คัมภีร์พระอภิธรรม

🌷 หลักการของคัมภีร์พระอภิธรรม

คำว่า “อภิธรรม” นั้น กล่าวโดยความหมายแล้ว ในครั้งพุทธกาลย่อมหมายถึง ธรรมอันยิ่งของผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์ ได้บรรลุเข้าสู่สภาพเดิมของจิตแล้ว คือเป็นจิตของพระอรหันต์ขีณาสพ ได้แก่คำว่า “อภิธมฺเม” และ อภิวินเย” เป็นต้น

ทั้งนี้หมายความว่า อภิธรรมเป็นเรื่องของการประพฤติตนของพระอรหันต์ขีณาสพผู้มีจิตบริสุทธิ์แล้ว ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า พระอรหันต์ประพฤติตนอย่างใดแล้วย่อมถูกต้อง ปราศจากโทษและพิษภัยใดๆ ทั้งสิ้น แต่เกิดประโยชน์แก่สังคมฝ่ายเดียวเท่านั้น

ในด้านที่เกี่ยวกับวินัย หรือข้อห้ามต่างๆ นั้น ผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์แล้ว ย่อมมีพลังจิตอันแรงกล้า ถึงกับใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อไม่ให้ล่วงละเมิดข้อห้าม หรือทำสิ่งที่ไม่สมควรต่างๆ ด้วย, โดยเด็ดขาด

เช่น พระติสสะเถระ ยอมทนรับการทรมานจากนายช่างเจียระไนเพชร จนตัวตาย โดยไม่ยอมบอกว่า นกกะเรียนได้กลืนเพชรเข้าไปในท้องแล้ว เพราะกลัวนกกะเรียนจะถูกฆ่าตาย เป็นต้น การรักษาวินัยอย่างเคร่งครัดเช่นนี้ จัดเป็น อภิวินัย

ส่วนในด้านธรรมนั้น ในครั้งพุทธกาล หมายถึง ความประพฤติตนของพระอรหันต์อย่างใดๆ ไม่ว่าจะพูดหรือทำสิ่งใดก็ตาม ล้วนแต่เป็นสัจธรรม ถูกต้อง เป็นจริงตามนั้นทุกประการ จึงเป็นผู้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์

เช่น พ่อค้าขนดีปลีใส่เกวียนไปขาย แล้วขายไม่ได้ เพราะได้ใช้โทสะโต้ตอบพระอรหันต์ผู้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ จนต้องกลับมากล่าวขอลุแก่โทษใหม่ แล้วจึงกลับไปขายดีปลีนั้นได้หมด เป็นต้น ความประพฤติของพระอรหันต์ปรากฏจริง เป็นจริงขึ้น เช่นนี้เรียกว่า อภิธรรม

ครั้นกาลเวลาล่วงไปๆ ความเข้าใจเรื่องอภิธรรม อภิวินัยของพระอรหันต์ ได้คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไป เป็นเรื่องข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อจะให้เป็นพระอรหันต์ไป ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของผู้ที่มีจิตยังไม่บริสุทธิ์ คือยังเป็นจิตสังขารอยู่ แต่ต้องการปฏิบัติเพื่อทำให้จิตบริสุทธิ์ เป็นวิสังขาร (สิ้นการปรุงแต่ง) เท่านั้น

เพราะฉะนั้น เนื้อหาสาระของคัมภีร์พระอภิธรรม จึงว่าด้วยเรื่อง สังขารธรรม หรือโลกียจิต ซึ่งเป็นสภาพใหม่ที่เกิดจากเหตุปัจจัยฝ่ายเดียวเท่านั้น

ครั้นได้ถ่ายทอดสืบต่อๆ กันมา ตามเวลาที่ผ่านมานานเข้า ก็เกิดเข้าใจคลาดเคลื่อนขึ้นว่า สภาพเดิมของจิตอันประภัสสรผ่องใสนั้น,ไม่มี มีแต่จิตที่เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง สกปรก เศร้าหมอง ๑๒๑ ดวง ซึ่งเป็นสภาพใหม่ทั้งสิ้น

คล้ายๆ กับจะยืนยันว่า ถ้าเป็นน้ำแล้วก็ต้องเป็นน้ำที่สกปรก เพราะถูกแร่ธาตุหรือเกลือผสมอยู่ทั้งสิ้น น้ำสะอาดที่เป็นสภาพเดิม,ไม่มี ฉะนั้น

🌷 คัมภีร์พระอภิธรรม

คัมภีร์พระอภิธรรมนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานประมาณ ๓๐๐ ปี โดยมีพระอรรถกถาจารย์หลายรูป นำเอาพุทธพจน์มาขยายความให้ละเอียดชัดเจน สำหรับเอาไว้บรรยายถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้สนใจชั้นหลัง ได้ศึกษาธรรมะล้วนๆ เป็นขั้นๆ ตามลำดับ ดังนั้นจึงไม่ว่าด้วยเรื่องสัตว์บุคคลเลย

พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระอรรถกถารูปหนึ่ง ที่เรียบเรียงคัมภีร์วิสุทธิมรรคไว้ ซึ่งได้รับการบรรจุให้เรียนอยู่ในชั้นเปรียญ ๘ ในปัจจุบันนี้

เมื่อประมาณ พ.ศ.๙๕๐ พระอนุรุทธาจารย์ แห่งสำนักมูลโสมวิหาร ประเทศลังกา ก็ได้ถอดเอาใจความธรรมะจากคัมภีร์พระอภิธรรมทั้ง ๗ เล่ม เล่มละเล็กละน้อย มาเรียบเรียงเป็น คัมภีร์พระอภิธรรมมัตถสังคหะ มี ๙ ปริเฉท ด้วยกัน และมีคำย่อ ซึ่งถือกันว่าเป็นหัวใจของคัมภีร์ดังกล่าวนี้ว่า จิ, เจ, รุ, นิ (จิต, เจตสิก, รูป, นิพพาน) เป็นหลักสำหรับอธิบายขยายความต่อไป

เจตนาของพระอนุรุทธาจารย์ ก็เพื่อรวบรวมสงเคราะห์หัวข้อธรรมะทั้งหลาย ให้เป็นหมวดหมู่ สำหรับกุลบุตร – กุลธิดา ในภายหลัง จะได้เรียนเข้าใจได้โดยง่าย ไม่สับสน นับว่าเป็นเจตนาที่ดี และเป็นกุศลอย่างยิ่ง

แต่เนื่องจากได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมา เป็นระยะเวลาอันยาวนาน จึงมีความผิดเพี้ยน เพิ่มเติม เสริมต่อกันบ้าง ในระหว่างนั้นเป็นธรรมดา ดังนั้น จึงย่อมเกิดเป็นปัญหาขัดแย้งกันขึ้น เมื่อนำมาสนทนากัน จนไม่อาจตกลงกันได้ก็มี

ปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ถ้าผู้สนทนาทุกฝ่ายเปิดใจของตนเองให้กว้าง เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริง โดยใช้เหตุผล และสอบเทียบกับพระสุตตันตปิฎกแล้ว เรื่องย่อมยุติลงอย่างสิ้นเชิง

🌷 จิตในคัมภีร์พระอภิธรรม

ในคัมภีร์พระอภิธรรมนั้น จิต คือ ธรรมชาติชนิดหนึ่งซึ่งรู้อารมณ์ จิตเป็นตัวรู้ และ สิ่งที่ถูกจิตรู้นั้นเป็นอารมณ์ หมายความว่า จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นคืออารมณ์ อีกนัยหนึ่งแสดงไว้ว่า จิตคือธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ รับ จำ คิด รู้ ซึ่งอารมณ์

ตามคัมภีร์นี้ถือว่า เมื่อมีจิตก็ต้องมีอารมณ์ อยู่คู่กันด้วยเสมอ จะมีจิตโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ เมื่ออารมณ์เกิดขึ้น จิตจึงจะเกิด และเมื่ออารมณ์ดับลง จิตก็ดับตามไปด้วยเสมอ ดังพระบาลีที่มาในพระอภิธรรมว่า

“จิตฺเตตีติ จิตฺตํ อารมฺณํ วิชานาตีติ อตฺโถ” แปลว่า “ธรรมชาติใดย่อมติด ธรรมชาตินั้นชื่อว่าจิต กล่าวโดยอรรถว่า ธรรมชาติที่รู้อารมณ์คือจิต”

จิตในพระอภิธรรมมีชื่อสำหรับเรียกขานเป็นไวพจน์แทนกันได้ ถึง ๑๐ ชื่อ ดังนี้คือ จิต, มโน, หทัย, มนัส, ปัณฑระ, มนายตนะ, มนินทรีย์, วิญญาณ, วิญญาณขันธ์, มโนวิญญาณธาตุ ความหมายของจิตแต่ละคำเหล่านี้ สามารถใช้แทนกัน และมีใช้กันอยู่ในภาษาธรรมะโดยทั่วไป

ดังนั้น จากเงื่อนไขของคำอธิบาย ในคัมภีร์พระอภิธรรมที่ยกมาทั้งหมดนี้ ที่ว่ามีจิตจะต้องมีอารมณ์ และจะต้องรับอารมณ์ด้วยเสมอนั้น ย่อมแสดงความหมายชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่า ชื่อจิตที่ใช้เรียกแทนกันทั้ง ๑๐ ชื่อเหล่านี้ เป็นจิตที่ถูกอารมณ์เข้าผสมปรุงแต่ง จนผิดไปจากสภาพเดิมแล้ว ไม่ใช่ธาตุแท้ จึงเป็น จิตสังขาร

เมื่อเป็นจิตสังขาร ก็ย่อมมีการเกิดขึ้นและดับสลายไปเป็นธรรมดา หมายความว่า ไม่สามารถรับรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้ อย่างถาวรตลอดกาลได้ เมื่อเรื่องหนึ่งดับไปจากการรับรู้แล้ว ก็ย่อมมีเรื่องอื่นทยอยกันเข้ามาสู่จิตต่อไปอีกตามลำดับ

เพราะฉะนั้น จิตสังขารในคัมภีร์พระอภิธรรม ที่เรียกกันในนามว่า “จิต” นี้ จึงเป็น วิบากจิต (ผลของการรับรู้อารมณ์แต่ละอย่าง) เท่านั้น ไม่ใช่ฐานรองรับบุญและกรรมใดๆ เกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมดับไปตามอารมณ์ เป็นธรรมดา ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจิตชนิดใดเกิดขึ้น หรือดับไปก็ตาม

จากตัวอย่างที่ยกมาแสดงนี้ จะเห็นได้ว่า จิตในพระอภิธรรม ซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นจิตสังขาร ส่วนจิตของผู้ปฏิบัตินั้น ดำรงสภาพ รู้ ของตนเองอยู่ตลอดทุกกาลสมัย ไม่ได้ดับตามจิตสังขารไปด้วยแต่ประการใดทั้งสิ้น

🌷 จิตในพระสูตรและพระอภิธรรม

๑.จิตในพระสูตร มีว่าไว้ดังนี้ คือ
“จิตฺเตน นิยติ โลโก จิตฺเตน ปริกสฺสติ จิตฺตสฺส เอกธมฺมสฺส สพฺเพ ว วสมนฺวคู” แปลว่า “โลกย่อมหมุนไปตามจิต ธรรมทั้งปวงย่อมขึ้นแก่ธรรมอันเดียว คือจิตเท่านั้น”

ทั้งนี้ย่อมพิจารณาเห็นได้ว่า จิตซึ่งเป็นประธานของธรรมทั้งปวงนั้น ย่อมดับตายหายสูญไปไหนไม่ได้ จึงต้องมีแก่นสารมั่นคงตลอดไป

๒.จิตในพระอภิธรรม มีว่าไว้ดังนี้ คือ
“อนิพฺพตฺเตน ชาโต ปจฺจุปนฺเนน ชีวิติ จิตฺตภงฺคา มโตโลโก ปญฺญตฺติ ปรมตฺถิยา” แปลว่า “เมื่อจิตไม่เกิด โลกก็ไม่เกิด โลกอยู่ได้เพราะจิตกำลังเกิดอยู่ เมื่อจิตดับ โลกก็ตาย นี้เป็นบัญญัติโดยปรมัตถ์”

ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า จิตในพระอภิธรรม ไม่มีแก่นสารอะไรเลย เกิดขึ้น แล้วก็ย่อมดับตายหายสูญไปตามกาลเวลาตลอดไป ดังนั้น จึงนับเอาเป็นประธานของธรรมทั้งปวงเหมือนดังจิตในพระสูตรไม่ได้เลย

🌷 ชนิดของจิตในพระอภิธรรม

อกุศลจิต คือ อกุศล + จิต หมายความว่า จิตมีอกุศลปรุงแต่งอยู่ ๑๒ ชนิด

อเหตุกจิต คือ อเหตุก + จิต หมายความว่า จิตไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ, อโลภะ อโทสะ อโมหะเป็นเหตุให้เกิด ๑๘ ชนิด

กามาวจรจิต คือ กามาวจร + จิต หมายความว่า จิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในอารมณ์อันน่ารักใคร่ ๒๔ ชนิด ได้แก่ บุคคลชั้นเทพ ๖ ชั้น

รูปาวจรจิต คือ รูปาวจร + จิต หมายความว่า จิตที่ท่องเที่ยวในรูปพรหม ๑๕ ชนิด

อรูปาวจรจิต คือ อรูปาวจร + จิต หมายความว่า จิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปพรหม ๑๒ ชนิด

โลกุตตรจิต หมายความถึง มรรคและผลที่เข้าไปประกอบจิตทำให้อยู่เหนือโลก (อารมณ์) รวม ๘ ชนิด และในแต่ละชนิดเหล่านี้ ต่างก็มีปัญจมฌาน (ฌาน ๕) ประกอบอยู่ด้วย ดังนั้น จึงเป็นจิตโดยละเอียด เท่ากับ ๘x๕ คือ ๔๐ ชนิด

เพราะฉะนั้น ในพระอภิธรรมจึงมีจิตโดยย่อ ๘๙ ชนิด โดยละเอียด ๑๒๑ ชนิด การที่เรียก จิตเป็นชนิด ในที่นี้นั้น เรียกตามชนิดของอารมณ์ที่เข้ามาปรุงแต่ง เพื่อให้เข้าใจง่าย แต่ในพระอภิธรรม เรียกระบุเป็น ๘๙ ดวง และ ๑๒๑ ดวง ทีเดียว

🌷 อุทาหรณ์เปรียบเทียบจิตในพระอภิธรรม

เพื่อให้เข้าใจเรื่องจิตในพระอภิธรรมดียิ่งขึ้น เนื่องจากมีปัญหาขัดแย้งระหว่างนักธรรมะ ๒ ฝ่าย ดังนี้คือ นักธรรมะฝ่ายพระสูตรว่า อารมณ์เกิด – ดับ แต่จิตไม่ได้เกิด – ดับ ส่วนนักธรรมะฝ่ายพระอภิธรรมก็ว่า ทั้งจิตและอารมณ์เกิด – ดับพร้อมกันหมด ดังนี้ จึงจำเป็นต้องหาเหตุผลมาแสดงให้เห็นชัด ดังต่อไปนี้ คือ

สมมุติว่า มีหลอดกระแสไฟฟ้าตรงต่ออยู่กับสายไฟฟ้า และเปิดสวิตช์อยู่หลอดหนึ่ง แสงที่หลอดไฟฟ้าส่องออกมา ย่อมใสสว่างจ้าตลอดเวลา อุปมาเหมือนดังจิต

ต่อจากนี้ไป ถ้าเราเอาโป๊ะกระจกสีต่างๆ มาครอบหลอดไฟฟ้าหลอดนี้ อุปมาเหมือนดัง อารมณ์ที่เข้ามาปรุงแต่งจิต แสงไฟฟ้าย่อมมีสีเหมือนกับสีของโป๊ะกระจกครอบหลอดไฟฟ้านั้นทุกประการ

ทั้งนี้หมายความว่า ถ้าเราใช้โป๊ะสีเขียวครอบ แสงไฟฟ้าก็ย่อมกลายเป็นสีเขียว ถ้าเราใช้โป๊ะสีแดงครอบ แสงไฟฟ้าก็ย่อมกลายเป็นสีแดง และถ้าเราใช้โป๊ะสีเหลืองครอบ แสงไฟฟ้าก็ย่อมกลายเป็นสีเหลืองตามไปด้วย แล้วแต่ว่าจะใช้โป๊ะสีใดมาครอบหลอดไฟฟ้าไว้ แสงไฟฟ้าก็ย่อมเปลี่ยนสีตามไปด้วยเสมอ

ตามอุทธาหรณ์ที่ยกขึ้นมาแสดงนี้ เราจะเห็นได้ว่า แสงไฟฟ้า กับ สีของโป๊ะ เป็นคนละอย่าง กล่าวให้ชัดก็คือ แสงไม่ใช่สี และ สีก็ไม่ใช่แสง แต่มาผสมกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน

จิตผู้รู้ (พุทโธ) ย่อมแยกอารมณ์ออกจากกันได้เป็นคนละส่วน แต่สามัญชนย่อมยึดติดเป็นอันเดียวกัน และไม่ยอมแยกออกจากกัน จึงพูดบรรยายออกมา เหมือนที่ตนเห็นทุกประการ

ในพระอภิธรรมอธิบายว่า แสงสีเขียว(แสงผสมกับสี) เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แสงสีแดงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แสงสีเหลืองเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดังนี้

แต่โดยข้อเท็จจริงนั้น เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับไปนั้น คือ สีที่ปรุงแต่งแสงอันใสสว่าง ที่มีอยู่ด้วยต่างหาก แต่ตัวแสงสว่างเดิมนั้นมิได้เกิดดับตามไปด้วย

ดังนั้น การพูดตามความเป็นจริงเช่นนี้ ย่อมเป็นสัมมาวาจาในพระพุทธศาสนานี้ การเห็นจิตว่าไม่ดับ และเห็นอารมณ์ว่าดับ เช่นนี้จึงเป็นสัมมาทิฐิ ไม่ใช่สัสสตทิฐิ

ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ธรรมะที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระอภิธรรมทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องของสังขารธรรมทั้งสิ้น คือเป็นธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับตายหายสูญไป ธรรมที่เกิดขึ้นใหม่ย่อมเป็นของใหม่ ไม่ใช่ของเก่า แล้วก็ต้องดับตายหายสูญไปอีกตามลำดับ ทั้งนี้ ย่อมสุดแต่เหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านั้น และคำว่า เหตุปัจจัย ในที่นี้ ก็คือ อวิชชา (ความรู้จักอารมณ์ผิดๆ) นั่นเอง

โดยสภาพธรรมแล้ว ในพระพุทธศาสนาถือว่าตราบใดที่ยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรนี้แล้ว อวิชชาจะต้องอยู่กำกับผู้นั้นตลอดไป กล่าวคือ อวิชชายังไม่ดับ ถ้าอวิชชาดับเมื่อใด วิชชาย่อมเกิดขึ้นทันที และจิตก็ย่อมบรรลุถึงพระนิพพานทันทีด้วย โดยไม่ถอยกลับเป็นอวิชชาอีก

แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่เรียนกัน ในคัมภีร์พระอภิธรรมัตถสังคหะ มีจิต ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง เจตสิก ๕๒ และรูป ๒๘ เหล่านี้นั้น ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ถาวรเลย นอกจาก นิพพาน ๑ เท่านั้นที่เที่ยงแท้ถาวร

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้เรียนวิชาธรรมะก็ย่อมเกิดความลังเลสงสัยว่า อวิชชาตั้งอยู่กับอะไร เพราะจิตเกิด – ดับ จะพูดว่าอวิชชาตั้งอยู่กับจิตก็ไม่ถนัด เพราะฉะนั้น จึงมีผู้คิดผลักคำว่า “อวิชชา” ให้ไปตั้งอยู่ที่ “สันดาน” ซึ่งบางทีก็เรียกว่า “ขันธสันดาน” ก็มี แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า “สันดาน” หรือ “ขันธสันดาน” ที่ว่านี้ สงเคราะห์ลงอยู่ในหมวดใด คือ จิต เจตสิก รูป หรือนิพพาน จนกระทั่งบัดนี้

นี่คือตัวอย่างของความผิดเพี้ยน อันเกิดจากการถ่ายทอดความรู้กันมาเป็นทอดๆ ตลอดเวลา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๙๕๐ เป็นต้นมา