง เป็นแก่นสารของพระศาสนา เป็นนิพพาน

หมายความว่า ผู้ที่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา จนกระทั่งจิตหลุดพ้นจากการถูกอารมณ์ปรุงแต่งแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่บรรลุถึงพระนิพพาน และรู้ว่าตนเองจิตบริสุทธิ์ถึงขีดสุด ไม่มีกิเลสอันใดตกค้างอยู่อีกต่อไป ตนได้บรรลุถึงพระนิพพานแล้วด้วย

พระพุทธอุทาน ที่ได้ทรงเปล่งออกภายใต้ต้นโพธิ์เมื่อตอนตรัสรู้ใหม่ๆ ว่า “วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา แปลว่า จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว”

ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า พระนิพพาน ก็คือ จิตที่สิ้นการปรุงแต่ง หรือจิตที่บริสุทธิ์นั่นเอง ผู้ที่ปฏิบัติถึงสภาวะเช่นนี้แล้ว ย่อมรู้อยู่ว่าตนได้บรรลุพระนิพพานแล้วด้วยกันทุกคน ทั้งนี้แสดงว่าในพระนิพพานนั้น มีจิตที่สะอาดอยู่ด้วย เพราะสิ่งปรุงแต่งที่ทำให้จิตสกปรกได้ดับไปหมดสิ้นแล้ว ดังนั้น พระนิพพาน คือความสะอาดของจิต จึงอยู่คู่กับจิตเป็นธรรมดา

เราสามารถกล่าวยืนยันอย่างแข็งแรงได้ว่าไม่มีผู้ใดสามารถแยกสีเหลืองสุกปลั่ง ซึ่งแสดงความบริสุทธิ์ของทองคำออกไปเป็นคนละส่วนจากเนื้อทองคำได้ ฉันใด พระนิพพานซึ่งประกาศความบริสุทธิ์ของจิต ก็มิอาจทำให้อยู่แยกเป็นคนละส่วนจากจิตได้ ฉันนั้น

ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องสงเคราะห์คำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ที่ว่า “เมื่อได้บรรลุถึงพระนิพพานแล้ว จิตนั้นก็ดับไปหมดสิ้น” ดังนี้คือ สิ่งที่ปรุงแต่งจิต ที่เรียกว่าจิตสังขาร เท่านั้นที่ดับไปอย่างหมดสิ้น คงเหลือสภาพจิตที่บริสุทธิ์ อยู่ในพระนิพพานนั้นตลอดไป

มิฉะนั้น ก็ย่อมทำให้เกิดความสงสัยคลุมเครือจนเสียเหตุผลได้ว่า ความบริสุทธิ์ที่เหลือไว้ให้เรียกว่าพระนิพพานนั้น ตั้งอยู่กับอะไร? กล่าวคือ ความบริสุทธิ์มีอยู่อย่างลอยๆ หาที่ตั้งไม่ได้

ความจริงมีอยู่ว่า ถ้าน้ำบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ก็ตั้งอยู่กับน้ำจำนวนนั้น ถ้าจิตบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ก็ย่อมต้องตั้งอยู่กับจิตนั้น ถ้าสงเคราะห์ให้ทั้งจิต (ผู้รู้) และอารมณ์ที่ปรุงแต่งดับหมดแบบเถรตรงแล้ว ย่อมเสียเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ เป็นอย่างยิ่ง

ถึงแม้ในเรื่องการปฏิบัติธรรม ก็ผิดไปจากสภาวะที่เป็นจริง กล่าวคือ ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้ตัวตลอดเวลาว่าได้บรรลุถึงพระนิพพานแล้ว (คือ มี จิตรู้ อยู่ด้วยเสมอ) จิตไม่ได้ดับ แต่รู้ว่าสิ่งที่ปรุงแต่งจิตได้ดับหายไปแล้ว

เรื่องนี้สามารถยกอุปมาอุปมัยขึ้นเปรียบเทียบให้เห็นได้อย่างชัดเจน ดังนี้คือ สมมุติว่าเอาน้ำจำนวนหนึ่งเทลงในอ่างน้ำ แล้วคอยสังเกตดูอย่างละเอียดที่สุด เราจะเห็นว่านับตั้งแต่เริ่มเทน้ำลงในอ่างเป็นต้นมา น้ำจะมีอาการกระเพื่อมหวั่นไหวไปมาในอ่างอย่างแรง จนกระทั่งเทเสร็จเรียบร้อยแล้ว

หลังจากนั้นต่อมา ความกระเพื่อมหวั่นไหวจะลดลงสู่ระดับราบเรียบในที่สุด ถ้าเรากวนน้ำนั้นอีกครั้งหนึ่ง น้ำก็ย่อมกระเพื่อมหวั่นไหวตามไปอีก ถ้าหยุดกวนน้ำนั้น ความกระเพื่อมหวั่นไหว ก็จะลดลงสู่ระดับราบเรียบเหมือนครั้งแรกอีก

เราจะสังเกตเห็นได้ว่า เมื่อเรากวนน้ำ น้ำก็จะกระเพื่อมหวั่นไหว เมื่อเราหยุดกวน น้ำก็จะหยุดกระเพื่อมและลดตัวลงสู่ระดับราบเรียบทุกครั้ง ไม่ว่าจะทำเช่นเดียวกันนี้กี่ครั้งก็ตาม

ทั้งนี้แสดงว่า ความกระเพื่อมหวั่นไหวเป็นสภาพใหม่ที่น้ำถูกปรุงแต่ง ซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง ส่วนสภาพราบเรียบลงเป็นเส้นระดับ เป็นสภาพเดิมของน้ำ ที่มีอยู่ โดยไม่ต้องมีเหตุปัจจัยมาปรุงแต่งให้มีให้เป็นแต่ประการใด

หมายความว่า เมื่อสิ้นการปรุงแต่งเมื่อใด น้ำจะต้องคืนตัวลดระดับลงมาราบเรียบเองเสมอทุกครั้ง ข้อนี้ฉันใด

จิตที่ฟุ้งซ่านหวั่นไหวไปเพราะถูกอารมณ์เข้ามาปรุงแต่งนั้น เพราะความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆ ถ้าปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆ เสียแล้ว อารมณ์ก็ย่อมไม่สามารถปรุงแต่งจิตให้เสียคุณภาพเดิมอันผ่องใสไปได้ จิตก็กลับคืนเข้าสู่สภาพบริสุทธิ์สะอาดเหมือนเช่นเดิม หมายความว่า จิตไม่ได้หายไปไหน สิ่งที่ดับหายไป คือสิ่งที่เข้ามาปรุงแต่งให้จิตเสียคุณภาพ เช่นเดียวกับความกระเพื่อมหวั่นไหวหายไปจากน้ำ ดังที่อุปมาอุปมัยไว้นี้ทุกประการ