สมาธิ

🌷 สมาธิในพระพุทธศาสนา

ในมรรคมีองค์ ๘ ท่านสงเคราะห์ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็น สมาธิ หมายความว่า ในการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนานี้ มรรคทั้ง ๓ จะทำงานสัมพันธ์กันตลอดเวลา เพื่อรวมจิตให้สงบเป็นสมาธิ กล่าวคือ

จะต้องสลัดนิวรณ์ อันเกิดขึ้นเนื่องด้วยอารมณ์กระทบ ออกไปให้หมด ด้วย สัมมาวายามะ
ยกจิตขึ้นเพ่งดูอารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ และประคองจิตมิให้แลบออกไปสู่อารมณ์อื่นๆ ด้วย สัมมาสติ
เกิดความอิ่มใจ เบากาย เบาใจ เป็นสุข ที่จิตสงบขึ้น และจิตปล่อยวางอารมณ์ และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ จนหมดในที่สุด ด้วยอำนาจ สัมมาสมาธิ

เพราะฉะนั้น สัมมาสมาธิ จึงไม่ใช่สมาธิแบบหินทับหญ้า เหมือนดังสมาธิของศาสนาอื่น ซึ่งยึดอารมณ์เดียวแนบแน่นเป็นเอกัคคตาแต่ประการใด แต่เต็มไปด้วยพลัง สติ ระวังตัว สงบตั้งมั่นอยู่เสมอ เมื่อพลังสติทำงานอย่างเต็มที่อยู่เช่นนี้แล้ว ก็ย่อมมีผลให้การพูด การทำ การคิด ดำเนินการได้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมไปด้วย

ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติสัมมาสมาธิจึงไม่มีทางเป็นบ้าไปได้เลย ถ้าพูดให้ถูกแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่หายจากการเป็นบ้ามากขึ้น (ที่หลงเข้าไปยึดถือสิ่งภายนอกอย่างผิดๆ ฝ่าฝืนสัจธรรมมาตลอดเวลา) ทำให้พูดถูก ทำถูก คิดถูก ยิ่งขึ้นโดยลำดับ นี่คือประโยชน์ที่เกิดจากการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนา

สำหรับผู้ที่ปฏิบัติสมาธิแล้วเป็นบ้านั้น ถ้าได้พิจารณาสาเหตุดูแล้ว ส่วนมากเกิดจากยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กามคุณ ด้วยปรารถนาลามก ไม่ได้ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ ไม่ได้ใช้สติสกัดกั้นความยินดียินร้าย ที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยกามคุณนั้นๆ คงปล่อยจิตให้ยินดีเพลิดเพลิน และหวังว่าจะหาโอกาสนำมาครอบครองต่อไปในอนาคต เช่น เพ่งดูรูปผู้หญิงเพื่อทำเสน่ห์ ดูเลข หวยเบอร์ เป็นต้น ย่อมเป็นบ้าอย่างไม่มีปัญหา

ด้วยเหตุผลดังที่ได้บรรยายมานี้ ผู้ปฏิบัติสมาธิที่หวังความพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนา จึงต้องจำทางเดินของจิต รวมทั้งวิธีวางจิตให้แม่นยำและแยบคาย เพื่อให้เกิดสมาธิขึ้น โดยใช้เวลาน้อยที่สุดที่เรียกว่า วสี ซึ่งจะควบคุมจิตไม่ให้ถูกนิวรณ์ครอบงำได้ดีที่สุด (วสี คือ ความชำนาญในการเข้า – ออกจากสมาธิ)

🌷 สมาธิในศาสนาพราหมณ์

กล่าวตามความจริงแล้ว ศาสนาพราหมณ์ซึ่งมีมาก่อนพระพุทธศาสนา ก็มีการปฏิบัติฌานสมาบัติอยู่เหมือนกัน ดังนั้นการปฏิบัติเช่นนี้ จึงมีมาก่อนพุทธกาล แม้พระพุทธองค์เองก็ทรงเคยเสด็จเข้าไปศึกษาและปฏิบัติ อยู่กับพระอาฬารดาบสและพระอุทกดาบส ก่อนตรัสรู้มาแล้วด้วย

แต่พระองค์ได้ทรงพิจารณาเห็นว่า ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานสมาบัตินั้น จิตของพระองค์ยังยึดอารมณ์ฌานอยู่อย่างเหนียวแน่นเป็นเอกัคคตารมณ์อยู่ เมื่อยังยึดอารมณ์อยู่ ก็ย่อมถูกอารมณ์ปรุงแต่งให้มีให้เป็นไป ยังไม่พ้นจากทุกข์ไปได้ จึงทรงลาพระอาจารย์ทั้งสองท่านออกมา “ปฏิบัติสัมมาสมาธิ” โดยลำพังพระองค์เอง จนกระทั่งได้ตรัสรู้ในที่สุด

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า สมาธิในศาสนาพราหมณ์ที่ได้ทรงศึกษาและปฏิบัติอยู่กับพระอาจารย์ทั้งสอง ที่กล่าวมาแล้ว กับสมาธิที่พระองค์นำมาปฏิบัติจนได้ตรัสรู้นั้น, ต่างกัน

ดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในปฐมเทศนาว่า :
“ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ” แปลว่า
“ธรรมทั้งหลายที่ได้ปฏิบัติมา เราไม่เคยสดับฟังมาจากที่ใดเลย” (ไม่มีใครสอนมาก่อน)

ถ้าหากว่าสมาธิของพระอาจารย์ทั้งสอง เหมือนกับสมาธิที่ทรงปฏิบัติจนกระทั่งตรัสรู้,จริงแล้ว พระองค์ย่อมตรัสว่าได้ตรัสรู้เองโดยชอบไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น สมาธิของศาสนาพราหมณ์ จึงแตกต่างกับ สมาธิในพระพุทธศาสนา อย่างไม่มีปัญหา เช่น ท้าวมหาพรหมยังยึดอัปปมัญญา ๔ อยู่ จึงมีอายุยืนยาวมาก เมื่อเสวยวิบากกรรมเช่นนี้หมดแล้ว ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเป็นอย่างอื่น ที่เป็นกรรมรองต่อไปอีก ยังไม่พ้นจากทุกข์ไปได้

🌷 การปฏิบัติสมาธิ

การปฏิบัติสมาธิ เป็นหลักธรรมที่สำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งได้มีผู้สนใจปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบันนี้ จึงสมควรที่ชาวพุทธทุกท่านจะได้เข้าช่วยส่งเสริมให้ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ครู และนักเรียนในสังกัด ได้ลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เพื่อจรรโลงหลักธรรมข้อนี้ ซึ่งจะทำให้พระศาสนามั่นคงอย่างแท้จริงต่อไป

กล่าวโดยทั่วๆ ไปแล้ว ต่างมักจะพากันเข้าใจว่า การปฏิบัติสมาธิเป็นการฝึกจิตให้สงบนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวเท่านั้น นอกจากนี้แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไรอีก จึงเป็นผลทำให้เข้าใจเลยออกไปว่า การปฏิบัติสมาธิเป็นวิธีหลีกหนีภาระหน้าที่การงานอาชีพ ออกไปหาความสุขสบายส่วนตัว ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่เกียจคร้านและสิ้นหวังในชีวิต

เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ผู้ที่จำเป็นต้องทำงานอาชีพ หรือมีภาระหน้าที่อยู่ ก็ย่อมปฏิเสธว่า ยังไม่มีเวลาหรือยังไม่ถึงเวลาปฏิบัติสมาธิสักที ต้องรอให้แก่ชราหรือปลดเกษียณเสียก่อน บางรายก็เข้าใจว่า การปฏิบัติสมาธิทำให้ขี้ขลาดตาขาว ไม่ยอมเผชิญหน้ากับการงาน หรือความถูกต้องเที่ยงธรรม หรือเข้าใจว่าจะทำให้เป็นบ้า เสียสติ โง่เขลา ก็มีอยู่ไม่น้อย

เพราะไม่รู้จักประโยชน์ของสมาธิในพระพุทธศาสนาตามความเป็นจริง เนื่องจากหลงไปยึดเอาสมาธิภายนอกมาเป็นสมาธิในพุทธศาสนาเข้า จึงไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

สมาธิในพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า สัมมาสมาธิ นั้น มีประโยชน์แก่ผู้ที่ลงมือปฏิบัติจริงอย่างยิ่ง เพราะทำให้จิตเกิดพลังสลัดความยึดถือในความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ออกไปได้ดี ในขณะที่มีอารมณ์เข้ามากระทบจิต

และถ้าผู้ใดปฏิบัติสมาธิจนชำนาญคล่องแคล่วแล้ว อารมณ์ย่อมไม่สามารถครอบงำปรุงแต่งจิตผู้นั้น ให้กระสับกระส่ายวุ่นวายต่อไปอีกได้ จิตก็ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย เข้าสู่ความสงบเยือกเย็นของพระศาสนาได้อย่างแท้จริง

🌷 ประโยชน์ของการปฏิบัติสมาธิ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงชักชวนให้ชาวพุทธลงมือปฏิบัติสมาธิตาม ดังมีพระดำรัสว่า “สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้”

ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า จิตที่เป็นสมาธิสามารถสลัดความยึดถืออารมณ์ ความยินดียินร้าย ซึ่งทำให้เกิดความเศร้าหมองออกไปได้อย่างสิ้นเชิง และเปิดสภาพอันประภัสสผ่องใสของตนเอง ให้ปรากฏขึ้นตามเดิมด้วย

ดังนั้น ผู้ที่สามารถทำจิตให้เป็นสมาธิจนชำนาญคล่องแคล่ว จิตย่อมหลุดพ้นตั้งมั่นอยู่ได้ด้วยตนเอง คือไม่ต้องพึ่งพาอารมณ์หรือสิ่งใดๆ จากภายนอกเลย และย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (เห็นอริยสัจ ๔) ดังนี้คือ :

๑. เห็นจิตที่ส่งออกไปยึดอารมณ์ภายนอกด้วยความยินดียินร้าย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทัย)
๒. เห็นจิตซัดส่ายเนื่องด้วยอารมณ์นั้นๆ เป็น ทุกข์
๓. เห็นว่าการปฏิบัติสัมมาสมาธิ สามารถปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ออกไปได้ เป็น มรรค
๔. เห็นผลจากการปล่อยวางอารมณ์ ทำให้จิตสิ้นการปรุงแต่งได้ เป็น นิโรธ

ถ้าผู้ปฏิบัติสามารถประคองจิตไว้ให้ตั้งมั่นอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ณ ฐานที่ตั้งสติที่ได้อุปโลกน์ไว้ด้วยแล้ว จิตก็ย่อมหลุดพ้นจากการปรุงแต่งใดๆ อย่างสิ้นเชิง และเป็นการถาวรตลอดไป ผู้ปฏิบัติผู้นั้นก็ย่อมเข้าถึงสภาพแท้จริงของพระพุทธศาสนา และจิตย่อมบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายด้วย

🌷 พุทธบริษัทไม่สนใจการปฏิบัติสมาธิ ย่อมเป็นสาเหตุให้พระศาสนาเสื่อมสูญไปได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงทราบล่วงหน้าด้วยพระปรีชาญาณ ได้ตรัสตอบพระมหากัสสปเมื่อได้กราบทูลถาม ขณะทรงประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร แขวงเมืองพาราณสี ดังมีรายละเอียดดังนี้คือ :

พระมหากัสสป กราบทูลถามขึ้นว่า:
“เมื่อพระศาสนาแพร่หลายมากขึ้น พุทธบัญญัติก็มากขึ้นโดยลำดับ เหตุใดภิกษุในศาสนาที่แตกฉานในทางธรรมกลับลดน้อยลง”

พระบรมศาสดาก็ได้ทรงแสดงมูลเหตุให้ฟังและได้ทรงเน้นว่า :
“การที่มีผู้นำเอาคำสั่งสอนนอกศาสนามาอ้างอิงว่าเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ เป็นมูลเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้คุณค่าของศาสนาน้อยลง”

พระมหากัสสป ได้กราบทูลถามปัญหาต่อไปว่า :
“พระศาสนาจะสูญสิ้นไปจากโลก ด้วยเหตุใดบ้าง”

พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า :
สิ่งต่างๆในโลกนี้ จะทำลายศาสนาให้สูญสิ้นไปหาได้ไม่ แต่พุทธบริษัท ๔ เท่านั้น ที่จะทำให้ศาสนาสูญสิ้นไป ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ :

๑. พุทธบริษัท ไม่เคารพในพระศาสดาของตน
๒. พุทธบริษัท ไม่ตระหนักในธรรม
๓. พุทธบริษัท ไม่คารวะต่อสงฆ์
๔. พุทธบริษัท ไม่ตั้งใจศึกษาธรรม
๕. พุทธบริษัท ไม่สนใจในการทำสมาธิ

ดังนั้น เราชาวพุทธทั้งหลายจึงควรลงมือปฏิบัติสมาธิอย่างจริงจัง เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาไม่ให้เสื่อมสูญไปได้

🌷 ฌานในพระพุทธศาสนา (สัมมาสมาธิ – สมาธิถูก)

การปฏิบัติ “สัมมาสมาธิ” เป็นการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เป็นการศึกษาหาความรู้เรื่องอารมณ์ และฝึกจิตให้มีความคล่องแคล่วว่องไว ในการระงับอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ทุกชนิด

(เป็นงานขั้นแรกที่จะต้องกระทำในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ไม่ว่าจะเป็นหมวดกาย เวทนา จิต หรือธรรม ดังจะได้กล่าวต่อไปในเรื่องสติปัฏฐาน ๔)

โดยผู้ปฏิบัติจะเปลี่ยนความสนใจจากอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบ ไปเพ่งดูอารมณ์ที่กำหนดไว้ในสติปัฏฐาน ๔ แทน และเพียรประคองจิตไว้ ณ อารมณ์ที่กำหนดนั้นอย่างต่อเนื่องตลอดไป

รวมทั้งจำวิธีปล่อยวางความรู้สึกยินดียินร้ายในอารมณ์เฉพาะหน้าไว้ด้วยความแม่นยำ จนสามารถปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ที่มีอยู่เสียได้อย่างสิ้นเชิง จนเป็นสุญญตาไม่มีอะไรเหลือเป็นนิมิตหมายเลย เหล่านี้ คือ ฌานในพระพุทธศาสนา

🌷 ฌาน (ความเพ่ง)

ในปัจจุบันนี้ พอพูดถึงคำว่า ฌาน ขึ้นมาเมื่อใด ผู้ที่ได้ยินได้ฟังส่วนมากมักพากันเข้าใจว่า เป็นเรื่องของอิทธิฤทธิ์ เหาะเหินเดินอากาศ หรือมีคุณวิเศษในการมองเหตุการณ์ ทั้งในอดีตและอนาคตได้เหมือนแลเห็นด้วยตาเนื้อธรรมดา บางทีก็เข้าใจว่าฌานเป็นเรื่องของศาสนาพราหมณ์ หรือเป็นเรื่องของฤาษีชีไพรไปเลย ยิ่งผู้ที่เรียนพระอภิธรรมด้วยแล้ว เป็นต้องกลัวนักหนาว่า ถ้าจิตของตนมีฌานประกอบแล้ว ก็จะพาให้โง่เขลาเบาปัญญากันหมดสิ้น ซึ่งไม่น่าจะเข้าใจไปถึงเช่นนี้

ในมหาสติปัฏฐานสูตรมีพุทธพจน์ ตรัสไว้ว่า:

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมตามรู้ตามเห็นอย่างไม่ขาดสาย เข้าไปในกาย เวทนา จิต ธรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสตินำความยินดียินร้ายในโลก (อารมณ์) ให้พินาศสิ้นไป ดังนี้”

คำว่า “ตามรู้ตามเห็นเข้าไปอย่างไม่ขาดสาย” นี้ ก็คือ “ความเพ่ง” หรือ “ฌาน” นั่นเอง ซึ่งเป็นความเพ่งดูเพื่อศึกษาเรื่องราวของกาย เวทนา จิต ธรรม ในความหมายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง

ผู้ที่ได้ยกจิตขึ้นเพ่งดูอารมณ์เหล่านี้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมเห็นโดยปราศจากความสงสัยว่าไม่มีสิ่งใดที่จะน่ายินดียินร้าย หรือยึดถือไว้เป็นแก่นสารตลอดไปได้ จึงทำให้รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง (เกิดญาณขึ้น) และปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ (เกิดปัญญา) ได้ในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ผู้ใดจำวิธียกจิตขึ้นเพ่งดูอารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ และประคองไว้อย่างคล่องแคล่ว จิตก็ย่อมเป็นสมาธิตั้งมั่นได้อย่างรวดเร็วเป็นธรรมดา และเมื่อสมาธิเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาก็ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกัน คือ ทำหน้าที่ปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตอันเนื่องด้วยอารมณ์ (รูปนาม) ด้วย

ดังนั้นคำว่า ฌาน กับ คำว่า สมาธิ จึงเป็นไวพจน์ ซึ่งกันและกันและใช้แทนกันได้ในที่ทั่วไป กล่าวคือไม่มีสมาธิ และวิปัสสนาอย่างใดที่ไม่ต้องยกจิตขึ้นเพ่งอารมณ์เลย

มีพระบาลีซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้ว่า:

“นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน, ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญาจ ส เว นิพฺพานสนฺติเก” แปลว่า “ฌานย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีฌาน ผู้ที่มีทั้งฌานและปัญญา จึงจะอยู่ใกล้นิพพาน”

นั่นก็คือ เมื่อยกจิตขึ้นเพ่งดูอารมณ์ในสติปัฏฐาน๔ (ฌาน) จนจิตเป็นสมาธิ ปัญญาย่อมเกิดขึ้นพร้อมกัน ทำหน้าที่ปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ตามลำดับ จนจิตหลุดพ้นจากการครอบงำปรุงแต่งของอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างสิ้นเชิงในที่สุด เป็นจิตบริสุทธิ์ ซึ่งสภาพจิตที่บริสุทธิ์นี้ เรียกว่า พระนิพพาน นั่นเอง

🌷 องค์ของฌาน (ความเพ่ง)

พระพุทธองค์ได้ทรงแบ่งออกเป็น ๔ ฌาน ตามความสามารถที่จิตปล่อยวางอารมณ์ได้ ดังนี้ :

๑. ปฐมฌาน ประกอบด้วยองค์ธรรม คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข
๒. ทุติยฌาน ประกอบด้วยองค์ธรรม คือ ปีติ สุข เพราะ ปล่อยวางวิตก วิจารออกไปเสียได้
๓. ตติยฌาน ประกอบด้วยองค์ธรรม คือ สุข เพราะปล่อยวางปีติได้
๔. จตุตถฌาน หมดอารมณ์และอาการแห่งจิต เพราะปล่อยวางสุข จิตสงบถึงขีดสุดพ้นจากการถูกอารมณ์ปรุงแต่งใดๆ

องค์ของปฐมฌาน (ความเพ่งขั้นที่ ๑)

ถ้าผู้ปฏิบัติเพิกอารมณ์ที่จะเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส และยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ (วิตก) และประคองจิตไว้ไม่ให้แลบหนีออกไปได้สำเร็จ (วิจาร) ก็ย่อมเกิดความอิ่มใจ (ปีติ) และความสุขจากความสงบเบื้องต้น (สุข)

รวมเป็นองค์ของปฐมฌาน ๔ ประการ คือ วิตก วิจาร ปีติ และสุข (แต่พระอรรถกถาจารย์เพิ่ม เอกัคคตา ขึ้นอีกข้อหนึ่ง รวมเป็น ๕ ประการในภายหลัง)

วิตก กับ วิจาร เป็นเหตุให้เกิด ปีติ และ สุข เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติไม่จำเป็นต้องพะวงหรือสนใจว่า จะเกิดปีติและสุขขึ้น ณ ที่ใดหรือไม่ ในขณะที่กำลังปฏิบัติอยู่ (ขณะนี้ กาย และ จิตเข้าสู่ความวิเวกแล้ว)

หมายเหตุ :
กายวิเวก คือ เพิกอารมณ์ที่เข้ามารบกวนทางร่างกาย ได้แก่ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส รวม ๕ ทางได้
จิตวิเวก คือ เพิกอารมณ์ที่นึกคิดออกไปได้

องค์ของทุติยฌาน (ความเพ่งขั้นที่ ๒)

ในขณะนี้จิตจะเริ่มเชื่องขึ้น คือไม่ปราดเปรียวแลบหนีออกไปสู่อารมณ์อื่นโดยง่าย เหมือนขณะลงมือปฏิบัติใหม่ๆ ดังนั้น จึงเกิดความผ่องใสของตัวเองขึ้น และไม่ต้องคอยระวังเรื่องการดึงจิตและประคองจิตต่อไปอีก จิตเป็นสมาธิเกาะอยู่กับ ปีติ และ สุข ที่ได้รับอยู่ เพราะวิตก กับ วิจาร ได้ดับไปแล้ว

องค์ของตติยฌาน (ความเพ่งขั้นที่ ๓)

จากการประคองจิตให้ตั้งอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติได้นานขึ้น จึงเป็นผู้ที่วางเฉยในอารมณ์ต่างๆ ปีติก็ย่อมจางหายไป มีความรู้ตัวทั่วพร้อม และเป็นผู้เสวยสุขอยู่ด้วยนามกาย เพราะปราศจากเครื่องเศร้าหมอง คล้ายกับพระอริยเจ้าทั้งหลาย ขณะนี้ วิตก วิจาร กับ ปีติ ได้พากันดับไปหมดแล้ว ยังคงเหลือแต่ สุข อยู่เท่านั้น

องค์ของจตุตถฌาน (ความเพ่งขั้นที่ ๔)

ถ้าผู้ปฏิบัติเพียรประคองจิตให้เพ่งดูที่ฐานที่ตั้งสติที่ได้อุปโลกน์ไว้อย่างแนบแน่นต่อไป ความพอใจ (ยินดี) – ไม่พอใจ (ยินร้าย) สุขและทุกข์ทั้งหลาย ได้ถูกละวางไปหมดสิ้น จนไม่มีนิมิตหมายของอารมณ์เหลืออยู่เลย จิตย่อมสะอาดและสงบถึงขีดสุด หลุดพ้นจากการครอบงำของอารมณ์ทั้งหลาย (อุปธิวิเวกได้เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้)

หมายเหตุ :
อุปธิวิเวก คือ เพิกความยินดียินร้ายที่ปรุงแต่ง ให้จิตแลบออกไปยึดถืออารมณ์ทั้งปวง ออกไปหมดอย่างสิ้นเชิง

สรุปความได้ว่า ถ้าผู้ปฏิบัติคอยระวังประคองจิตให้รู้ชัดอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ หลังจากเริ่มยกจิตเข้าสู่ฐานที่ตั้งสติที่ได้อุปโลกน์ไว้แล้วนั้น จิตก็จะปล่อยวางอารมณ์และอาการต่างๆที่เนื่องด้วยอารมณ์ จากน้อยไปหามากตามลำดับ ที่เรียกว่า ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ นั่นเอง และสงบถึงขีดสุดที่ฌาน ๔ ในที่สุด จนเป็นสภาพจิตอันสงบราบคาบ

เหมือนดังลูกคลื่นน้อยใหญ่ทั้งหลายในมหาสมุทรที่ลดขนาดเล็กลงๆ และหายไปหมดสิ้น เมื่อไม่มีลมพายุพัดรบกวนเลย จนเหลือแต่ผิวน้ำทะเลที่ราบเรียบเป็นเส้นระดับ ฉนั้น

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาดังกล่าวนี้ ผู้ปฏิบัติย่อมเกิดปัญญาที่เป็นหลักทวินิยม เพราะเห็นสัจธรรม ดังต่อไปนี้ :

๑. เห็นสภาพกระสับกระส่ายวุ่นวายของจิต เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบ แต่ละครั้ง ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเป็น ทุกข์

๒. เห็นสภาพเดิมอันสงบประณีตของจิตตนเอง เมื่อได้สลัดปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตต่างๆออกไปได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว ว่าไม่ทุกข์ คือ ไม่ใช่ตัวทุกข์ เป็น นิโรธ

๓. ถ้าปล่อยให้จิตแลบออกไปจากฐานที่ตั้งสติเมื่อใด สภาพวุ่นวายกระสับกระส่าย หรือทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อนั้นทันที จิตเมื่อแลบออกไปจากฐานนี้แล้ว ที่จะไม่ทุกข์นั้น,ไม่มีเลย ดังนั้น การแลบของจิต จึงเป็น สมุทัย

๔. ถ้าพรากจิตออกจากอารมณ์หรือความนึกคิดทั้งหลาย ให้กลับมาตั้งอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติอย่างคล่องแคล่วและแนบแน่น ได้สำเร็จเมื่อใด ความวุ่นวายกระสับกระส่ายหรือทุกข์ ย่อมดับไปเมื่อนั้นทันที ดังนั้น การพรากจิตให้กลับมาตั้งอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ จึงเป็น ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ หรือ มรรค นั่นเอง

ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นชัดด้วยตนเองว่า การพรากจิตหรือการดึงจิต ออกจากอารมณ์ให้กลับมาตั้งไว้ ณ ฐานที่ตั้งสติ เพียงประการเดียวเท่านั้น จิตก็จะสงบราบเรียบ และทุกข์ก็จะดับไปหมดสิ้น นี้เป็นเรื่องที่สามารถปฏิบัติได้ทุกคน

🌷 ฌานในศาสนาพราหมณ์

เท่าที่ได้กล่าวเรื่องฌานในพระพุทธศาสนามาแล้วนั้น ผู้ปฏิบัติยกจิตขึ้นเพ่งอารมณ์ที่อยู่ในฐานกาย เวทนา จิต หรือธรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง

แล้วใช้อุบายอันแยบคาย คอยระวังไม่ให้จิตแลบออกไปสู่อารมณ์อื่นอันไม่พึงประสงค์ เพื่อศึกษาดูสภาพที่แท้จริงของอารมณ์นั้นๆ ว่า มีสิ่งใดเป็นแก่นสารที่พอจะยึดถือไว้ได้บ้างหรือไม่ เมื่อได้ทราบความจริงแล้วว่าไม่มีแก่นสาร ก็ย่อมต้องปล่อยวางเสีย เพราะไม่มีอะไรที่สามารถยึดถือไว้ได้เลย, เป็นธรรมดา

แต่ฌานของศาสนาพราหมณ์นั้น ตรงกันข้ามทีเดียว ผู้ปฏิบัติยกจิตขึ้นเพ่งอารมณ์ที่อยู่นอกฐานกาย เวทนา จิต หรือธรรม เช่น เพ่งกสิณ เป็นต้น

แล้วคอยระวังมิให้จิตแลบออกไปสู่อารมณ์อื่น เพื่อให้เกาะอารมณ์กสิณนั้นอย่างแนบแน่น จนเกิดภาพของอารมณ์ขึ้น อย่างติดตาติดใจทุกขณะ แม้หลับตาก็ยังเกิดเป็นมโนภาพขึ้น เหมือนกับเห็นของจริงทุกประการโดยไม่เสื่อมคลาย

ดังนั้น จิตจึงสงบและเกาะอารมณ์อย่างแนบแน่น เรียกเป็น ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ เหมือนกัน แต่หมายถึงความแนบแน่นที่จิตเกาะอารมณ์มากขึ้นตามลำดับจากน้อยไปหามาก จนกระทั่งถึงฌาน ๔ ซึ่งเป็นระดับที่จิตยึดถืออารมณ์ไว้อย่างเหนียวแน่นที่สุด จึงเป็นเอกัคคตา (จิตยึดอารมณ์เพียงอย่างเดียว)

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ฌานในศาสนาพราหมณ์อบรมจิตให้ยึดถืออารมณ์ไว้ตลอดเวลา จึงไม่มีพลังปล่อยวางอารมณ์ได้เลย เราจึงมักจะเห็นว่า ผู้ที่ฝึกปฏิบัติฌานนอกพระพุทธศาสนาแล้ว จะไม่มีประสบการณ์ที่จะปล่อยวางอารมณ์ใดๆ ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจได้เลย

ทั้งนี้หมายความว่า ฌานนอกพระพุทธศาสนาไม่เป็นเหตุปัจจัย ให้เกิดปัญญาขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติอย่างแน่นอน แต่จัดเป็นครุกรรมฝ่ายกุศลเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้เกิดปัญญาขึ้น ผู้ปฏิบัติก็ต้องเปลี่ยนไปเพ่งอารมณ์ ที่อยู่ในฐานกาย เวทนา จิต หรือธรรม เสียก่อนเท่านั้น

เหมือนดังชฎิลสามพี่น้อง ที่เปลี่ยนจากการเพ่งไฟ มาเพ่งอารมณ์ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าเป็นของร้อน แทนไฟ หลังจากที่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว ในที่สุด ชฎิลสามพี่น้องและบริวารรวมพันรูป ได้บรรลุอรหัตตผลโดยทั่วกัน

ด้วยเหตุที่ฌานในพระพุทธศาสนา อบรมจิตให้ปล่อยวางอารมณ์ตามลำดับชั้น จากฌาน ๑ ถึงฌาน ๔ โดยสามารถปล่อยวางอารมณ์ได้อย่างสิ้นเชิงในฌาน ๔

ดังนั้นฌาน ๔ จึงไม่มีคำว่า เอกัคคตา (มีอารมณ์อันเดียว) อยู่ด้วย แต่เป็นสภาวะสุญญตวิโมกข์ (พ้นเพราะว่างจากอารมณ์) คือ ไม่มีอารมณ์และอาการปรุงแต่งที่เนื่องด้วยอารมณ์อยู่เลย (คัมภีร์พระอภิธรรม เรียกว่า โคตรภูญาณ)

และในเวลาปฏิบัติจริงนั้น ผู้ปฏิบัติก็รู้ว่าขณะนี้จิตหลุดพ้นจากอารมณ์และอาการปรุงแต่งที่เนื่องด้วยอารมณ์แล้ว

ในระหว่างที่จิตเริ่มสงบเป็นต้นมา แต่ยังไม่ถึงขั้นจิตหลุดพ้นนี้ จะไม่มีนิมิตหมายบอกว่าขณะนี้จิตของตนกำลังอยู่ในฌานที่เท่าใด หรือกำลังเลื่อนขึ้นหรือลงไปสู่ฌานที่เท่าใดเลย ถ้าผู้ใดเกิดความสงสัยอยากทราบหรือเอาความรู้จากตำราที่เคยท่องไว้ เข้ามาเทียบดูว่าเป็นฌานไหน? จิตก็จะเคลื่อนออกจากสมาธิทันที

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องจำทางเดินของจิตไว้ให้แม่นยำ สำหรับละวางออกจากอารมณ์ทั้งหลาย ด้วยการยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ ที่ได้อุปโลกน์ไว้ ด้วยความคล่องแคล่ว แล้วประคองจิตไว้ไม่ให้แลบไปสู่อารมณ์อื่น จนกระทั่งมีพลังปล่อยวางความยินดียินร้ายในอารมณ์ทั้งหลายอย่างสิ้นเชิงได้ในที่สุด

เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นได้ว่าฌานในพระพุทธศาสนา ไม่ได้เป็นไปเพื่อแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เลย แต่เป็นไปเพื่อการปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ โดยเฉพาะ เพียงประการเดียวเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้การปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่าสัมมาสมาธินั้น จึงมีประโยชน์มาก เพราะทำให้เกิดพลังยกจิตของตนให้สูงขึ้น จนพ้นจากการถูกอารมณ์ทั้งหลายครอบงำเสียได้

เมื่อสมาธิเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาก็ย่อมเกิดตามมา ซึ่งมีผลโดยตรงในการปล่อยวางความยินดียินร้ายในอารมณ์ และส่งผลให้ความประพฤติทางกายกับวาจา เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติด้วย

🌷 วิเวก ๓

วิเวก หมายถึง ความสงบสงัด ที่ได้รับจากการปลีกตัวออกไปจากสิ่งที่เข้ามารบกวนจิตใจให้วุ่นวายได้ อันได้แก่ อารมณ์ที่น่ารักน่าชอบใจทั้งหลายนั่นเอง

วิเวก มีความจำเป็นสำหรับการปฏิบัติทางจิตมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ ผู้ปฏิบัติจะต้องปลีกตัวออกจากสิ่งที่เข้ามารบกวนจิตใจให้มากที่สุดเสียก่อน จึงจะปฏิบัติได้ก้าวหน้า และสามารถนำจิตของตนให้หลุดพ้นจากการปรุงแต่งของอารมณ์ทั้งหลายได้ในที่สุด

วิเวก มีอยู่ ๓ ประการ คือ กายวิเวก จิตวิเวก และอุปธิวิเวก

๑. กายวิเวก คือ
เพิกอารมณ์ที่จะเข้ามารบกวนทางร่างกาย ได้แก่ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส รวม ๕ ทาง เป็นขั้นแรก

๒. จิตวิเวก คือ
เพิกเรื่องที่นึกคิดออกไป ด้วยการยกจิตออกจากเรื่องที่นึกคิดนี้ ไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติที่ได้อุปโลกน์ไว้อย่างมั่นคง อารมณ์ที่กำลังนึกคิดก็จะดับไป เป็นขั้นที่ ๒

๓. อุปธิวิเวก คือ
เพิกความยินดียินร้ายที่ปรุงแต่งให้จิตแลบออกไปยึดถืออารมณ์ทั้งปวง ออกไปให้หมดอย่างสิ้นเชิง ถ้ามีสิ่งใดมารบกวนให้จิตกระเพื่อมขึ้นมาเมื่อใด ก็ให้รีบยกจิตออกจากสิ่งนั้นๆ และนำเข้าสู่ฐานที่ตั้งสติทันทีเมื่อนั้น จนชำนาญ เป็นขั้นที่ ๓

จิตที่ปฏิบัติได้เช่นนี้ เรียกว่า วิมุตติจิต (จิตหลุดพ้น) จัดเป็นสัมมาสมาธิ คือ ย่างเข้าสู่สภาพสงบถึงขีดสุดแล้ว ซึ่งเปรียบดังผิวน้ำในท้องทะเลที่ไม่มีลมพายุพัดรบกวน จนเหลือผิวน้ำเป็นเส้นระดับราบเรียบไปทั่วกัน ไม่มีระลอกคลื่นปรากฏอยู่เลย ฉนั้น

รวมความแล้ว อุปธิวิเวกนี้ จะเกิดอย่างสมบูรณ์มั่นคงได้เพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสัมมาสมาธิฌานที่ ๔ เพียงอย่างเดียว ถ้าจิตไม่รู้จักฐานที่ตั้งสติ หรือลืมทางที่จะยกจิตเข้าสู่ฐานที่ตั้งสติเสียแล้ว กายก็จะยังไม่สงบ และอุปธิก็ยังไม่สงบลงได้เลย เพราะจิตยังคงแลบออกจากฐานที่ตั้งสติ ไปวุ่นวายอยู่กับเรื่องที่เข้ามารบกวนตามธรรมชาติ ตลอดไป

ความสงบสงัดทั้ง ๓ ประการนี้ จะเป็นปัจจัยส่งเสริมกันให้มีพลังมากขึ้นโดยลำดับ กล่าวคือ ถ้ากายสงบ จิตจึงจะสงบตามได้ ถ้าจิตสงบ อุปธิก็ย่อมสงบ เพราะรู้จักวิธีสลัดความยินดี – ยินร้ายออกไปได้มากขึ้น ตามลำดับ

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องฝึกวิธีเพิกอารมณ์ทั้งหลายให้ชำนาญทุกขณะจิต จนถึงขั้นที่ว่า ถ้ามีสิ่งใดมากระทบ ก็ให้เป็นสักแต่ว่ากระทบเท่านั้น (คือ รู้ แล้วละเรื่องที่รู้ออกไปทันที ) ความสงบสงัด (อุปธิวิเวก) ย่อมเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ ตลอดไป

🌷 ปีติและสุข

ปีติและสุข เป็นนามธรรมที่เกิดทางใจของบุคคลต่างๆ ได้ ๒ กรณี คือ

๑. เกิดขึ้นแก่บุคคล ที่รับรู้อารมณ์ฝ่ายกุศลอันประทับใจ ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส … อย่างหนึ่ง

๒. เกิดขึ้นแก่บุคคล ผู้รวมจิตเป็นสมาธิได้สำเร็จ เพราะเพิกอารมณ์ที่น่ารักใคร่ออกไปอย่างหมดสิ้น จนรู้สึกเบากาย เบาจิตใจ … อีกอย่างหนึ่ง

สำหรับข้อ ๒ นี้ สามารถกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้นได้อีก ดังนี้คือ ความรู้สึกเบากาย เบาจิตใจ หรืออิ่มใจ ที่เรียกว่า ปีติ กับความรู้สึกพอใจ สบายใจ ยินดี เพลิดเพลินใจ ที่เรียกว่า สุข เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน หลังจากที่ได้สลัดความกระสับกระส่าย จากการรับรู้อารมณ์ต่างๆ อันหนักอึ้ง ออกไปได้สำเร็จ

ตัวอย่างปีติและสุข ที่เกิดจากการปฏิบัติอานาปานสติ ก็คือ ถ้าผู้ปฏิบัติสลัดอารมณ์เฉพาะหน้าออกไป ด้วยการยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ แล้วประคองไว้ไม่ให้แลบออกไปได้สำเร็จ

ปีติย่อมเกิดขึ้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายผู้ปฏิบัติ เช่น ทำให้รู้สึกคล้ายกับว่ามีมดหรือไรมาไต่ตอมตามร่างกาย แล้วก็จะจางหายไปอย่างรวดเร็วมาก

ส่วนสุขนั้น จะแสดงขึ้นเป็นความรู้สึกสบายอกสบายใจ ยินดี พอใจ และตั้งอยู่นานกว่าปีติมาก และอาจแสดงออกทางสีหน้าหรือแววตาก็ได้ สำหรับอารมณ์ฝ่ายกุศล

ผู้ปฏิบัติควรศึกษาให้ชัดเจนว่า เมื่อสุขเกิดขึ้นนั้น ปีติอาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดด้วยก็ได้ แล้วแต่ว่าอารมณ์ที่กำลังรับรู้อยู่นั้น จะประทับใจมากน้อยเพียงใด จิตก็จะออกไปอยู่กับปีติและสุข ด้วยความรู้สึกกระเหิมใจ และภาคภูมิใจที่ทำงานทางจิตได้สำเร็จ แทนอารมณ์ทั้งหลายที่เพิกออกไปเหล่านั้น

๑. ปีติและสุขที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ฝ่ายกุศล

ในข้อที่ ๑ ข้างต้นนี้ เราจะพบเห็นได้ไม่น้อยว่าปีติได้เกิดขึ้นแก่บิดา – มารดา, วงศ์ญาติ ที่ได้จัดงานบวชพระให้แก่บุตรชายของตน เมื่อวันบวช พร้อมกับความสุขใจอันมากมายท่วมทับจิตใจ อย่างที่ไม่เคยพบมาในชีวิตประจำวันเลย ถึงกับน้ำตาแห่งปีติไหลพรากทีเดียว ทั้งนี้เพราะชาวพุทธนับถือกันอย่างมั่นใจว่า การบวชพระให้บุตร เท่ากับได้ฝากชีวิตจิตใจไว้กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนั่นเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปีติและสุข นี้จะเกิดขึ้น เมื่อบิดา – มารดา, วงศ์ญาติ เห็นบุตรชายของตนครองผ้าเหลืองครบองค์ในโบสถ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปีติและสุข เกิดขึ้นจากการกระทำกุศลอันประทับใจได้สำเร็จ สมความตั้งใจแต่แรก

๒. ปีติและสุขเกิดขึ้นแก่ผู้ที่รวมจิตเป็นสมาธิได้สำเร็จ

ในข้อที่ ๒ นี้ เป็นเรื่องของการปฏิบัติสมาธิ ในระยะเริ่มแรก ปีติและสุข จะเกิดขึ้นพร้อมกัน หลังจากที่ได้สลัดอารมณ์ภายนอกออกไปหมดสิ้นแล้ว

ในตอนเริ่มแรกของการปฏิบัตินั้น ทั้งปีติและสุขจะเกิดขึ้นพร้อมกัน และรู้สึกได้เด่นชัดมาก แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปนานๆ ก็จะรู้สึกชิน ทำให้รู้สึกว่าไม่เด่นชัดนัก เมื่อพลังสติเกิดมากขึ้นอีก ก็จะสลัดทั้งปีติและสุขออกไปได้ดีขึ้น จนไม่ได้สนใจปีติและสุขนั่นเอง

อุปมาดังลูกคลื่นขนาดใหญ่ (คืออารมณ์) ในท้องมหาสมุทร ได้ลดตัวหายไปๆ จนเหลือแต่ระลอกน้ำขนาดเล็กอยู่ที่ผิวน้ำ (คือปีติและสุข) ซึ่งจะต้องระงับให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงให้ได้ ระดับผิวน้ำจึงจะราบเรียบถึงขีดสุดอย่างแท้จริง

🌷 วิธีระงับปีติและสุข

วิธีระงับปีติและสุข ที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิ ก็คือ ใช้สติกำหนดลมหายใจเข้าออกให้แนบแน่นมากขึ้นจากที่กำลังเป็นอยู่ เพราะจิตได้แลบออกจากฐานที่ตั้งสติไปอยู่กับปีติและสุขเสียแล้ว

ผู้ปฏิบัติจะต้องทำความรู้สึกให้รู้ลมหายใจเข้าออกที่กระทบฐานที่ตั้งสติให้ชัดเจนตลอดเวลา จึงจะสลัดปีติและสุข รวมทั้งมโนภาพทั้งหลายออกไปได้หมดสิ้นเชิง กล่าวคือ

เมื่อลมหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ลมหายใจเข้ายาว
เมื่อลมหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ลมหายใจออกยาว
หรือเมื่อลมหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ลมหายใจเข้าสั้น
เมื่อลมหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ลมหายใจออกสั้น

ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาวิธีทำลมหายใจซึ่งหยาบ ให้ละเอียด และให้ละเอียดยิ่งขึ้นตามลำดับต่อไปด้วย เพราะเมื่อลมหายใจหยาบ ความรู้สึกนึกคิดก็หยาบ เมื่อลมหายใจละเอียด ความรู้สึกนึกคิดก็ย่อมละเอียดตามไปด้วย

ดังนั้น เมื่อทำลมหายใจให้ละเอียดได้ถึงขีดหนึ่ง ปีติก็ดี สุขก็ดี ความรู้สึกนึกคิดก็ดี ย่อมดับไปด้วย จิตก็จะสงบตัวเป็นสมาธิมากขึ้นๆ จนสงบถึงขีดสุด, ในที่สุด ผู้ปฏิบัติก็จะรู้สึกเสมือนว่าไม่มีลมหายใจเคลื่อนไหวเลย ทั้งนี้เพราะจิตมีพลังการปล่อยวางมากที่สุดนั่นเอง

งานปฏิบัติทางจิตเหล่านี้ นับตั้งแต่เริ่มอธิษฐานจิต ปล่อยวางอารมณ์หยาบ
แล้วยกจิตเข้าไปตั้งที่ฐานที่ตั้งสติ ประคองจิตไว้ไม่ให้แลบหนีออกไป เป็นงานขั้นสำคัญที่ผู้ปฏิบัติจะต้องลงมือกระทำเอง จำทางที่ได้เคยทำไว้ให้แม่นและทำให้ชำนาญ จนถึงขนาดที่ว่า เพียงแต่กำหนดลมหายใจเท่านั้น จิตก็จะน้อมเข้าสู่ความสงบถึงขีดสุดทันที โดยไม่ต้องใช้เวลาเลย แม้แต่เพียงวินาทีเดียว

🌷 การเกิดขึ้นของปีติและสุขในขณะสุดท้ายของชีวิต

จากที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เราจะเห็นว่าปีติและสุขเป็นผลจากการกระทำกิจกรรมฝ่ายกุศล ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องใช้ ขันติ (ความอดทน) สกัดไม่ให้ธรรมฝ่ายอกุศลเกิดแทรกเข้ามา

ถ้าขาดขันติเสียอย่างเดียวเท่านั้น อารมณ์ฝ่ายอกุศลจะแทรกเข้ามาทันที แต่ถ้ามีขันติสูงเพียงพอ อกุศลย่อมไม่เกิดขึ้น ปีติและสุขก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ถ้าปีติและสุขเกิดขึ้นในขณะสุดท้ายแห่งชีวิตด้วยแล้ว สุคติย่อมเป็นที่หวังได้แน่นอน

ผู้ปฏิบัติจึงต้องคอยระวังไม่ให้อารมณ์ฝ่ายอกุศลเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน โดยใช้สติคอยระลึกไว้ตลอดเวลา และรู้จักหา หรืออุปโลกน์ฐานลมหายใจกระทบ ภายในช่องจมูกของตน ไว้เป็นหลักประจำใจ แล้วเพียรพยายามบ่อยๆ เนืองๆ ที่จะยกจิตเข้าไปตั้งไว้ ณ ฐานดังกล่าวนี้ และประคองไว้ให้ได้ ปีติและสุขก็จะเกิดตามมาเป็นธรรมดา ตามวาสนาบารมีของตน

ทั้งนี้หมายความว่า วิตกกับวิจาร เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดปีติและสุข ซึ่งเป็นผลตามมาเอง หลังจากที่ได้เพียรประคองจิตไว้ ไม่ให้แลบหนีออกไปจากฐานที่ตั้งสติได้สำเร็จเท่านั้น

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงไม่ต้องสนใจว่าปีติจะเกิดขึ้นที่ไหนของร่างกายหรือเมื่อใด แต่ให้คอยเพิ่มความระมัดระวัง ควบคุมจิตให้รู้อยู่ที่ฐานลมกระทบ ให้แนบแน่นมากขึ้นโดยต่อเนื่องต่อไป จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต คือลมหายใจเฮือกสุดท้าย อารมณ์ที่เป็นอกุศลย่อมไม่มีโอกาสสอดแทรกเข้ามาเลย ทำให้มีสุคติเป็นที่หวังข้างหน้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดังที่มีผู้กระซิบบอกผู้กำลังจะสิ้นใจที่หูว่าให้ภาวนาอรหังไว้นั่นเอง

🌷 กิจกรรมที่ทำให้ปีติเกิด

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ปีติและสุข เป็นสภาพธรรมที่เกิดหลังจากได้ทำกิจกรรมที่เป็นกุศล มีคุณประโยชน์มากได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นแค่ระดับศีลธรรมหรือระดับปฏิบัติทางจิตก็ตาม

โดยใช้โยนิโสมนสิการประกอบ คือใช้เหตุผลเป็นหลัก สำหรับลงมือกระทำกิจกรรมนั้นๆ ประกอบด้วยจนสำเร็จบริบูรณ์ เป็นสำคัญ ปีติย่อมเกิดตามมาเองด้วยเป็นธรรมดา

แต่ถ้าใช้อโยนิโสมนสิการ คือไม่ใช้เหตุผลที่ถูกต้อง ฝ่าฝืนความสงบสุขจนทำให้เป็นอกุศล เกิดโทษแก่ตนและสังคมขึ้นมาแล้ว ย่อมทำให้จิตใจหดหู่เศร้าหมอง ปีติย่อมไม่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา

สรุปความแล้ว ปีติและสุข เป็นธรรมฝ่ายกุศล ที่เกิดร่วมกับกิจกรรมฝ่ายกุศลเท่านั้น

🌷 ตัวอย่างกิจกรรมที่ทำให้เกิดปีติและสุข

๑. เพิกจิตออก ไม่คิดละเมิดศีลที่ปรากฏเฉพาะหน้าได้
๒. ยกจิตออกจากเรื่องที่กำลังนึกคิด ไปตั้งที่ฐานที่ตั้งสติได้
๓. ยกจิตไปตั้งที่ฐานที่ตั้งสติแล้ว ประคองไว้ไม่ให้แลบได้
๔. เมื่อกระทบกับอารมณ์ใดๆ แล้ว ทำจิตให้ตั้งมั่นคงได้
๕. กำหนดรู้ว่าอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดตามมาเป็นทุกข์
๖. ควบคุมจิตไม่ให้แล่นออกจากฐาน ไปรับอารมณ์ได้
๗. เปลี่ยนความคิดถึงอารมณ์ ไปคิดถึงลมหายใจได้สำเร็จ
๘. รักษาจิตให้อยู่ในสภาพที่ผ่องใส ในท่ามกลางอารมณ์ได้
๙. จำวิธีละนิวรณ์ได้อย่างแม่นยำ เมื่อกระทบกับอารมณ์
เหล่านี้ เป็นกิจกรรมทางจิตที่ทำให้เกิดปีติและสุขทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ปีติและสุขยังเกิดขึ้นทางอื่นได้อีกหลายทาง ไม่เฉพาะแต่ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิเท่านั้น คนที่มีอุปนิสัยชอบทำบุญ ทำทาน มีเมตตากรุณาต่อบุคคลอื่นและสัตว์ทั้งหลาย คนที่รักษาศีลไว้ได้ เมื่ออยู่ต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า นึกถึงกุศลกรรมที่ได้เคยทำมาแต่ก่อน นึกถึงพิธีกรรมทางศาสนา ได้เห็นพระสงฆ์ เจดีย์ โบสถ์ วิหาร เหล่านี้ เป็นต้น ปีติและสุขก็เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน

ปีติเป็นสังขารขันธ์ สุขเป็นเวทนาขันธ์ ซึ่งจะเกิดร่วมกันเสมอ

🌷 ปีติเป็นสภาพธรรมแก้ง่วงและช่วยให้จิตเป็นสมาธิ

ปีติเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จิตเป็นสมาธิ ผู้ที่ลงมือปฏิบัติสมาธิแล้ว ชอบง่วงบ่อยๆ นั้น เกิดจากเผลอปล่อยให้จิตตกภวังค์ ไม่บริหารจิตตามสมควร จึงง่วง มีทางที่จะแก้ได้โดยการยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติทันที พร้อมกับประคองไว้ด้วยอุบายอันแยบคาย ที่จะไม่ให้จิตแลบหนีออกไป

ถ้าจิตแลบครั้งใด ก็ให้ยกกลับมายังฐานที่ตั้งสติอีกทุกครั้ง จนกว่าจิตจะเชื่องเข้าๆ และไม่แลบต่อไปอีก เมื่อทำได้ดังนี้สำเร็จ ปีติก็จะเกิดขึ้น ความง่วงก็จะหายไป และจิตก็จะเป็นสมาธิทันที จากฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ และฌาน ๔ อันเป็นสภาวะที่สงบถึงขีดสุด หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ความกระเพื่อมของจิตได้ลดน้อยลงตามลำดับ จนสงบราบคาบที่ฌาน ๔ ก็ได้เช่นกัน

🌷 ชนิดของปีติ

ผู้ที่ได้ศึกษาคัมภีร์วิสุทธิมรรค จะเห็นว่าพระพุทธโฆษาจารย์ได้บรรยายแบ่งแยกลักษณะของปีติไว้ ๕ ประการ ซึ่งเกิดจากกิจกรรมฝ่ายกุศลตามธรรมดา กับฝ่ายปฏิบัติทางจิต ดังต่อไปนี้

๑. ขุททกาปีติ คือ ปีติเล็กน้อย หรือปีติอย่างเบา ซึ่งทำให้ขนลุกแล้วก็ดับไป ไม่เกิดขึ้นอีก บางทีก็ทำให้ขนหัวลุก ใจสั่น ตัวหนักก็ได้

๒. ขณิกาปีติ คือ ปีติที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ชั่วขณะ แล้วก็หายไปดังฟ้าแลบ มักเกิดขึ้นตามร่างกาย เช่น ทำให้ตาเห็นแสงดังฟ้าแลบเป็นประกาย เนื้อเต้นเอ็นกระตุก รู้สึกเหมือนมีแมลงมาไต่ ใจสั่นหวั่นไหว

๓. โอกกันนิกาปีติ คือ ปีติที่ก้าวลงสู่ร่างกาย ทำให้กายกระเพื่อม หวั่นไหว สั่นระรัว คล้ายๆ กับนั่งเรือในกระแสน้ำวน เกิดคล้ายลมพัดหัวอก หัวไหล่ ท้องน้อย หรือพัดไปทั่วร่างกาย หรือพัดวาบดังไฟลุก

๔. อุพเพ็งคาปีติ คือ ปีติที่มีกำลังมาก บางทีก็ทำให้ตัวลอยขึ้นไปในอากาศ ทำให้เนื้อตัวหวั่นไหว เกิดเต้นเหยงๆ แล้วลุกขึ้นวิ่งไป เกิดร้อนทั่วตัวและสันหลัง ศีรษะ สะเอว ท้องน้อย เกิดแสบร้อนเป็นไอขึ้นทั่วตัว ปวดท้อง ปวดน่องดังเป็นบิด กายเบาและดูสูงขึ้น หนักแข้งหนักขาบั้นเอว และศีรษะคล้ายจะจับไข้ เกิดเป็นสมาธิขึ้น

๕. ผรณาปีติ คือ ปีติที่แผ่ไปทั่วกาย เกิดในจักษุทวาร ทำให้ดูสูงและใหญ่ขึ้น เนื้อตัวเย็นดังแช่น้ำ คันยิบๆ แย็บๆ เหมือนมีไรมาไต่ เป็นดังประกายไฟพุ่งออกจากกระบอกตา กายเบาดุจนั่งนอนเหนือสำลี หนาวตัวสั่นตัวงอ หนักหางตา ดุจอาบน้ำในฤดูหนาว บางทีก็กายอุ่นเป็นไอขึ้น หรือกายเย็นซาบซ่าทั่วตัว

🌷 นิมิตในขณะปฏิบัติสมาธิ (อารมณ์ทางใจ)

ก่อนอื่น ผู้ศึกษาและปฏิบัติสมาธิ จะต้องจำไว้ว่า วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติสมาธิ ก็คือ ต้องสลัดอารมณ์ทั้งหลาย ออกไปจากจิตให้หมดสิ้น จนไม่เหลือไว้ให้ปรุงแต่งจิต ให้แสดงความยินดียินร้ายอีกต่อไป ที่เรียกว่าเป็นนิมิตหมายของจิต หรืออารมณ์ทางใจ นั่นเอง

นิมิตเหล่านี้เกิดขึ้นคู่กับลมหายใจเข้าออก เพราะสติยังมีกำลังอ่อนอยู่ ทำให้จิตแลบออกไปสร้างมโนภาพต่างๆขึ้น รวมทั้ง ปีติและสุข ที่ได้บรรยายมาแล้วด้วย

🌷 ลักษณะของนิมิต

นิมิตที่จิตสร้างขึ้นนั้น ส่วนมากจะเห็นเป็นรูปร่างหรือภาพ หรืออาจจะเกิดเป็นกลิ่น สี แสงสว่าง ซึ่งเคยพบปะมาในอดีตก็ได้ หรืออาจจะเป็นรูปผี ปีศาจ ยักษ์มารอะไรก็ได้ ซึ่งจิตนึกคิดสร้างขึ้นเองเป็นมโนภาพเท่านั้น จึงไม่อาจทำร้ายร่างกายผู้ปฏิบัติให้เป็นอันตรายได้เลย แต่ถ้าผู้ปฏิบัติกลัวขึ้นมาเอง โดยไม่รู้ความจริงแล้ว ย่อมเสียขวัญได้ และถ้าหากคุมสติไว้ไม่ได้ ทำให้ลุกขึ้นวิ่งหนีแล้ว ก็อาจเป็นบ้าไปได้เหมือนกัน

โปรดจำไว้ให้มั่นใจว่า สิ่งที่เห็นเป็นนิมิตต่างๆ นั้น ตัวผู้ปฏิบัติเองสร้างขึ้นทั้งสิ้น ไม่ใช่ผู้ใดมาสร้างเลย ดังนั้นวิธีแก้นิมิตเหล่านั้นให้หมดไป ก็คือ รีบยกจิตกลับไปตั้งและประคองให้มั่นคง ณ ฐานที่ตั้งสติให้ได้ทันที นิมิตทั้งหมดจะหายวับไปด้วยอำนาจสติที่เกิดขึ้น และทำให้สมาธิก้าวหน้า สงบมากตามลำดับไปทันทีด้วย

สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดนิมิตทางใจเช่นนี้ ก็คือ ผู้ปฏิบัติที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องสมาธิให้ถูกต้องว่า ตนมีหน้าที่สนใจอยู่ในขณะปฏิบัติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือสร้างสติให้เกิดขึ้นที่ฐานที่ตั้งสติที่ได้อุปโลกน์ไว้ แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้ปฏิบัติเองกลับไปอธิษฐานจิต ตั้งความปรารถนาขอเห็นนิมิตอย่างนั้นอย่างนี้ ก่อนลงมือปฏิบัติ เช่น ขอเห็นนรก เห็นสวรรค์ เป็นต้น

พอลงมือปฏิบัติจริง จิตซึ่งมีแนวโน้มจะสร้างนิมิตอยู่เดิมแล้ว ก็จะถูกชี้นำให้น้อมไปสร้างนรก สวรรค์ ให้เห็นได้ ทำให้ผู้ปฏิบัติหลงผิดออกไปอีกว่า การปฏิบัติธรรมของตนก้าวหน้าแล้ว ทั้งๆ ที่ตนเองไม่มีพลังสติควบคุมไว้ให้สงบ จิตก็เลยได้โอกาสสร้างนิมิตให้เห็นเป็นภาพปราสาท พระราชวัง ภูเขา ทุ่งหญ้า ดอกไม้ที่มีสีสรรค์ และทิวทัศน์สวยสดงดงาม

ทำให้ผู้ปฏิบัติหลงทางออกไปเพลิดเพลิน ติดอยู่กับนิมิตเหล่านี้ และปฏิบัติไม่ก้าวหน้า เพราะไม่ได้สลัดนิมิตทางใจเหล่านี้ทิ้งเสีย,เท่านั้น

ถ้าสลัดนิมิตทางใจทิ้งเสียได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว ก็ย่อมพบ จิตตัวใน อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ ที่สงบถึงขีดสุดตามสภาพเดิมที่แท้จริงได้

🌷 สุญญตวิโมกข์

เมื่อได้ปฏิบัติสัมมาสมาธิจนถึงฌานที่ ๔ แล้ว จิตมีพลังสามารถแยกตัวออกจากอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ได้อย่างสิ้นเชิง และเป็นคนละส่วน จนสามารถปฏิเสธอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ทั้งปวง ว่า ไม่เที่ยง (อนิจฺจํ) เป็นทุกข์ (ทุกฺขํ) ไม่ใช่สภาพเดิมของตนเอง (อนตฺตา) โดยปราศจากความสงสัย

อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ ก็ดับไปหมดสิ้น คงมีแต่สภาวะของจิตที่รู้อยู่ว่าว่างจากอารมณ์ และไม่มีนิมิตหมายอันใดเหลืออยู่ ที่จะทำให้ยึดถืออารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ ว่าเป็นสภาพเดิมของตนเอง (อัตตา) อีกต่อไป, เท่านั้น

ทั้งนี้มิได้หมายความว่า จิตหายไปหรือไม่มีตัวตน แต่ประการใด สภาวะดังกล่าวนี้ จะต้องเกิดขึ้นจากความพากเพียรฝึกฝนปฏิบัติสัมมาสมาธิ เพื่อให้จิตบรรลุถึงฌานที่ ๔ มิใช่นึกเอาเองลอยๆ ก็จะบรรลุถึงสภาวะเช่นนี้ได้ (จิตไม่เคยดับตายหายสูญไปไหนเลย)

เราเรียกสภาวะที่จิตว่างจากอารมณ์ทั้งปวงว่า สุญญตา

และเรียกจิตว่าพ้นจากการถูกอารมณ์ปรุงแต่งเป็น วิโมกข์ คือ

๑. อนิมิตตวิโมกข์ พ้นจากนิมิตหมายที่เห็นว่าอารมณ์เที่ยง
๒. อัปปณิหิตวิโมกข์ พ้นจากการเข้าไปมีที่ตั้งว่าอารมณ์เป็นสุข
๓. สุญญตวิโมกข์ พ้นจากการเห็นว่าอารมณ์เป็นอัตตา

จิตที่บรรลุถึงสภาวะสุญญตานี้ เป็นสภาพเดิมของตนเองที่มีพลังเป็น จิตที่ควรแก่การงาน (กมฺมนิโย จิตฺตํ) ต่างๆ และเป็นสภาพที่ไม่มีการดับตายหายสูญไปไหน กล่าวคือ รู้อยู่ทุกกาลสมัย

ประตูทุคติย่อมปิดตายสำหรับผู้ปฏิบัติและรักษาไว้ได้ จึงดีกว่าผู้ที่สนใจสร้างแต่ถาวรวัตถุหลายร้อยเท่า สติของผู้ปฏิบัติสัมมาสมาธิย่อมมั่นคง ว่องไว และ ไม่หลงลืมอะไรง่ายๆ สภาพหลงๆ ลืมๆในวัยสูงอายุย่อมไม่ปรากฏ ผู้ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ ก็จะมีความทรงจำในวิชาความรู้ได้ดีอย่างยิ่ง

ผู้ที่อ่านตำรามาอย่างเดียว ย่อมคิดเอาเองว่า สภาวะสุญญตานี้ว่างๆ ไม่มีตัวตน – สัตว์ – บุคคล – เรา – เขา อยู่เลย ผู้ที่นึกคิดเองเช่นนี้ ย่อมไม่รู้จักสภาพเดิมของตนเองเพราะขาดความเฉลียวใจ

อุปมาดั่งการใช้คนโง่ให้เข้าไปตรวจดูห้องโถงห้องหนึ่งที่ไม่มีใครอยู่ที่นั่นในขณะนั้น ว่ามีคนอยู่หรือไม่ คนโง่คนนั้นก็ย่อมบอกผู้ใช้ให้เข้าไปดูอย่างหน้าตาเฉยว่า ไม่มีคนอยู่ในห้องโถงเลยสักคน คนที่โง่ด้วยกันก็พากันเชื่อว่าเป็นความจริง แต่ผู้มีสติปัญญาย่อมไม่เชื่อคำบอกเล่า อันนั้น

เพราะคนเข้าไปดูนั้นลืมนับตัวเองว่า ตัวเองก็คือ คนที่อยู่ในห้องโถงด้วยเหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด

จิตที่บรรลุถึงสภาวะสุญญตาแล้ว โดยเฉพาะในขณะที่ดำรงอยู่ในสภาวะนี้เท่านั้น ที่ไม่แสดงความติดข้องอารมณ์ เพราะมีพลังสลัดอารมณ์ต่างๆ ออกหมดชั่วขณะ แต่ถ้าสภาวะเช่นนี้เสื่อมไปเสีย จิตดวงนี้แหละที่เป็นสัตว์ – บุคคล ที่ติดข้องอยู่ในอารมณ์ ดังนั้น จิตผู้บรรลุสภาวะสุญญตานี้แหละยังเป็นสัตว์ – บุคคล เพราะเป็นเพียงฌานที่ ๔ เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อ่านตำรามาอย่างเดียว แล้วคิดเอาเองว่า ไม่มีสัตว์ – บุคคล – ตัวตน – เรา – เขา จึงลืมนับตัวเองว่า เป็นสัตว์ – บุคคล และกลายเป็นผู้ที่เห็นผิดจากความเป็นจริงไป ข้อนี้ก็ฉันนั้น นั่นคือ จิต ก็คือ สัตว์บุคคล จนกว่าจะย่างเข้าสู่นิโรธ

กล่าวตามข้อเท็จจริงแล้ว สภาวะของจิตที่ติดข้องอารมณ์ทั้งปวงที่ทยอยเข้ามากระทบโดยลำดับนั้น เป็นสภาวะที่ได้สั่งสมมาตลอดเวลาในอดีตอันยาวนานแล้ว ถ้าไม่พากเพียรรักษาสภาวะสุญญตานี้ไว้ จิตย่อมปรุงแต่งไปตามอารมณ์เหล่านั้นอย่างไม่มีปัญหา

ดังนั้น จึงต้องพากเพียรปฏิบัติสัมมาสมาธิให้ชำนาญ เพื่อจำทางเดินของจิต ให้เข้าสมาธิถึงสุญญตวิหารให้ได้อย่างแม่นยำ

จิตที่บรรลุถึงสภาวะสุญญตา แยกตัวออกจากอารมณ์ทั้งปวงด้วยอำนาจสัมมาสมาธิ จัดเป็นเจโตวิมุตติ คือ เข้าสู่เขตติดต่อระหว่างโลกียะกับโลกุตตระ (ซึ่งฝ่ายพระอภิธรรม เรียกว่า โคตรภู)

ถ้าหากปฏิบัติต่อไปอีก ด้วยความพากเพียร และเต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะแล้ว สัมมาสังกัปปะซึ่งเป็นมรรคองค์สุดท้าย ก็ย่อมทำหน้าที่ปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ ที่เข้ามากระทบเฉพาะหน้าตามลำดับ จัดเป็น ปัญญาวิมุตติ ในพระศาสนา

🌷 อัญญาวิโมกข์ (จิตหลุดพ้นเพราะรู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง)

เมื่อผู้ปฏิบัติสัมมาสมาธิ พากเพียรปฏิบัติจนจิตสงบถึงขีดสุด (ที่ฌาน ๔) สามารถปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ออกไปได้อย่างคล่องแคล่วทันการ ก่อนที่จะถูกอารมณ์ปรุงแต่งให้เสียคุณภาพอันประภัสสรผ่องใสไปได้ตลอดเวลา

เป็น จิตที่ตั้งมั่น (อเนญฺโช) อยู่ได้โดยลำพังตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาอารมณ์หรือสิ่งอื่นที่อยู่ภายนอก เรียกอีกอย่างว่า จิตหลุดพ้นเพราะรู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง (อัญญาวิโมกข์) เข้าถึงสภาพเดิมของตนเองอันไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ และไม่ตาย ซึ่งเรียกว่า รู้จักอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ

อันเป็นนิมิตหมายว่า ได้ย่างเข้าสู่สภาวะของจิตที่เป็นผืนเดียวกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว จิตหลุดพ้นนี้ เป็นเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานี้ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกสภาพจิตเช่นนี้ว่า ถึงพระนิพพานนั่นเอง

ผู้ปฏิบัติจะต้องจำทางเดินของจิตให้แม่นยำ และพร้อมที่จะเข้าถึงภาวะที่จิตสงบถึงขีดสุดได้อีกทุกขณะที่มีอารมณ์เข้ามากระทบ โดยผู้ปฏิบัติต้องมีความชำนาญในการทำลมหายใจให้ละเอียดประณีตอยู่เสมอ

กล่าวคือ มีสติตามรู้ตามเห็นลมหายใจ จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลมหายใจของตนเองอย่างไม่ขาดสาย ไม่เปิดโอกาสให้อารมณ์เข้าปรุงแต่งจิตได้เลย

เมื่อจะทำกิจการทางกาย ทางวาจา หรือนึกคิดทางใจ อย่างใดก็ตาม และเมื่อเสร็จกิจการงาน ก็นำจิตกลับเข้าสู่วิหารธรรมอันสงบ ด้วยการทำลมให้ละเอียดประณีตขึ้น จนเป็นจิตหลุดพ้นได้อย่างคล่องแคล่วได้โดยไม่มีปัญหาอะไร เพราะรู้จักทางเดินของจิตดีแล้ว

หรืออาจกล่าวได้ว่า จิตหลุดพ้นนี้ เป็นจิตที่มีพลังประหารกิเลสให้ดับไปหมดสิ้น และสามารถควบคุมความรู้สึกนึกคิดมิให้เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมได้ จนนามกาย หรือโอปปาติกะ หรือที่เรียกว่า กายทิพย์ หมดกำลัง ถึงขั้นแตกแยกออกอย่างสิ้นเชิง และไม่สามารถสร้างภพ สร้างชาติ สร้างทุกข์ ให้แก่ตัวเองต่อไปอีกแล้วด้วย

ผู้ปฏิบัติจะต้องทำและจำให้แม่นทุกขณะตลอดชีวิต มิใช่ว่าพอเลิกปฏิบัติในครั้งหนึ่งๆแล้วก็เลิกกันอย่างสิ้นเชิง และพอจะปฏิบัติอีก ก็ต้องเริ่มต้นกันอีกทุกครั้ง ดังที่กำลังปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า คือ ไม่ทันอารมณ์ที่เข้ามากระทบเฉพาะหน้า

มีพุทธพจน์ที่มาใน จูฬนิเทศ ข้อ๔๔๕ ขุททกนิกาย แห่งพระสูตร เล่ม ๓๐ ตรัสไว้ดังนี้ คือ :

“อุเปกฺขา สติ สงฺสุทฺธํ ธมฺมตกฺก ปุเรชวํ อญฺญาวิโมกฺขํ สํ พฺรูมิ อวิชฺชายปฺปเภทนํ” แปลว่า “เมื่อมีความวางเฉย สติบริสุทธิ์ดีแล้ว จงตรึกถึงธรรม (อารมณ์) ที่จะมีมาข้างหน้า เรากล่าวว่า นั่นเป็นเครื่องทำลายอวิชชา”

หมายความว่า ตั้งแต่รู้วิธีทำให้จิตหลุดพ้นจากอารมณ์ได้แล้ว ต่อจากนี้ไป เป็นเรื่องของการใช้ปัญญาที่ได้รับการอบรมให้มีขึ้นแล้วจากการปฏิบัติสมาธิ ที่จะปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายกับความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้นให้ได้ทุกขณะ เท่านั้น ไม่ว่าจะผ่านเข้ามาสู่จิตทางหนึ่งทางใดก็ตาม เพียงแต่รู้แล้วก็วางเฉยเป็นอุเบกขา จิตก็ย่อมสงบตามตลอดไปทุกอารมณ์

เมื่อทำเช่นนี้แล้ว อารมณ์และอาการของจิตทั้งหลายที่ทำให้จิตกระเพื่อมไหวย่อมดับไปเองเป็นธรรมดา

อนึ่ง ผู้ปฏิบัติพึงสังเกตว่า สมาธิ กับ ปัญญา นี้ จะเป็น อัญญะมัญญะปัจจัย ซึ่งกันและกัน (คือ ต่างก็อาศัยกันเกิดขึ้น) เสมอ

เราเรียกจิตที่ไม่กระเพื่อมไหวหรือไม่ซัดส่ายหวั่นไหวไปตามอารมณ์ว่า สมาธิ
และเรียกจิตที่สามารถปล่อยวางอารมณ์ออกไปเสียได้ว่า ปัญญา
ซึ่งจะมีพลังมากหรือน้อย ย่อมแล้วแต่ความคล่องแคล่วที่ฝึกมา

🌷 สมาธิที่มีโดยธรรมชาติ, ไม่มี

กล่าวตามสภาวธรรมแล้ว จิตนี้มีความปราดเปรียว ว่องไวต่อการรับอารมณ์มาก เพราะได้รับการสั่งสมอบรมมาในอดีต รับอารมณ์อย่างหนึ่งแล้วก็เปลี่ยนไปรับอารมณ์อื่นต่อไปตามลำดับ เพื่อแสวงหาอารมณ์ที่ดีกว่ามาครอบครอง

ครั้นได้รับอารมณ์ที่ดีกว่ามาแล้ว ก็ต้องการเปลี่ยนไปรับอารมณ์ที่ประณีตอื่นอีก จึงไม่อาจรับอารมณ์อันเก่าไว้ตลอดกาล จิตจึงซัดส่ายไปตามอารมณ์โดยธรรมชาติ ดังนั้น ผู้ที่กล่าวว่า สมาธิมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ จึงเข้าใจผิดพลาดทีเดียว

มีพระบาลีในจิตตวรรค แห่งพระธรรมบท รับรองไว้ดังนี้

“ผนฺทนํ จปลํ จิตฺตํ ทุรกฺขํ ทุนฺนิวารยํ อุชุ กโรติ เมธาวี อุสุกาโร ว เตชนํ แปลว่า ผู้มีปัญญาย่อมทำจิตที่ดิ้นรน กลับกลอก รักษายาก ห้ามยาก ให้ตรงได้ เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรงได้ ฉะนั้น”

ทั้งนี้ความหมายชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่า จะต้องพากเพียรฝึกจิตที่ดิ้นรนกลับกลอกนี้ ให้มีสมาธิขึ้น จะนึกคิดเอาเองว่าให้จิตเป็นสมาธิ หรือเข้าใจว่าจิตมีสมาธิอยู่แล้วโดยธรรมชาติเป็นขณะๆ ไม่ได้เลย

🌷 ความตั้งใจทำงาน,ไม่ใช่สมาธิ

ในปัจจุบัน ผู้ศึกษาธรรมะเป็นอันมาก แยกไม่ออกว่าสภาวธรรมของความตั้งใจทำงาน กับ สมาธิ นั้น แตกต่างกันอย่างไร ก็เลยเข้าใจว่าเหมือนกัน จึงเกิดความสับสนขึ้นเป็นอันมาก

เมื่อเห็นว่า ทั้งสองอย่างเหมือนกันแล้ว ก็เลยเข้าใจและเห็นเลยออกไปว่า เพียงแต่ตั้งใจวิ่งเล่นเท่านั้น ก็มีสมาธิ เช่นเดียวกับสมาธิของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกัน

และเมื่อเห็นว่าสมาธิเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ใครจะตั้งใจทำงานอะไรขึ้นมา หรือนั่งฟังเพลง ก็ว่านั่นเขามีสมาธิอยู่แล้ว จึงทำงานนั้นๆ สำเร็จ หรือฟังเพลงรู้เรื่อง ใครกำลังนั่งคิดฝันหวานเรื่องอะไรอยู่ ก็ว่านั่นเขามีสมาธิอยู่ จึงนั่งคิดเรื่องนั้นๆ อยู่คนเดียวได้ ดังนี้เป็นต้น

ด้วยความเข้าใจผิดเช่นนี้ จึงพากันละเลยการปฏิบัติสัมมาสมาธิ ทั้งนี้เพราะไม่เห็นความสำคัญ เมื่อไม่ปฏิบัติสัมมาสมาธิ จิตย่อมไม่มีพลังปล่อยวางอารมณ์ที่เข้ามากระทบ จึงย่อมถูกปรุงแต่งให้หวั่นไหวซัดส่ายตามอารมณ์ไปด้วย เป็นธรรมดา

🌷 สมาธิหลับตา หรือ ลืมตา

ในปัจจุบันนี้ ได้มีความเห็นขัดแย้งในหมู่นักธรรมะ เรื่องปฏิบัติสมาธิ ต้องหลับตา หรือ ต้องลืมตา กล่าวคือ

ฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่า ต้องลืมตาจึงจะรู้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร และเกิดปัญญาขึ้นได้

อีกฝ่ายหนึ่งก็มีความเห็นว่า ต้องหลับตาเพื่อตัดอารมณ์ที่พากันเข้ามาทางตาเสียก่อน จึงคงปฏิบัติสมาธิ เพื่อตัดความรู้สึกที่เกิดจากความนึกคิดเพียงด้านเดียว ทำให้จิตสงบได้ง่ายขึ้น

ในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติสมาธิจงกรม อยู่ในโรงกระเดื่อง เมืองอาตุมา และได้มีสายฟ้าผ่าชาวนาสองคนกับโคพลิพัทสี่ตัวตาย แถวใกล้ๆ กันนั้น ฝูงชนได้พากันมากราบทูลถามว่า ทรงเห็นหรือได้ยินฟ้าผ่าหรือไม่ พระองค์ได้ทรงกล่าวตอบว่า ไม่เห็นและไม่ได้ยิน ทั้งๆ ที่ตื่นอยู่และความทรงจำยังดีอยู่

ฝูงชนเหล่านั้นจึงเกิดเลื่อมใสในวิหารธรรม (ที่ตั้งของจิต) อันสงบของพระองค์ ว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์ ถึงกับกราบทูลถวายผ้าเนื้อทองสิงคีสองผืนสำหรับทรงใช้ด้วย

ทั้งนี้แสดงว่า ในขณะที่ทรงปฏิบัติสมาธิจนจิตสงบอยู่นั้น พระพุทธองค์ได้ทรงหลับตาอย่างมิต้องสงสัย จึงไม่เห็นฟ้าผ่าชาวนาสองคนและโคพลิพัทสี่ตัวตาย ดังนั้นการปฏิบัติสมาธิจึงจำเป็นต้องหลับตาอย่างแน่นอน

การที่มีผู้เห็นว่าเวลาปฏิบัติสมาธิต้องลืมตา โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อให้รู้เห็นอะไรๆ ตามที่เป็นจริงนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจาก ดูตำราธรรมะของเว่ยหล่างที่ใช้ปัญญาตัดอารมณ์อย่างฉับพลัน หรือดูตำราปัญญานิเทศในคัมภีร์พระอภิธรรม ซึ่งได้ละคำว่าสมาธิไว้ในฐานที่เข้าใจ เพราะได้กล่าวมาอย่างละเอียดก่อนหน้านี้แล้ว

เพียงแต่นำผลของการปฏิบัติสมาธินั้น ไปใช้ตัดอารมณ์ที่เข้ามาทางช่องทางทั้ง ๖ (ซึ่งเรียกว่า วิปัสสนา) ซึ่งเป็นขณะที่ลืมตาอยู่ โดยไม่ให้จิตถูกปรุงแต่งเลย, เท่านั้น

ดังนั้น ที่พระพุทธองค์ทรงออกจากสมาธิ แล้วจึงสนทนากับฝูงชนข้างต้นนั้น ทรงลืมตาอย่างมิต้องสงสัย กล่าวคือ ทรงเปลี่ยนจากการปฏิบัติสมาธิ แล้วทรงติดต่อสนทนากับฝูงชน โดยใช้พระสติแทนสมาธิ เพื่อมิให้จิตหวั่นไหวไปกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น

จึงสรุปได้ว่า ในขณะที่ปฏิบัติสมาธินั้น เป็นขณะที่ฝึกตัดอารมณ์ทางความนึกคิดเพียงอย่างเดียว จึงต้องหลับตาเพื่อตัดอารมณ์ชั้นนอกที่เข้ามารวม ๕ ทางออกเสีย เพื่อศึกษาวิธีตัดอารมณ์ชั้นในเพียงทางเดียวเท่านั้น

แต่ในขณะที่ใช้ผลของการปฏิบัติสมาธิ คือ วิปัสสนา นั้น เปลี่ยนเป็นใช้สติแทนเพื่อรองรับอารมณ์ชั้นนอกโดยให้จิตตั้งมั่นอยู่ได้ จึงต้องลืมตาเป็นธรรมดา

🌷 ความสับสนในการใช้ปัญญาตัดอารมณ์โดยฉับพลัน

ในการสนทนาธรรมในที่ต่างๆ หลายแห่ง เช่น ในพระอภิธรรมก็ดี ลัทธิฮวงโปก็ดี ลัทธิเว่ยหล่างก็ดี ในสำนักปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาหลายๆ แห่งก็ดี ที่กล่าวกันว่า สมาธิเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติให้เสียเวลาอ้อมค้อม สู้ปฏิบัติวิปัสสนาโดยตรงหรือใช้ปัญญาตัดอารมณ์ฉับพลันไม่ได้นั้น

ขออธิบายให้ชัดเจนไว้ ณ ตรงนี้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติวิธีปล่อยวางอารมณ์เพื่อให้พ้นทุกข์ไว้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สำหรับให้ชาวพุทธได้ถือปฏิบัติตามเสด็จรวม ๓ ประการนี้ จะขาดการปฏิบัติข้อหนึ่งข้อใดเสียนั้น ย่อมไม่ได้เลย

ดังนั้น ผู้ที่เห็นว่าสมาธิไม่จำเป็น ย่อมกล่าวด้วยความเข้าใจผิด ที่ไปรู้เห็นการปฏิบัติปล่อยวางอารมณ์แบบฉับพลันของลัทธิเว่ยหล่าง หรือลัทธิฮวงโป หรือสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ ที่ผ่านการปฏิบัติสมาธิมาจนชำนาญเป็นวสีแล้ว

แต่ไม่ได้เห็นขณะที่เขากำลังปฏิบัติสมาธิอย่างขะมักเขม้น ก็เลยเหมาเอาว่า สามารถปฏิบัติโดยวิธีใช้ปัญญาแบบฉับพลันได้ จึงละเว้นการปฏิบัติสมาธิเสีย อย่างน่าเสียดาย ซึ่งย่อมส่งผลให้การปฏิบัติธรรมล้มเหลวในที่สุด

🌷 การนำผลของการปฏิบัติสมาธิไปใช้ (วิปัสสนา)

คำว่า วิปัสสนา เป็นคำที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน วิปัสสนาก็คือ การนำผลของการปฏิบัติสมาธิมาใช้ หรือก็คือ การปฏิบัติในขั้นปัญญาสิกขา ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของสมาธิ แต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจ และไม่กล่าวซ้ำถึงวิธีปฏิบัติสมาธิอีก

หมายความว่า ในการฝึกปฏิบัติสมาธินั้น ผู้ปฏิบัติต้องปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ ออกไปจนหมดสิ้น จิตจึงจะสงบ

ดังนั้น ถ้ายิ่งฝึกให้มากขึ้นแล้ว ผู้ปฏิบัติก็ย่อมสั่งสมความคล่องแคล่ว ในการปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ ได้มากขึ้นตามลำดับ เช่นเดียวกันด้วย

ส่วนการฝึกปฏิบัติวิปัสสนา หรือ การปฏิบัติในขั้นปัญญานั้น ผู้ปฏิบัติเพียงแต่นำความคล่องแคล่วที่ฝึกไว้แล้ว เอามาใช้ปล่อยวางอารมณ์ที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รวม ๕ ทาง และทำให้จิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เช่นเดียวกับขณะที่ฝึกปฏิบัติสมาธิก่อนหน้านี้เหมือนกัน

🌷 วิปัสสนาขึ้นอยู่กับการกำหนดนิมิตแห่งจิตได้เร็ว

คำว่า “กำหนดนิมิต” (ที่หมาย) ก็คือ การยกจิตขึ้นเพ่งดู ติดตามดูเนืองๆ ณ ฐานที่ตั้งสติที่ได้อุปโลกน์ไว้ จนชำนาญคล่องแคล่ว ดังที่เรียกว่า สมาปัชชนวสี นั่นเอง

คำว่า “กำหนดนิมิต (ที่หมาย) แห่งจิตได้เร็ว” ก็คือ สร้างความชำนาญคล่องแคล่วที่จะสลัดเรื่องราว (อารมณ์) ต่างๆออกไป โดยการยกจิตของตนให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ณ ฐานที่ตั้งสติโดยไม่เสียเวลาเลย

ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับอัคคิเวสนะว่า

“ดูก่อนอัคคิเวสนะ ก่อนหน้านี้ จิตของเราตั้งอยู่ในสมาธินิมิตอะไร เมื่อเรากล่าวคาถานี้จบ เราก็สามารถตั้งมั่นอยู่ในสมาธินิมิตนั้นได้ทันที”

หมายความว่า พอตรัสพระคาถาเสร็จ พระองค์ก็ทรงนำจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิได้อย่างเดียวกับ ก่อนที่จะตรัสพระคาถานั้นทันที ด้วยความคล่องแคล่วเป็นวสี พระองค์ยังได้ตรัสต่อไปอีกว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้เฉียบแหลม เมื่อได้ติดตามดูกายในกาย ดูเวทนาในเวทนา ดูจิตในจิต ดูธรรมในธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสติ สัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ จิตของเธอย่อมเป็นสมาธิ เธอย่อมละอุปกิเลสทั้งหลายได้ และย่อมกำหนดนิมิตแห่งจิตได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลมนั้น ย่อมได้สมาบัติอันเป็นธรรมเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน ย่อมมีสติ สัมปชัญญะ ข้อนี้เป็นเพราะเหตุใด ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นเพราะ ภิกษุนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม กำหนดนิมิตแห่งจิตของตนได้”

จากพุทธดำรัสข้างต้น เราจะเห็นว่า การกำหนดนิมิตแห่งจิตเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด ที่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจะต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างคล่องแคล่วทุกขณะ กล่าวคือยกจิตเข้าไปตั้งไว้ ณ จุดหมายที่ได้อุปโลกน์ไว้โดยเร็ว และประคองไม่ให้แลบหนีออกไปสู่อารมณ์ใดๆ ได้อีก

สำหรับกรณีของผู้ปฏิบัติ อานาปานสติ ก็คือ เปลี่ยนจากอารมณ์หรือเรื่องราวเฉพาะหน้า ไปเพ่งดูลมหายใจเข้าออกแทน และคอยระวังไม่ให้จิตแลบกลับคืนไปสู่เรื่องนั้นๆหรือเรื่องที่จะนึกคิดอย่างอื่นได้อีก

ความจริงมีอยู่ว่า ถ้าสามารถประคองจิตให้รู้ชัดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ณ จุดลมกระทบกับช่องจมูกแล้ว เรื่องที่สลัดทิ้งไปหรือมโนภาพอื่นใด จะเกิดแทรกเข้ามาไม่ได้เลย

🌷 เจโตสมาธิ

เจโตสมาธิ หมายถึง สมาธิที่นำจิตให้หลุดพ้นจากการครอบงำปรุงแต่งของอารมณ์ทั้งหลาย ดังที่ได้บรรยายมาแล้วนั่นเอง ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น เพราะจิตปล่อยวางอารมณ์ทุกชนิดออกไปโดยไม่มีนิมิตหมายใดๆ เหลืออยู่เลย

ดังนั้น จึงแตกต่างจากสมาธิของศาสนาพราหมณ์ ที่ฝึกให้ยึดอารมณ์ที่ได้กำหนดไว้ให้แนบแน่นเพียงอารมณ์เดียวเท่านั้น กล่าวคือ สมาธิในพุทธศาสนา อบรมจิตให้ว่าง เป็นสุญญตา แต่สมาธิในศาสนาพราหมณ์ อบรมจิตให้ยึดอารมณ์อันใดอันหนึ่งไว้ให้แนบแน่นเป็นเอกัคคตา

🌷 วิธีบรรลุเจโตสมาธิ

๑. อาศัยความตั้งมั่นแห่งจิต คือ อยู่กับฐานที่ตั้งสติ (สัมมาสมาธิ)
๒. อาศัยความประกอบเนืองๆ จนจำทางได้แม่นยำชำนาญ (วสี)
๓. มนสิการโดยชอบ คือ ทำลมหายใจประกอบด้วยไม่ว่าจะเข้าหรือออกจากสมาธิ (โยนิโสมนสิการ)
๔. ความไม่ประมาท คือ ใช้สติกำกับอยู่ตลอดเวลาที่ประกอบการงานตามหน้าที่ โดยไม่ให้คลาดเคลื่อนออกไปอยู่ที่อื่นเลย (อัปปมาทธรรม)

🌷 ๑. สัมมาสมาธิ (จิตตั้งมั่นชอบ)

หลักธรรมสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ก็คือ สัมมาสมาธิ ในมรรคมีองค์ ๘ กล่าวคือ ทำให้จิตสลัดอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ออกไปอย่างสิ้นเชิงเป็น สัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นอยู่ด้วยตัวของตัวเอง สงบสันติถึงที่สุดเป็นจิตตัวใน

ดังพระบาลีว่า “อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ, สนฺติ เมวา ธิคจฺฉติ แปลว่า เมื่อปฏิบัติเข้าถึงจิตตัวในแล้ว ย่อมเข้าสู่ความสงบ”

ซึ่งมีสภาวะตรงกันข้ามกับ จิตที่ไม่สงบ วุ่นวาย กระสับกระส่าย เพราะถูกอารมณ์ครอบงำปรุงแต่ง กลายเป็นจิตที่ไม่ตั้งมั่นไป

สมาธิจิต หรือ จิตตั้งมั่น นี้ ยังเป็นธรรมฝ่ายโลกียะอยู่ คือ ยังถูกอริยมรรคปรุงแต่งเพื่อให้หลุดพ้นจากอารมณ์อยู่ ได้แก่คำว่า สม+อธิจิต = สมาธิจิต ซึ่งหมายถึงจิตอันสูงยิ่งด้วยคุณธรรมฝ่ายกุศลที่พร้อมจะเกิดขึ้นที่จิต ดังนั้น จึงไม่เปิดโอกาสให้อกุศลเกิดขึ้นในขณะที่จิตกำลังตั้งมั่นอยู่นี้

รวมความแล้ว จึงกล่าวได้ว่า สมาธิจิตเป็นโลกียธรรม และเป็นคุรุกรรมฝ่ายกุศลอีกด้วย ดังนั้น ถ้าผู้ใดปฏิบัติได้และรักษาไม่ให้เสื่อมจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตแล้ว ก็จะเป็นชนกกรรมนำผู้ปฏิบัติไปเกิดใหม่เป็นพรหม ก่อนกรรมใดๆ ทั้งสิ้น ผู้รู้หลายท่านกล่าวตรงกันว่า สมาธิที่เกิดขึ้นแก่ผู้ใดเพียงชั่วระยะเวลาช้างกระดิกหู หรืองูแลบลิ้นเท่านั้น ก็สามารถช่วยผู้นั้นไม่ให้ไปสู่อบายภูมิได้แล้ว ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่า สมาธินี้มีประโยชน์เป็นอันมาก

ผู้ที่เริ่มลงมือปฏิบัติใหม่ๆ ที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ต่างก็ว่าเป็นเรื่องยากเย็น น่าเบื่อหน่าย ที่จะต้องมานั่งต่อสู้กับความปราดเปรียวของจิตที่ชอบแลบหนีออกไปหาอารมณ์เช่นนี้ ถ้าความตั้งใจไม่เข้มแข็งมั่นคง และความอดทนฝึกแยกจิตออกจากอารมณ์มีไม่สูงแล้ว ก็มักจะเลิกปฏิบัติเสียกลางคัน โดยอ้างว่าไม่มีบุญวาสนาบ้าง ยังไม่ถึงเวลาบ้าง เพื่อที่จะไม่ปฏิบัติต่อไป ดังนั้นจึงนับว่าเป็นผู้พ่ายแพ้อารมณ์ต่อไปอีกตามเดิม คือ ยังเป็นผู้ที่ถูกอารมณ์เข้าครอบงำปรุงแต่งได้อย่างไม่มีที่สุด

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติสมาธิได้สำเร็จนั้น ย่อมนับว่าเป็นผู้ชนะอันยิ่งใหญ่ในโลก ที่ไม่มีผู้ชนะใดเสมอเหมือน เพราะไม่มีการพ่ายแพ้อารมณ์ต่อไปอีก พระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงปราบข้าศึกได้ราบคาบมาแล้วนั้น ก็ยังมีโอกาสรบแพ้ข้าศึกที่ได้ตระเตรียมกำลังกองทัพไว้ดีแล้ว ในภายหลังอีกก็ได้

ดังนั้น ผู้ที่เพิ่มความเพียรพยายามฝึกยกจิตเข้าไปตั้งที่ฐานที่ตั้งสติบ่อยๆ เนืองๆ จนทำได้อย่างชำนาญ เพียงไม่นานนักจิตก็จะเป็นสมาธิ และได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะตนเองอย่างน่าภาคภูมิที่สุด เพราะพ้นจากการถูกอารมณ์ครอบงำได้ตลอดไป

ด้วยเหตุนี้ ผู้ปฏิบัติจึงต้องจำทางเดินของจิตที่จะต้องยกออกจากอารมณ์เฉพาะหน้า ให้เข้าไปตั้งอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติไว้อย่างแม่นยำ และปฏิบัติบ่อยๆ เนืองๆ ด้วยความเพียร เพื่อปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง เป็นจิตตั้งมั่นชอบ(สัมมาสมาธิ)อยู่ด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยอารมณ์มาเป็นบาทฐานให้ตั้งมั่นอีกต่อไป

🌷 ๒. วสี (ความคล่องแคล่ว)

คำว่า วสี แปลว่า ผู้ชนะตนเองที่สามารถตัดนิวรณ์ได้เด็ดขาดในเมื่อมีอารมณ์มากระทบจิตทุกอารมณ์

หมายความว่า สามารถควบคุมจิตของตนไม่ให้กระเพื่อมไหวตามอารมณ์ที่เข้ามาครอบงำได้ดี ทุกอารมณ์ รวมทั้งการเข้าและออกจากสมาธิได้อย่างรวดเร็วด้วย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดและขณะใดก็ตาม มีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑. อาวัชชนวสี ชำนาญในการนึกถึงฐานที่ตั้งสติที่เคยปฏิบัติ
๒. สมาปัชชนวสี ชำนาญในการนำจิตเข้าสมาธิอย่างรวดเร็ว
๓. อธิษฐานวสี ชำนาญในการประคองจิตให้เป็นสมาธิได้นานตามที่ต้องการ
๔. วุฏฐานวสี ชำนาญในการออกจากสมาธิอย่างรวดเร็ว
๕. ปัจจเวกขณวสี ชำนาญในการพิจารณาตัวเองว่าตัดการกระเพื่อมไหว ได้เด็ดขาดเพียงใดหรือไม่

การสร้างวสีในการเข้า-ออกสมาธิ

ผู้ที่ศึกษาเรื่องจิตมาแล้ว ย่อมทราบว่าสภาพพื้นฐานที่แท้จริงของจิตนั้น สงบ ประภัสสรผ่องใส และทรงไว้ซึ่งความรู้ตลอดทุกกาลสมัย จิตไม่ใช่ตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวสุข ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ชั่ว และไม่ได้เป็นอะไรในโลกนี้ทั้งสิ้น

ถ้ามีอารมณ์เข้ามากระทบเมื่อใด ทุกข์ สุข ดี ชั่ว จึงจะเกิดขึ้นเมื่อนั้น และปรุงแต่งจิตให้เกิดเป็นสัตว์ เป็นบุคคล โดยสมมุติบัญญัติในภายหลัง ซึ่งจัดว่าเป็นทุกข์ตามมาด้วยพร้อมๆ กัน

แต่ถ้าเปลี่ยนความสนใจอารมณ์ที่กำลังกระทบอยู่เฉพาะหน้า หรือเลิกนึกคิดถึงอารมณ์ปัจจุบันเสีย แล้วไปสนใจดูความเคลื่อนไหวของลมหายใจเข้าออก ณ จุดลมสัมผัส ที่เด่นชัดจุดหนึ่งภายในช่องจมูกแทนเสีย ความวุ่นวาย กระสับกระส่าย ความยินดี – ยินร้าย ซึ่งเป็นตัวทุกข์ ย่อมดับไปจากจิตทันที

ผู้ที่จะเปลี่ยนความสนใจเช่นนี้ได้ จะต้องฝึกปฏิบัติสมาธิโดยวิธีอานาปานสติมาเป็นอย่างดี จนจำฐานที่ตั้งสติได้อย่างแม่นยำและสามารถยกจิตเข้าไปตั้งไว้ได้อย่างชำนาญ ซึ่งจะทำให้สลัดอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดออกไปได้ดีที่สุด

ดังนั้น การเปลี่ยนความสนใจเลิกนึกคิดถึงอารมณ์เสีย แล้วให้ไปสนใจดูความเคลื่อนไหวของลมหายใจ จึงขึ้นอยู่กับความคล่องแคล่วในการนำจิตเข้าสู่ความสงบเป็นสมาธิอย่างรวดเร็ว ดังตัวอย่างที่มีผู้ไปเฝ้ากราบทูลถามพระพุทธองค์ในเรื่องนี้ และได้ตรัสตอบดังนี้

“ดูก่อนท่านทั้งหลาย ก่อนหน้านี้เราเคยอยู่ในวิหารธรรมอันสงบอย่างไร เมื่อกล่าวคาถาตอบท่านจบลง เราก็นำจิตกลับเข้าสู่วิหารธรรมอันสงบเช่นเดียวกันนั้น ได้อีกทันที”

ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ทรงมีพระสติอันไพบูลย์ และทรงจำทางเดินของจิตได้แม่นยำ จนสามารถนำกลับเข้าสู่วิหารธรรมอันสงบได้อย่างคล่องแคล่ว หลังจากที่ได้ทรงเทศนาโปรดผู้ที่ได้เข้าเฝ้าเสร็จเรียบร้อยแล้วทันที

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติสมาธิจึงต้องจำวิธีวางจิต หรือ อีกนัยหนึ่งเรียกว่า จำทางเดินของจิตไว้ให้แม่นยำ ทุกครั้งที่ยกจิตเข้าไปตั้งไว้ ณ ฐานลมหายใจกระทบ พร้อมกับหยุดทำลมให้ละเอียดด้วยเสมอไป แล้วจึงประคองจิตไม่ให้แลบหนีออกไปอยู่กับอารมณ์อื่นๆ ได้อีกด้วยอุบายอันแยบคาย จนกระทั่งจิตสงบเป็นสมาธิถึงขีดสุด

ถ้าจิตแลบหนีออกไปอยู่ที่อื่น ก็ให้ดึงจิตกลับมาตั้งที่ฐานดังกล่าวให้ได้ ตามความประสงค์ทุกครั้ง จิตก็จะค่อยๆ เชื่องและสงบเป็นสมาธิในที่สุด

ผู้ที่ฝึกปฏิบัติสมาธิ ควรทราบไว้ล่วงหน้าว่า การดึงจิตกลับมาตั้งที่ฐานลมกระทบทุกครั้ง จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดพลังปัญญาที่จะสลัดอารมณ์ออกไปจากจิต เพิ่มมากขึ้น ทุกครั้งที่ดึงจิตให้กลับเข้าสู่ฐานลมกระทบ

ดังนั้น จึงเป็นงานที่มีค่าควรแก่บุคคลทุกชั้นที่จะพยายามปฏิบัติอย่างยิ่ง การเบื่อหน่ายแล้วเลิกปฏิบัติเสียกลางคันนั้น เป็นเรื่องของผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่เปรียบเสมือนผู้นั้นปิดประตูกั้นประโยชน์ที่จะได้รับเสียเองโดยตรงทีเดียว ผู้ที่เลิกปฏิบัติสมาธิเสียแล้ว จะไม่มีทางนำตนเองให้เข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแน่นอน

ผู้ที่สามารถนำจิตเข้าไปตั้งไว้พร้อมกับประคองให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่ฐานลมกระทบ ได้สำเร็จ จิตย่อมไม่กระเพื่อมไหว (คือ นิวรณ์ดับ) ซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถทำจิตให้สงบเป็นสมาธิสูงขึ้นอีก และเมื่อทำจิตให้สงบถึงขีดสุดแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอารมณ์ที่จะครอบงำปรุงแต่งให้เสียคุณภาพได้อีกต่อไป บุคคลผู้นี้ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ชนะตนเองโดยเด็ดขาด อย่างที่ไม่มีโอกาสกลับกลายเป็นผู้แพ้อีกต่อไป

นับตั้งแต่นิวรณ์ดับ จิตจะเริ่มเป็นสมาธิทันที ผู้ปฏิบัติอย่าเพิ่งรีบทำจิตให้สงบลึกลงไปกว่านี้อีก แต่ให้ซ้อมถอยออกมาสู่ความไม่สงบ ด้วยการถอนลมหายใจให้ค่อยๆหยาบเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อย แล้วจึงนำจิตกลับเข้าสู่ความสงบให้ได้อีกครั้ง โดยใช้ความสังเกตและระวังไว้ตลอดเวลา เพื่อจำทางเข้าสมาธิไว้ให้ได้อย่างแม่นยำ

ผู้ปฏิบัติควรซ้อมทำดังที่กล่าวมานี้สัก ๒ – ๓ ครั้ง ทุกคราวที่ปฏิบัติสมาธิ เพื่อให้จำทางเดินของจิตไว้ได้อย่างคล่องแคล่วและแม่นยำที่สุด จนกระทั่งสามารถทำให้จิตเป็นสมาธิได้ทันทีที่นึกน้อมถึงความสงบขีดสุด โดยไม่เสียเวลาเนิ่นนาน แต่ประการใด

เมื่อจะเลิกปฏิบัติสมาธินั้น ผู้ปฏิบัติควรจะทำอย่างช้าๆ สุขุมเยือกเย็น ด้วยการถอนลมหายใจให้หยาบขึ้นทีละน้อยๆ ตามลำดับ พร้อมกับสังเกตดูจิตอย่างใกล้ชิด เพื่อให้จำทางออกจากสมาธิไว้ให้แม่นยำ อย่าออกจากสมาธิอย่าง รีบร้อน พรวดพราดเป็นอันขาด เพราะจะทำให้จิตซัดส่ายเสียพลังและจำทางเข้าสมาธิไว้ไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เข้าสมาธิครั้งต่อไปยากมาก

ผู้ปฏิบัติควรซ้อมทำดังที่กล่าวมานี้สัก ๒ – ๓ ครั้ง ทุกคราวที่ปฏิบัติสมาธิ

การซ้อมทำดังกล่าวสัก ๒ – ๓ ครั้ง ทุกคราวที่ปฏิบัติสมาธิ เพื่อให้จำทางเข้าออกสมาธิไว้ได้อย่างคล่องแคล่วและแม่นยำที่สุด จนกระทั่งสามารถนำจิตออกจากสมาธิได้ ทันทีที่นึกน้อมถึงการงานที่ต้องทำต่อไปจากนั้น โดยเปลี่ยนเป็นสติกำกับอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้คลาดเคลื่อนเลย

กล่าวโดยสรุปแล้ว การทำลมหายใจให้หยาบขึ้นก็ดี หรือทำลมหายใจให้ละเอียดลงก็ดี ผู้ปฏิบัติจะต้องทำอย่างช้าๆ โดยใช้ความสังเกตอย่างใกล้ชิดว่า เมื่อจะเข้าสมาธินั้นวางจิตอย่างไร จึงจะเป็นสมาธิได้ทันที และเมื่อจะออกจากสมาธินั้น วางจิตอย่างไร จึงจะออกจากสมาธิ และใช้สติกำกับ แทนทันที เพื่อที่จะไม่ให้จิตซัดส่ายดิ้นรนได้แม้แต่น้อย

ผู้ที่จำวิธีวางจิตด้วยการทำลมหายใจให้หยาบหรือละเอียดได้อย่างแม่นยำขนาดที่ว่า เพียงแต่นึกน้อมเท่านั้น จิตก็เป็นสมาธิ หลุดพ้นจากการครอบงำปรุงแต่งของอารมณ์ทันที และ เพียงแต่นึกน้อมเท่านั้น จิตก็ออกจากสมาธิ เพื่อทำการงานอันเป็นประโยชน์แก่ตนและสังคมตามหน้าที่ทันที ย่อมได้ชื่อว่าได้แก้วสารพัดนึกมาไว้ในมือตนเองแล้ว ซึ่งทำให้สามารถเข้าออกสมาธิได้อย่างคล่องแคล่วโดยไม่เสียเวลาแม้แต่น้อย เหมือนดังพุทธดำรัสที่ได้ยกมาอธิบายประกอบในตอนต้นนี้ทุกประการ

🌷 ๓. โยนิโสมนสิการ (การน้อมจิตไปในทางที่ถูก)

ตามธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดแล้ว ลมหายใจจะปรุงแต่งชีวิตของคนและสัตว์ให้ดำเนินสืบต่อไปได้อีกตามลำดับ ดังนั้น ลมหายใจจึงเป็นสังขารธรรมที่เคลื่อนไหวไปมากระทบกับช่องจมูกตลอดเวลา จัดเป็นรูปธรรมฝ่ายหยาบที่กระทบกายเนื้อที่หยาบอย่างเดียวกันได้ ถ้าลมหายใจยังเคลื่อนไหวอยู่ตราบใด ก็ย่อมปรุงแต่งความคิดให้เกิดขึ้นตราบนั้น จิตก็พลอยเคลื่อนไหวกระสับกระส่าย วุ่นวายตามเรื่องราวที่คิดไปด้วย และแสดงอาการยินดียินร้ายควบคู่ไปด้วยเสมอเช่นเดียวกัน

แต่ถ้าใช้ความระมัดระวังด้วยอุบายที่ชอบ (โยนิโสมนสิการ) มีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง ด้วยการยกจิตขึ้นดูลมหายใจเข้าออก ณ จุดสัมผัสเล็กๆ เพียงจุดเดียวภายในช่องจมูก หรือที่ใกล้เคียงกันแล้ว จิตย่อมรวมตัวสงบลงได้โดยลำดับ

เมื่อจิตเริ่มรวมตัวสงบลง ลมหายใจที่เคยเป็นสภาพธรรมที่หยาบ ก็จะประณีตแผ่วเบาเยือกเย็นลง ตามลำดับด้วย ความนึกคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ก็จะลดลง ทำให้จิตลดความวุ่นวายตามความละเอียดประณีตของลมหายใจ ตามลำดับ ถ้าลมหายใจละเอียดจนไม่ปรากฏที่จิตแล้ว เรื่องที่นึกคิด ความรู้สึกยินดียินร้ายทั้งหลาย ก็ย่อมดับหายไปจากจิตด้วย จิตก็สงบเป็นสมาธิทันที ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าลมหายใจยังเคลื่อนไหวอยู่ จิตก็ยังไม่สงบ

เพราะฉะนั้น ปัญหาสำคัญในการปฏิบัติอานาปานสติ ก็คือ ทำลมหายใจให้สงบประณีตลง และปล่อยวางลมหายใจให้หมดไปจากความรู้สึกอย่างคล่องแคล่วด้วย หลังจากที่ยกจิตเข้าสู่ฐานที่ตั้งสติแล้วเท่านั้น

ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องกลั้นลมหายใจแต่ประการใดทั้งสิ้น แต่หมายความว่าผู้ปฏิบัติจะต้องจำประสบการณ์ทางจิตของตนไว้ให้แม่นยำว่า จิตเดินทางเข้าสู่ความสงบอย่างไร? ไว้ทุกครั้ง ในสภาพของลมหายใจแต่ละขณะๆ จนสามารถย่อลมหายใจให้เข้าสู่สภาพละเอียดเมื่อต้องการให้จิตเป็นสมาธิ และขยายลมให้เข้าสู่สภาพหยาบขึ้น เมื่อต้องการให้จิตออกจากสมาธิ ตลอดเวลา

ถ้าจบภารกิจ หรือเมื่อรู้สึกว่า จิตจะแลบหนี หรือกระเพื่อมออกไปวุ่นวายกับอารมณ์ตามธรรมชาติ ก็ให้รีบยกจิตเข้ามาตั้งไว้ ณ จุดนิมิตอันนี้ (พระอรรถกถาจารย์ เรียกว่า อุคคหนิมิต) และย่อลมให้ละเอียด เพื่อให้เกิดสมาธิทันที (พระอรรถกถาจารย์ เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต) ความยินดียินร้ายย่อมดับไปหมดสิ้น การน้อมจิตเช่นนี้ จิตจะไม่เสียคุณภาพอันประภัสสรผ่องใสไปเลย เรียกว่า ใช้โยนิโสมนสิการ

แต่ถ้ากระทบอารมณ์แล้ว ปล่อยจิตให้เพลิดเพลินหลงใหลกระสับกระส่ายวุ่นวายไปตามยถากรรม หรือกำลังลงมือปฏิบัติอยู่ แต่ไม่ระมัดระวังควบคุมให้จิตตั้งมั่น อยู่ ณ ฐานที่ตั้งสติ บ่อยๆ เนืองๆ ปล่อยจิตให้กระเพื่อมไหว แลบหนีออกไปอยู่กับอารมณ์ต่างๆ ก็เรียกว่า ใช้อโยนิโสมนสิการ

สรุปแล้วก็คือ
เมื่อกระทบอารมณ์แล้ว น้อมจิตให้เข้าสู่ฐานที่ตั้งสติบ่อยๆ เนืองๆ เรียกว่า ใช้โยนิโสมนสิการ
ถ้ากระทบอารมณ์แล้ว ปล่อยจิตให้กระเพื่อมแลบออกไปตามยถากรรม ไม่น้อมกลับเข้าสู่ฐานที่ตั้งสติ ก็เรียกว่า ใช้อโยนิโสมนสิการ

🌷 ๔. อัปปมาทธรรม (ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง)

บรรดาคำสั่งสอนทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ทรงประกาศตั้งแต่ได้ตรัสรู้ จนถึงวันเสด็จดับขันธ์สู่พระปรินิพพาน รวมเป็นเวลา ๔๕ ปีนั้น สามารถสรุปลงเหลือเป็นข้อสำคัญได้ คือ อัปปมาทธรรม ซึ่งหมายถึง ความไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง

ดังพระปัจฉิมโอวาท ต่อไปนี้คือ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอกล่าวเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ตามพุทธโอวาทที่ยกมานี้ แสดงว่า อัปปมาทธรรม เป็นข้อสรุปรวมของพระธรรมคำสั่งสอนทั้งหมดในพระศาสนานี้ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเน้นตรงไปที่ การฝึกฝนให้มีสติคอยระวังอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบในชีวิตประจำวันของแต่ละคนโดยเฉพาะ

ทั้งนี้เพราะอารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ชักนำให้คนประพฤติดีก็ได้ ประพฤติชั่วก็ได้ แล้วแต่ว่าจะปรุงแต่งจิตใจให้เกิดความรู้สึกอย่างไร จึงทรงวางหลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ไว้ให้ปฏิบัติ ดังเป็นที่ทราบกันอยู่

หลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักธรรมที่ควรจะนำมาปฏิบัติ เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหายุ่งยากทางสังคมให้หมดไปได้อย่างแท้จริง

เพราะว่าในขณะที่มีอารมณ์มากระทบจิตแต่ละอารมณ์นั้น
ศีล จะควบคุมกายวาจาให้อยู่ในสภาพปรกติ ไม่ประพฤติสิ่งใดให้เป็นที่เดือดร้อนแก่สังคม
สมาธิ จะทำให้จิตใจตั้งมั่น และ
ปัญญา จะสลัดความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นๆ ให้หมดไปโดยลำดับ จนอารมณ์ไม่สามารถปรุงแต่งจิตใจได้ในที่สุด กลายเป็น กระทบก็สักแต่ว่ากระทบ เท่านั้น

การฝึกจิตให้มีพลังถึงขั้นนี้ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยสมาธิเป็นบาทฐานด้วยตลอดเวลา ไม่ว่าอารมณ์จะกระทบเข้ามาทางหนึ่งทางใดก็ตาม

ผู้ปฏิบัติจึงพบความจริงว่า ได้พ้นจากอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดตายตามสภาพของเขาแล้ว ส่วนตัวเองนั้นดำรงสภาพ “รู้” อยู่ตลอดทุกกาลสมัย ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน

ทั้งนี้หมายความว่า สิ่งที่เกิดตายนั้นคือ อารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งภายนอกทั้งหลาย แต่ตัวเองนั้น “รู้” อยู่เสมอว่าทรงสภาพรู้ของตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นหรือตายไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม จึงเป็นผู้ไม่ตายอีกต่อไป ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท

ส่วนผู้ที่ยังยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ซึ่งเป็นของที่เกิดตายอยู่นั้น ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ประมาท ผู้นั้นย่อมรู้สึกว่าตนเองยังต้องหวั่นไหว และพลอยเกิดตายไปกับอารมณ์ภายนอกด้วย ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ได้เกิด และไม่ได้ตายเลยแต่ประการใดทั้งสิ้น

มีพระบาลีในธรรมบทรับรองไว้ ดังนี้ คือ

“อปฺปมาโท อมตํ ปทํ, ปมาโท มจฺจุโน ปทํ, อปฺปมตฺตา น มิยฺยนฺติ เย ปมตฺตา ยถา มตา แปลว่า ความไม่ประมาทเป็นทางอันไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย คนที่ประมาทเหมือนคนที่ตายแล้ว”

ทั้งนี้หมายความว่า ผู้ที่มีพลังสมาธิน้อย จิตย่อมหวั่นไหวตามอารมณ์ไปด้วย อัปปมาทธรรมก็ย่อมไม่มีที่จิตของผู้นั้น ถ้าปรารภสิ่งใดขึ้นมาเป็นอารมณ์ก็ตาม เช่นนึกถึงรูปร่างกายขึ้นมา เป็นต้น ก็เข้าใจว่าตัวเองเกิดมาพร้อมกับร่างกาย พอร่างกายแก่หรือตาย ก็เข้าใจว่าตัวเองแก่หรือตายตามร่างกายไปด้วย โดยถือเอาร่างกายเป็นหลักเกณฑ์

แต่ผู้ที่มีพลังสมาธิมาก ย่อมรู้ชัดว่าตัวเองคือผู้ทำหน้าที่รู้เรื่องราวต่างๆ เช่น เมื่อปรารภถึงร่างกาย เกิดขึ้นก็รู้ ผมหงอก – ฟันหัก – เนื้อหนังเหี่ยวย่นแล้วก็รู้ เป็นต้น ครั้นเมื่อปรารภถึงลมหายใจขึ้นมา ลมหายใจเกิดขึ้นก็รู้ ลมหายใจดับไปก็รู้ ดังนี้ เป็นต้น

มีพุทธพจน์ที่ตรัสกับพระราหุลยืนยันอยู่ชัดเจน ดังนี้

“เอวํ ภาวิตาย ราหุล อานา ปานสฺสติยา, เอวํ พหุลีกตาย, เยปิ เต จริมกา อสฺสาส ปสฺสาส, เตปิ วิทิตา นิรุชฺฌนฺติ โน อวิทิตาติ แปลว่า ดูก่อนราหุล เมื่ออานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าทั้งหลาย เหล่านั้น อันใดอันจะมีในเวลาตาย แม้ลมเหล่านั้นจะดับก็รู้ได้ จะดับโดยไม่รู้ หามิได้เลย”

🌷 คำบริกรรมที่ใช้ในการปฏิบัติสมาธิ

โดยทั่วไปแล้ว ในปัจจุบันนี้ แต่ละสำนัก แต่ละอาจารย์ ได้คิดคำบริกรรมสำหรับใช้ผูกมัดจิตอันปราดเปรียวนี้ขึ้น ควบคู่กับการยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติอีกอย่างหนึ่งด้วย สุดแต่จะนิยมนับถือว่าอย่างใดเหมาะสมที่สุด

โบราณาจารย์ ใช้คำบริกรรมว่า “อรหัง” สายพระอาจารย์มั่น ใช้คำบริกรรมว่า “พุทโธ” สายหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ใช้คำบริกรรมว่า “สัมมาอรหัง” สายพม่า ใช้คำบริกรรมว่า “ยุบหนอ-พองหนอ” หรือ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ เป็นต้น

นับว่าเป็นเจตนาที่ดีของท่านอาจารย์ในแต่ละสำนักดังกล่าวมานี้ ที่จะช่วยสานุศิษย์ของตนให้ปฏิบัติสมาธิได้รวดเร็วขึ้น

แต่อีกด้านหนึ่งนั้น ก็มักจะทำให้สานุศิษย์ของแต่ละสำนักที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ เกิดมีทิฐิและภาคภูมิว่า คำบริกรรมที่ตนกำลังใช้อยู่นี้ถูกต้อง ส่วนคำบริกรรมอย่างอื่นหรือของสำนักอื่นไม่ถูก ดังนั้น จึงมักจะโต้แย้งขัดคอกันบ่อยๆ เพราะไม่เข้าใจจุดประสงค์ว่าใช้คำบริกรรมเพื่ออะไร

เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้ปฏิบัติส่วนมากใช้คำบริกรรมไม่กลมกลืนกับสภาวะของจิต กล่าวคือ บางขณะก็เน้นจิตให้อยู่กับคำบริกรรม บางขณะก็เน้นจิตให้อยู่กับฐานที่ตั้งสติ เพราะฉะนั้น จึงกลายเป็นสองอารมณ์ขึ้นมา

เมื่อเป็นสองอารมณ์ เนื่องจากไม่มีอุบายอันแยบคาย ก็ย่อมทำให้เกิดความลังเลสงสัยว่า จะกำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์อันไหนแน่ ทำให้จิตซัดส่ายออกไปได้โดยง่ายในที่สุด

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องศึกษาวิธีใช้คำบริกรรมจากพระอาจารย์ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน จึงจะลงมือปฏิบัติต่อไปได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วที่สุด

ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ใช้ สติ และสัมปชัญญะ เพ่งดู และรู้ตัวทั่วพร้อม ทุกขณะที่มีอารมณ์เข้ามากระทบ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจะไม่ใช้คำบริกรรมเลยตั้งแต่เริ่มต้น ก็ย่อมทำได้โดยไม่ผิดพลาด

สำหรับผู้ที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ที่ไม่ประสงค์จะใช้คำบริกรรม ก็อาจไม่ใช้เสียเลยก็ได้ เพราะจะช่วยย่นระยะการปฏิบัติให้สั้นเข้า แต่ถ้าประสงค์จะใช้ตามคำแนะนำของอาจารย์ในแต่ละสำนัก ก็ควรจะได้ศึกษาให้เข้าใจและรู้จักวิธีใช้ให้กลมกลืนกับสภาวะจิตใจ จึงจะช่วยให้จิตเป็นสมาธิได้รวดเร็ว

และสำหรับผู้ที่ใช้คำบริกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดมาจนเคยชินแล้ว ก็ควรจะได้ใช้คำบริกรรมอย่างนั้นต่อไป ไม่ควรใช้บ้าง หรือไม่ใช้บ้าง หรือคิดเปลี่ยนไปใช้คำบริกรรมอย่างอื่น เพราะจะทำให้ไม่ได้รับความคล่องแคล่วในการเข้าสมาธิเพิ่มขึ้นจากเดิม จนทำให้ต้องเริ่มต้นคลำหาทางเข้าสมาธิกันใหม่ ทุกครั้งที่ลงมือปฏิบัติตลอดไป

ทั้งนี้หมายความว่า ผู้ใดเคยปฏิบัติมาอย่างใดหรือเคยใช้คำบริกรรมแบบไหนมาก่อนจนเคยชินแล้ว ก็ให้ดำเนินปฏิบัติแบบนั้นต่อไป โดยไม่เปลี่ยนแปลงตลอดชีวิต เมื่อจิตเริ่มสงบแล้วก็ให้หยุดใช้คำบริกรรมเสียทันที

🌷 คำบริกรรมอุปมาเหมือนดังป้ายบอกทางเดินของจิต

ตามธรรมดาแล้ว จิตใจของสามัญชนย่อมวนเวียนท่องเที่ยวไปสู่อารมณ์ที่น่ารักใคร่ ตามความสะดวกสบายของตนเป็นนิตย์

ส่วนการปฏิบัติสมาธินั้น เป็นการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากอารมณ์อันน่ารักใคร่ ซึ่งฝืนกับกระแสจิตของสามัญชนที่มีอยู่แต่ก่อน จึงทำให้เกิดความสงบสุขแก่ตนเองในที่สุด

อุปมาดังการยกระดับตนเองขึ้นที่สูงให้พ้นทุกข์ จากการวนเวียนท่องเที่ยวไปหาชมสิ่งต่างๆ ในพื้นที่ราบหรือที่ต่ำตามความพอใจ ฉะนั้น

ในขณะที่ท่องเที่ยวอย่างเพลิดเพลินอยู่นั้น จิตย่อมได้รับความวุ่นวายซัดส่ายไปมาจนหาความสงบไม่ได้เลย แต่ถ้าสามารถยกตนให้สูงขึ้น และห่างออกจากความวุ่นวายซัดส่ายไปมาเสียได้ ก็จะเริ่มพบกับความสงบมากขึ้นตามลำดับ

เหมือนดังยกตัวให้สูงจากพื้นที่ราบหรือที่ต่ำ ด้วยการไต่เขาสูงขึ้นไปตามลำดับ ถ้ายิ่งไต่เขาสูงขึ้นไปเพียงใด ก็ยิ่งยกตัวห่างออกจากทุกข์ในพื้นที่ราบมากขึ้นเพียงนั้น ข้อนี้ฉันใด

คำบริกรรมนั้น อุปมาดังป้ายบอกทางเดินในขณะที่ยังอยู่ในระดับพื้นราบ เพื่อให้สามารถมุ่งตรงไปยังเชิงเขาได้ โดยตรงเท่านั้น พอเริ่มไต่เขาสูงขึ้นไปเมื่อใด ก็จะต้องทิ้งป้ายบอกทางไว้ข้างหลัง และมุ่งหน้าไต่เขาให้สูงขึ้นไปตามลำดับเมื่อนั้นทันที

ถ้ายังยึดเกาะป้ายบอกทางนั้นไว้ คือ ไม่ปล่อยวางอย่างสิ้นเชิง ก็จะทำให้เกิดกังวลและไต่เขาให้สูงขึ้นไม่ได้เป็นธรรมดา ข้อนี้ก็ฉันนั้น

ทั้งนี้หมายความว่า คำบริกรรมนั้นเป็นอุบายที่จะรวมจิตให้สงบเท่านั้น เมื่อจิตเริ่มสงบแล้ว คำบริกรรมก็ย่อมหมดหน้าที่ทันที ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องทิ้งคำบริกรรมเสีย จิตจึงจะสงบมากขึ้นต่อไป ถ้าไม่ทิ้งคำบริกรรมในขณะที่จิตรวมดีแล้ว ก็อาจทำให้จิตซัดส่ายแลบออกไปอีกได้ (จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ใช้คำบริกรรม) เมื่อทิ้งคำบริกรรมเสีย จิตก็จะเข้าสู่ความสงบทันที

ผลเสียอาจเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้คำบริกรรมก็ได้ คือ จิตไปจับอยู่ที่คำบริกรรมเพียงอย่างเดียว จึงทำให้ลืมฐานที่ตั้งสติที่กำหนดไว้เดิมเสียก็มี หรือเวลาจิตเริ่มรวมตัวเป็นสมาธิแล้ว ไม่หยุดใช้คำบริกรรมเสียก็มี เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความลังเลสงสัยขึ้น และกั้นไม่ให้จิตเป็นสมาธิได้ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ ในตอนที่ยังไม่ชำนาญในการปฏิบัติอยู่ จึงจะเพิ่มวสีให้แก่ตนเองมากขึ้นตามลำดับ

🌷 คำแนะนำการปฏิบัติสมาธิ

๑. ตั้งกายให้ตรงและทำจิตให้สบาย เลิกคิดถึงเรื่องราวในอดีตต่างๆที่ผ่านไปแล้ว เลิกคิดถึงเรื่องราวในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง และเลิกคิดถึงเรื่องราวใดๆ เฉพาะหน้าเสียทั้งสิ้น

๒. อธิษฐานจิตว่าดังนี้ “ณ โอกาสนี้ ข้าพเจ้าจะตั้งสติพิจารณาลมหายใจเข้าออกเพียงประการเดียวเท่านั้น เมื่อลมหายใจออกก็รู้ชัด และเมื่อลมหายใจเข้าก็รู้ชัดตามความเป็นจริง ขอให้จิตของข้าพเจ้าเป็นสมาธิและเกิดมีสติปัญญาอันไพบูลย์ด้วย”

๓. สิ่งที่จะต้องจำให้แม่น ก็คือ ในขณะที่กำลังกำหนดลมหายใจเข้าออกอยู่นั้น ลมหายใจสัมผัสเด่นชัด ตรงจุดใดมากที่สุด ( ที่ริมฝีปากบน, ที่ปลายจมูก หรือในช่องจมูก ) ก็ให้ตั้งสติไว้ให้แน่นอยู่ที่ตรงจุดนั้นเพียงแห่งเดียว อย่าให้เลื่อนไปอยู่ที่อื่นตลอดชีวิตของเรานี้ อุปมาดังการตอกเสาเข็มลงไปให้แน่นอยู่ในหิน ระวังอย่าให้สติแลบออกไปจากจุดนี้ หรืออย่าให้สติแล่นตามลมหายใจเข้าไปข้างในหรือออกไปข้างนอกเป็นอันขาด

๔. เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิดีแล้ว ลมหายใจเข้าออกก็จะสงบประณีตตามไปด้วย ทำให้ชำนาญและรักษาจิตที่อยู่ในสภาวะนี้ไว้ตลอดเวลา เมื่อมีสิ่งใดมากระทบจิต ก็ระวังรักษาจิตไว้ไม่ให้หวั่นไหวฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์นั้นๆ ระวังรักษาจิตให้มีสมาธิอยู่เสมอ จิตก็จะแจ่มใสเกิดมีปัญญาผ่องใส เหมาะแก่การงานต่างๆ รวมทั้งการเล่าเรียนที่กำลังดำเนินอยู่นี้ด้วย

๕. คุณค่าของความเป็นมนุษย์อยู่ที่ตรง ระวังรักษาจิตให้มีสมาธิอยู่เสมอ ไม่ให้หวั่นไหวฟุ้งซ่านเมื่อมีอารมณ์ภายนอกมากระทบ ตรงนี้แหละที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะคุ้มครองรักษาผู้ปฏิบัติ ให้พ้นจากภัยพิบัติต่างๆ ได้ อย่างมิต้องสงสัย

๖. พิจารณาอยู่เนืองๆ ว่า ลมหายใจเข้าออกของเราที่สูดเข้าสูดออกอยู่นี้ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ถาวรอะไร ไม่ช้าก็ต้องพลัดพรากจากร่างกายนี้ไปแน่นอน จึงควรระวังรักษาจิตซึ่งไม่ตายนี้ไว้ให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสเสมอ

๗. คำแผ่เมตตาประจำวัน ให้พึงตั้งจิตแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยความจริงใจและตั้งใจที่สุด และกล่าวว่าดังนี้

“สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ทั้งหมดทั้งสิ้น
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
ขอให้มีความสุขกายสุขใจ รู้จักรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ”

เอกสารเรื่อง “คำแนะนำการปฏิบัติสมาธิ” ฉบับนี้ กรมการศาสนาได้เห็นชอบด้วยแล้ว ตามหนังสือที่ ศธ.๐๔๐๔/๑๕๓๕๕ ลว.๓๐ ต.ค. ๒๕๒๒ หากท่านช่วยพิมพ์แจกต่อไปอีก จะช่วยจรรโลงพระศาสนานี้ และได้กุศลดียิ่งกว่าการสร้างถาวรวัตถุใดๆ ทั้งสิ้น

เรียบเรียงโดย อาจารย์ไชยทรง จันทรอารีย์

🌷 THE INSTRUCTION FOR ACHIEVING ADVANCED MEDITATION

1. Straighten up one’s body and have the mind relaxed. Release from the mind, all kinds of thought about the past and future stories as well as present themes confronting the mind.

2. Caltivate the intention as per the following guiding words : “One will take this occasion to achieve meditation on the inhaling and exhaling breath, so as to find out its true nature as it really is”.

3. During meditation, focus one’s consciousness upon a single point of breathing contact where one can feel the breath prominently at this point ( Either at the upper lip, the lip of the nose, or some spot inside the nostril.) Mentally hold the consciousness at this point without changing it to any other location, as if one intended to hold it there for the rest of one’s life. Metaphorically, as if the steel pile had been set tightly in concrete. Keep this point firmly in mind, and never let it go while noting inhaling and exhaling breath.

4. After attaining the advanced state of tranquil meditation, the breath movement will become serene and fine. When any external objects contact the mind, tenaciously maintain this advancedstate of tranquil meditation with such firmness that, these external objects cannot shake the serenity of the mind. In this way, the develop wisdom. This is valuable and appropriate mental training for various type of work and study.

5. The virtue of being human can be evaluated and measured from the degree of power of one’s awareness as developed by frequent meditation. The serene mind will neither tremble nor wander as a result of contact with external objects. The Bhudda, the Dhamma, the Sangkha ( i.e. the enlightened mind ) will undoubtedly guard one who achieves advanced meditation, from various perils which can crop up in one’s life at any time.

6. Scrutinize frequently one’s inhaling and exhaling breath, noting that it is impermanent and that one day, breathing will cease in the body. One should always maintain this state of immortal mind, pure and free from defilements all the times.

7. Make a firm resolution everyday to radiate peace and good will to all living beings. The following formula may be used, viz :

“MAY ALL LIVING BEINGS IN THE SAME SUFFERING SITUATION OF BIRTH,OLD AGE,SICKNESS,AND DEATH, BE HAPPY IN BODY AND MIND. MAY RIVALRY AND OPPRESSION CEASE BETWEEN ALL LIVING BEINGS. DO TAKE CARE OF ONE’SELF AND STAY AWAY FROM ALL PERILS FOREVER.”