อัตตา และ อนัตตา

🌷 จุดที่ทำให้เกิดความเข้าใจสับสนในพระพุทธศาสนา

กล่าวตามข้อเท็จจริง ต้นเหตุที่ทำให้เกิดความสับสนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในการทำความศึกษาเรื่องธรรมะในพระพุทธศาสนา ก็คือ

๑. การไม่เข้าใจเรื่อง “จิต” กับ “วิญญาณ” (อาการของจิต)
๒. การไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “อัตตา” และ “อนัตตา”

🌷 ๑. การไม่เข้าใจเรื่อง “จิต” กับ “วิญญาณ” (อาการของจิต)

ผู้ศึกษาธรรมะโดยมากมักจะเข้าใจว่า จิตเกิดดับ และเมื่อเข้าใจว่าจิตเกิดดับแล้ว ก็พลอยทำให้เข้าใจไปว่า จิตกับวิญญาณเป็นอันเดียวกัน แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ที่เข้าใจว่าจิตไม่เกิดดับ และจิตกับวิญญาณมีความหมายแตกต่างกัน

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง จึงได้กลายเป็นจุดที่ทำให้เกิดความสับสนมืดมัว แก่ผู้ที่เข้ามาศึกษาธรรมะ ในพระพุทธศาสนาในภายหลังเป็นอันมาก

เกี่ยวกับเรื่องจิตเกิดดับหรือจิตไม่เกิดดับนั้น ได้ยกมาแสดงไว้แล้วในตอนต้นของหนังสือ ส่วนจิตกับวิญญาณเป็นอันเดียวกันหรือไม่นั้น เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นในภายหลัง ผู้ศึกษาจึงต้องนำพุทธพจน์จากพระสูตรสำคัญๆ เช่น “อนัตตลักขณสูตร” เป็นต้น มาสอบเทียบเพื่อพิจารณาโดยเฉพาะ จะนำเอาความคิดเห็นของอาจารย์ธรรมะ หรือตำราในภายหลังมาหักล้างไม่ได้

ใน “อนัตตลักขณสูตร” พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนพระปัญจวัคคีย์ เรื่อง รูป (อารมณ์) เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (อาการของจิตอันเนื่องด้วยอารมณ์) ซึ่งสัตว์ทั้งหลายยึดมั่นถือมั่น และหวังจะให้เป็นไปดังใจหมาย, อยู่โดยทั่วกัน

ทรงชี้แจงแสดงให้เห็นว่า แต่ละอย่างเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร เป็นทุกข์ และไม่อาจบังคับบัญชาให้เป็นไปดังใจหวังได้ จนกระทั่ง จิตของพระปัญจวัคคีย์หลุดพ้นจากการเข้าไปยึดถือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อีกต่อไปในที่สุด

ซึ่งแสดงว่า จิต ต่างกับ วิญญาณ อย่างชัดเจน

ข้อสังเกตสำหรับการตรวจพิจารณาเรื่อง จิตกับวิญญาณ ซึ่งต่างก็เป็นคำนามเหมือนกันนี้ อีกประการหนึ่ง ก็คือ

พระพุทธองค์ทรงใช้ คำกริยา กับ “จิต” เมื่อมีความหมายว่า “ทรงไว้ซึ่งธาตุรู้” ว่า “วิมุตติ (จิตหลุดพ้น)” บางแห่งก็ใช้ว่า “วิโมกข์ หรือวิโมกขธรรม”

และทรงใช้ คำกริยา กับ “วิญญาณ” เมื่อมีความหมายว่า “รับรู้อารมณ์จนเสียคุณภาพเดิมไปแล้ว” ว่า นิรุชฌ์บ้าง อัสดงค์บ้าง ซึ่งแปลว่า “ดับ” คือ การรับรู้อารมณ์เรื่องนั้น ดับไปแล้ว

คำกริยา “หลุดพ้น” กับ “ดับ” สองคำนี้ มีความหมายชัดเจนในตัวเองแล้วว่าแตกต่างกัน โดยไม่จำเป็นต้องอธิบาย เพิ่มเติมอีกแต่ประการใด ดังนั้น จึงชี้ความแตกต่างของคำว่า “จิตกับวิญญาณ” ได้อีกทางหนึ่ง

ใน “นกุลปิตาสูตร” พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า

“ดูก่อนนกุลปิตาคหบดี บุคคลผู้ที่ไม่ได้สดับศึกษา ไม่ได้รับคำแนะนำจากพระอริยะนั้น เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปรวนแปรไป จิตย่อมปรวนแปรไปด้วย

ส่วนผู้ที่ได้สดับศึกษา ได้รับคำแนะนำจากพระอริยะนั้น เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปรวนแปรไป จิตย่อมไม่ปรวนแปรไปด้วย

ดูก่อนท่านคหบดี จงทำความศึกษาว่า จิตนี้จักไม่ปรวนแปรไปตาม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเถิด”

จากตัวอย่างที่ยกมา ๒ พระสูตรข้างต้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “จิต” ไม่ใช่ “วิญญาณ”

หมายเหตุ :
จิต คือ ธาตุรู้
วิญญาณ คือ อาการของจิตอันเนื่องด้วยอารมณ์ เป็นขันธ์หนึ่ง ในขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

คนตาบอดมีจิต แต่ไม่มี(จักขุ)วิญญาณ (คือ ไม่อาจรับรู้อารมณ์ทางตาได้)
คนหูหนวกมีจิต แต่ไม่มี(โสตะ)วิญญาณ (คือ ไม่อาจรับรู้อารมณ์ทางหูได้)

แสดงว่า มีจิต โดย ไม่ต้องมีวิญญาณ ก็ได้ แต่ถ้า มีวิญญาณ โดย ไม่มีจิต ย่อมไม่ได้

🌷 ๒. การไม่เข้าใจความหมายของคำว่า อัตตา และ อนัตตา

การไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “อนัตตา” เป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งในพระพุทธศาสนา ที่ทำให้ผู้ศึกษาธรรมะเข้าใจไขว้เขวอย่างมากมาย

กล่าวโดยความจริงแล้ว คำว่า “อนัตตา” นี้แปลว่า “ไม่ใช่ตัวตน” แต่ส่วนใหญ่ที่ได้ยินกันอยู่ในปัจจุบันนี้ กลับแปลอย่างผิดๆ ว่า “ไม่มีตัวตน” ไปเสีย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นอย่างมากมายทีเดียว

คำว่า “ไม่ใช่ตัวตน” หมายความว่า ตัวตนที่แท้จริงมีอยู่ แต่กลับหลงไปยึดเอาขันธ์ ๕ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เข้ามาเป็นตัวตนด้วยความเข้าใจผิด เพราะไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริง

ส่วนคำว่า “ไม่มีตัวตน” นั้นหมายความว่า “ไม่มีสิ่งใดเลย” ที่มีชีวิตจิตใจ นอกจากก้อนดิน ก้อนอิฐ ก้อนกรวด ต้นไม้ ภูเขา ฯลฯ ซึ่งเป็นวัตถุตามธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งเป็นผลให้เข้าใจผิดว่า ไม่มีผู้กระทำกรรม และไม่มีผู้รับผลของกรรมนั้นๆ ด้วย

ดังที่มักจะได้ยินกันว่า บรรดาธรรมทั้งหลายนั้น มีแต่การกระทำอย่างเดียวเท่านั้น ผู้กระทำหามีไม่ เป็นต้น จัดเป็นนัตถิกทิฐิในพระพุทธศาสนานี้ ซึ่งไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้องกับคำว่า “อนัตตา” แต่ประการใดเลย

สำหรับคำว่า “อัตตา” นั้น เป็นสภาพธรรมที่อยู่ตรงกันข้าม กับคำว่า “อนัตตา” และมีปรากฏเป็นพุทธพจน์อย่างมากมายหลายแห่งเสียด้วย (จะกล่าวโดยละเอียดต่อไป)

🌷 คำบัญญัติและคำสมมุติ

คำบัญญัติ คือ การกำหนด หรือตั้งคำพูดเพื่อใช้เรียกขาน บรรดาวัตถุหรือสิ่งของที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้ใช้พูดจากันรู้เรื่อง หมายความว่า ภาษาคำพูดทั้งหมดเป็นบัญญัติทั้งสิ้น เมื่อบัญญัติคำใดขึ้นก็ตาม จะต้องมีสิ่งรองรับคำบัญญัตินั้นอยู่ก่อนแล้ว ใครจะคิดตั้งเป็นบัญญัติคำพูดขึ้น โดยที่ไม่มีวัตถุหรือสิ่งของรองรับคำบัญญัตินั้นไม่ได้เลย

ดังนั้น คำบัญญัติ จึงต้องมีภายหลังวัตถุหรือสิ่งของ เช่น ถ้วยแก้ว เป็นต้น จะต้องมีผู้ประดิษฐ์ภาชนะที่ทำด้วยแก้วสำหรับใส่น้ำขึ้นก่อน แล้วจึงบัญญัติชื่อเรียกภาชนะอันนี้ว่า “ถ้วยแก้ว” ในภายหลัง

แล้วต่างคนต่างก็ยอมรับและจดจำความหมายของคำว่า “ถ้วยแก้ว” ไว้ ถ้าใครเอ่ยถึงคำที่ได้บัญญัติว่า “ถ้วยแก้ว” ขึ้นเมื่อใด ก็ต้องรู้ว่า ผู้เอ่ยหมายถึงอะไร? รูปร่างสัณฐานเป็นอย่างไร?

คำสมมุติ คือ การกำหนด หรือตั้งบัญญัติซ้อนบัญญัติลงไปอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้จำกัดชัดลงไปว่า หมายถึง วัตถุชิ้นนั้น สิ่งนั้น หรือหมายถึงคนๆ นั้น ไม่ใช่หมายถึงวัตถุชิ้นอื่น สิ่งอื่น หรือคนอื่น ซึ่งอยู่ในบัญญัติคำเดียวกัน หรือมีชื่อเรียกอย่างเดียวกัน

เช่น คำสมมุติ พ่อแม่ สามีภรรยา ลูกหลาน พระราชา พระราชินี เป็นต้น คำสมมุติที่กล่าวมาทั้งหมดเหล่านี้ มาจากคำบัญญัติเดิมว่า “คน” เหมือนกัน แต่เพราะคนๆ นั้น ได้ทำหน้าที่ หรือมีภาระในการให้กำเนิดแก่บุตร ฝ่ายชายก็เรียกว่าพ่อ ฝ่ายหญิงก็เรียกว่าแม่ ดังนี้เป็นต้น

บัญญัติ แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ

๑. อัตถบัญญัติ ตั้งขึ้นเพื่อให้รู้เนื้อความ รูปร่าง สัณฐาน กิริยาอาการของสิ่งที่ได้ตั้งชื่อนั้นๆไว้ เช่น ต้นไม้ เมฆ น้ำ เดิน สวย เป็นต้น

๒. สัททบัญญัติ ตั้งเป็นถ้อยคำสำหรับใช้พูดจากัน ตามที่ได้ตกลงยอมรับว่าหมายถึงอะไรในตอนที่ตั้งเป็นอัตถบัญญัติ เมื่อได้ยินเสียงกล่าวขานออกมาอย่างใดก็เข้าใจ และรู้เรื่องตามนั้น เช่น ได้ยินเสียงคนพูดออกมาว่า “ต้นไม้” ผู้ได้ยินก็สามารถนึกรูปร่างของต้นไม้ได้ถูกต้อง ตรงกับที่ผู้พูด หมายความถึงได้ เป็นต้น

คำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อัตตา นิพพาน และคำที่เรียกว่า ปรมัตถ์ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นคำบัญญัติ และต้องมีสภาวะรองรับทั้งสิ้น จะบอกว่าคำบัญญัติคำหนึ่งคำใดเหล่านี้ ไม่มีสภาวะรองรับย่อมไม่ได้ ถ้าหากหยุดพูดกล่าวขานเสียเมื่อใด คำบัญญัตินั้นก็ดับไป แต่วัตถุหรือสิ่งนั้นๆ อันเป็นสภาวะรองรับยังคงมีอยู่โดยปกติธรรมดา มิได้หายสูญไป ตามบัญญัติที่เลิกพูดถึงไปด้วย

🌷 คำบัญญัติและคำสมมุติในพระพุทธศาสนา

ดังที่ได้กล่าวมา คำบัญญัติและคำสมมุติเป็นกระบวนการทางคำพูด ที่ตั้งขึ้นสำหรับเรียกขานสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในโลก เพื่อใช้เป็นสื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของบุคคลหนึ่ง ให้อีกบุคคลหนึ่งเข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องของโลก

ดังนั้น ทุกคนจึงต้องใช้ คำบัญญัติ – สมมุติ และต้องจดจำไว้สำหรับพูดให้เป็นอย่างเดียวกันทั้งหมด จึงจะพูดกันรู้เรื่อง ด้วยเหตุนี้ คำบัญญัติ – สมมุติ ทั้งหลาย จึงต้องตั้งขึ้นอย่างมีหลักเกณฑ์ คือ

๑. มีเหตุผล
๒. มีคำไวพจน์อื่นที่ใช้พูดแทนกันได้
๓. พันธุ คือ บัญญัติให้เป็นพวกๆไม่ปะปนกัน
๔. เป็นทวินิยม เพื่อให้เห็นสิ่งคู่กันโดยตรงกันข้าม

🌷 คำบัญญัติ – สมมุติ ย่อมอยู่ในหลักทวินิยม

คำบัญญัติ – สมมุติทั้งหลาย ที่ใช้เรียกหรือพูดถึงวัตถุสิ่งของและอารมณ์ต่างๆ นั้น เป็นเรื่องฝ่ายโลก ดังนั้น จึงต้องอยู่ในหลักทวินิยม จึงจะพูดกันรู้เรื่องชัดเจน

หลักทวินิยมนี้ เจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ทรงดำริและปรารภก่อนตรัสรู้ จนนำพระองค์ให้ได้ตรัสรู้ธรรมวิเศษมาแล้ว กล่าวคือ เมื่อครั้งเสด็จประพาสสวนนั้น ได้ทรงพบเทวทูตสี่ มีคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และ พระสมณะตามลำดับ แล้วได้ทรงดำริปรารภด้วยพระปรีชาญาณตามหลักทวินิยมว่า

ตามธรรมดานั้น เมื่อมีของร้อน ก็ย่อมมีของเย็นแก้ เมื่อมีที่มืด ก็ย่อมมีที่สว่างแก้ ดังนั้น เมื่อมีแก่ มีเจ็บ และมีตาย ก็ย่อมต้องมีที่ที่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แก้เช่นเดียวกันด้วย

สิ่งที่แก่ เจ็บ ตายนั้น พระองค์ทรงพบและรู้จักแล้ว แต่สิ่งที่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายนั้น พระองค์ทรงยังไม่พบและไม่รู้จัก แต่ทรงเชื่อว่าจะต้องมีคู่กันด้วย

ครั้นอนุมานด้วยพระปรีชาญาณว่า หลักปฏิบัติตามแบบพระสมณะเป็นวิธีเดียว ที่สามารถนำพระองค์เข้าไปพบ สิ่งที่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ซึ่งเรียกว่า อมตธรรม ได้ จึงทรงละพระราชสมบัติและผนวชเพื่อปฏิบัติธรรม จนกระทั่งได้ทรงพบ อมตธรรม คือ จิตอันบริสุทธิ์ ในที่สุดสมพระประสงค์

คำบัญญัติสมมุติในหลักทวินิยมอื่นๆ ได้แก่ สัตว์ ตรงข้ามกับ พุทโธ, อนัตตา ตรงข้ามกับ อัตตา เป็นต้น

สัตว์ แปลว่า ผู้ติดข้อง (เราเรียกจิตที่ยึดติดหรือข้องอยู่กับอารมณ์ต่างๆ ว่าเป็นสัตว์)

พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้ไม่ติดข้อง (เมื่อปฏิบัติตามหลักมรรคมีองค์ ๘ จนจิตเลิกติดข้องกับอารมณ์แล้ว ก็ไม่ใช่ สัตว์ อีกต่อไป กลายเป็น พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในที่สุด)

🌷 อัตตาและอนัตตา

คำว่า อัตตา และ อนัตตา เป็นคำบัญญัติสมมุติในหลักทวินิยมเช่นกัน กล่าวคือ
อัตตา แปลว่า ตัวตน
อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน
แต่ในปัจจุบัน มักแปล อนัตตา ว่า ไม่มีตัวตน ซึ่งมีความหมายผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงอย่างมาก

ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า คำบัญญัติสมมุติตั้งขึ้น เพื่อเรียกขานสิ่งที่มีอยู่ในโลกตามปกติ ถ้าไม่มีสิ่งนั้นๆ ในโลก ก็ย่อมจะไม่มีการบัญญัติสมมุติขึ้นมา ถ้าไม่มีตัวตนจริงๆ แล้ว ก็ย่อมจะบัญญัติสมมุติคำว่า “อัตตา (ตัวตน)” ขึ้นมาเพื่อประโยชน์อันใดมิได้ การเข้าใจความหมายของ “อนัตตา” ผิดเพี้ยนไปว่า “ไม่มีตัวตน” ย่อมทำให้ผู้ศึกษาธรรมะไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากพระพุทธศาสนา

คำว่า ไม่ใช่ตัวตน หมายความว่า ตัวตนที่แท้จริงมีอยู่ แต่กลับหลงไปยึดเอาขันธ์ ๕ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เข้ามาเป็นตัวตนด้วยความเข้าใจผิด เพราะไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริง

ส่วนคำว่า ไม่มีตัวตน นั้น หมายความว่า “ไม่มีสิ่งใดเลย” ที่มีชีวิตจิตใจ นอกจากก้อนดิน ก้อนอิฐ ก้อนกรวด ต้นไม้ ภูเขา ฯลฯ ซึ่งเป็นวัตถุตามธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งเป็นผลให้เข้าใจผิดว่าไม่มีผู้กระทำกรรม และ ไม่มีผู้รับผลของกรรมนั้นๆ ด้วย

ดังที่มักจะได้ยินกันว่า บรรดาธรรมทั้งหลายนั้น มีแต่การกระทำอย่างเดียวเท่านั้น ผู้กระทำหามีไม่ เป็นต้น จัดเป็น นัตถิกทิฐิ ในพระพุทธศาสนานี้ ซึ่งไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้องกับคำว่าอนัตตาแต่ประการใดเลย

🌷 เงื่อนไขในการบัญญัติคำว่า อัตตา และ อนัตตา ในพระพุทธศาสนา

มีพุทธพจน์ตรัสไว้ในอนัตตลักขณสูตรดังนี้ “รูปญฺจ หิทํ ภิกฺขเว อตฺตา อภวิสฺส นยิทํ รูปํ อาพาธาย สงฺวตฺเตยฺย” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้เป็นอัตตาแล้ว รูปนี้ก็ไม่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย”

พุทธพจน์ข้อนี้ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนรวม ๒ นัย คือ
สิ่งใดที่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ทรงจัดว่าเป็น อนัตตา อันได้แก่ รูป (ทั้งนี้ทรงสอนรวมทั้ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วย) นัยหนึ่ง
และสิ่งใดที่ไม่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ทรงจัดว่าเป็น อัตตา อันได้แก่ จิตผู้รู้ชั้นพุทโธ ซึ่งไม่พลอยหวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่เข้ามากระทบ อีกนัยหนึ่ง

ผู้ที่ศึกษาธรรมะยังไม่เข้าใจสภาพของจิตผู้รู้ ชั้นพุทโธ ซึ่งตั้งมั่นไม่หวั่นไหวนี้ จึงเหมาเอาเองว่าพระพุทธองค์ไม่ได้ทรงสอนเรื่องอัตตา

🌷 ตัวอย่างเรื่องอนัตตาที่สอนกันอย่างผิดๆ ในปัจจุบัน

ตามธรรมดาแล้ว ธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศสั่งสอนพุทธบริษัท ๔ แล้วนั้น ย่อมเป็นสัจธรรมที่มีเหตุมีผลสอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งหลาย ไม่มีขัดแย้งซึ่งกันและกันเลย

ดังนั้น ธรรมะข้อใดที่สอนถ่ายทอดต่อๆ กันมา โดยไม่สอบเทียบกับหลักของเหตุผล ธรรมะข้อนั้นย่อมสะดุดความรู้สึกของผู้ที่รับถ่ายทอด ว่าขาดเหตุผลทันที ถึงแม้จะไม่รู้ในขณะนั้น ก็จะต้องมีผู้พบเห็นในภายหลัง และจะต้องถูกปฏิเสธทันทีเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่สอนเรื่อง อนัตตาผิดๆ ว่าไม่มีตัวตนนั้น จึงกระทำไป เพราะไม่รู้จักตัวตน แต่กล่าวออกมาเช่นนี้ เพราะเรียนท่องจำมาอย่างแน่นสนิท ซึ่งจะต้องได้รับการปฏิเสธจากอนุชนในภายหลังอย่างไม่มีปัญหา

โปรดดูตัวอย่าง การสอนเรื่องไม่มีตัวตน:-
“ในที่สุดแห่งการบรรยายธรรมเรื่อง อนัตตา นี้ พอสรุปได้ว่า การทำความเห็นว่าไม่มีตัวตนนั้น เป็นสิ่งที่ดี เราจะได้รับผลอันน่าพึงพอใจ ตนนั่นแหละจะมีความสุขทุกทิพาราตรีกาล อาตมาจึงขอยุติการบรรยายเรื่องไม่มีตัวตนไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้”

การบรรยายธรรมะเช่นนี้ ย่อมฟังยากฟังเย็นเสียเหลือเกิน พูดวกวนเป็นน้ำในอ่าง เหมือนลวงคนเล่นต่อหน้าต่อตา เพราะพูดว่า ตัวตนเราเขา ไม่มีไปแล้ว ก็กลับพูดวนมาหาตน หาเรา หาอาตมา ให้มีความสุขเข้าอีกจนได้ จนกลายเป็นเรื่องขัดแย้งกันเองขึ้นมา เพราะหยอดท้ายคำบรรยายว่าอาตมาขอยุติการบรรยายเรื่องไม่มีตัวตนไว้เพียงเท่านี้ ?

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่าได้บรรยายธรรมะสืบต่อกันมาโดยไม่ถูกต้อง จนบางทีถึงกับอบรมให้เกลียดตัวเกลียดตนกัน เพราะไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงซึ่งมีอยู่จริงๆ ก็มี พอทักท้วงเข้าก็แก้ตัวอุตลุดไม่ยอมรับว่ามีตัวตน แต่กลับยิ่งกล่าวบิดเบือนเถลไถลว่า อัตตา (ตัวตน)เป็นแต่เพียงคำสมมุติบัญญัติ ซึ่งความจริงแล้วไม่มีอะไร ถ้าไม่มีอะไรจริงๆ อย่างว่าแล้ว ก็ย่อมสมมุติบัญญัติคำว่า อัตตา ออกมาไม่ได้เลย

กล่าวตามข้อเท็จจริง พระพุทธองค์มิได้ทรงสอนให้ถอนคำบัญญัติทิ้งเสีย หรือทรงสอนให้ทำลายสิ่งที่รองรับคำบัญญัติ ให้ละลายหายสูญไปด้วยแต่ประการใดเลย เนื่องจากทุกข์โทษทั้งหลาย มิได้เกิดจากการใช้คำบัญญัติ แต่เกิดจากการเข้าไปยึดถือสิ่งรองรับคำบัญญัติ ด้วยความเข้าใจผิด ว่ามีแก่นสารสาระเป็น อัตตา (ตัวตน) ต่างหาก

พระองค์ทรงสอนให้ ถอนความยึดถือ สิ่งรองรับคำบัญญัติ ด้วยความเข้าใจผิดนั้นเสีย เมื่อถอนความยึดถือสิ่งที่รองรับคำบัญญัติเสียแล้ว ก็ย่อมหลุดพ้นจากวัตถุหรืออารมณ์ที่รองรับคำบัญญัติทั้งหลายได้อย่างสิ้นเชิง จิตก็ย่อมผ่องแผ้วบริสุทธิ์ ไม่หลงไปพลอยเกิดพลอยตายกับสิ่งที่รองรับคำบัญญัติด้วย

🌷 ผลของการสอนผิดๆ ว่าไม่มีตัวตน

ผู้ที่เริ่มศึกษาธรรมะใหม่ๆ มักพลอยเชื่อตามผู้ที่สอนผิดๆ ว่า อนัตตาแปลว่าไม่มีตัวตน ด้วยคิดว่าเป็นคำสอนที่ถูกต้อง เพราะยังมีความรู้ไม่กว้างขวางพอและขาดประสบการณ์อยู่ จึงพากันกลัวนักกลัวหนาว่าจะมีตัวตน ถ้าใครพูดเรื่องตัวตนขึ้นมา ก็ตั้งข้อหาว่าเป็นมิจฉาทิฐิให้ทันที จึงท่องจำคำ อนัตตา (ไม่มีตัวตน) ไว้จนขึ้นใจ พอพูดถึงเรื่องอะไร หรือแลเห็นอะไรสักหน่อย ก็ชิงบอกด้วยอำนาจสัญญาที่ได้ท่องจำไว้ว่า “ไม่มีตัวตน” ทันที

เช่น บอกว่า ไม่มีสัตว์ – บุคคล – ตัวตน – เรา – เขา มรรค ๘ นั้นก็สักแต่ว่าเป็นทางเดิน แต่ไม่มีผู้เดิน ส่วนนิพพานนั้น ก็สักแต่ว่าเป็นนิพพาน แต่ผู้ถึงนิพพานไม่มี จึงทำให้เข้าใจเลยออกไปได้ว่า มีแต่การตีกันหัวแตกเท่านั้น แต่ผู้ตีไม่มี ดังนี้เป็นต้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ซึ่งเป็นพระอริยะชั้นโสดาบัน ว่าดังนี้ “ตสฺมา ตีหานนฺท อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา” แปลว่า “ด้วยเหตุนี้แหละอานนท์ เธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง”

ทั้งนี้แสดงว่า พระองค์ทรงสอนเรื่อง ตัวตน ถ้าไม่มีตัวตนจริงๆ ดังที่สอนกันอยู่ในปัจจุบันนี้แล้ว พระองค์ย่อมนำมาตรัสสอนพระอานนท์ไม่ได้เลย

พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ รูปนาม (อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์) ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดถือสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นอัตตาตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร ถ้าหากปล่อยวางเสียได้ จิตก็จะบรรลุเข้าสู่สภาพธรรมที่ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ เป็นที่พึ่งอันเที่ยงแท้ถาวรอย่างแท้จริง

มีพระบาลีในปัณฑิตวัคคแห่งพระธรรมบทกล่าวไว้ ดังนี้คือ “ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ จิตฺตกฺกิเลเสหิ ปณฺฑิโต” แปลว่า “บัณฑิตพึงชำระตนคือจิต ให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส”

แสดงว่า จิตที่บริสุทธิ์นี้ คือ ตน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกมาสอนพระอานนท์ดังกล่าวแล้วข้างต้นนี้ ดังนั้นคำสอนที่ว่า ไม่มีตัวตน จึงย่อมขัดแย้งกับพุทธพจน์ข้อนี้อย่างไม่มีปัญหา

ความจริงนั้นคำสอนเรื่องไม่มีตัวตน เป็นคำสอนของปริพาชก จำพวก นัตถิกทิฐิ ซึ่งอยู่นอกศาสนาพุทธนี้ ที่ทำให้ผู้ฟังธรรมะเข้าใจผิดว่าตายแล้วก็พินาศดับสูญหมด ไม่มีตัวตนที่จะรับผลของกรรมดี กรรมชั่ว

ดังนั้น ผู้ที่เข้าใจว่าไม่มีตัวตน จึงปฏิเสธความเวียนว่ายตายเกิด และไม่เชื่อว่ามีชีวิตในปรโลก คือ มีทิฐิว่าตายแล้วสูญ

เมื่อมีทิฐิเกิดขึ้นเช่นนี้แก่ผู้ใด ผู้นั้นก็ย่อมไม่ละอายและไม่เกรงกลัวต่อผลบาปกรรม จึงมักพากันทำงานและใช้ชีวิตโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม คิดแต่จะกอบโกยผลประโยชน์แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ใครจะประสบความเดือดร้อนยุ่งยากก็ช่าง สังคมทั้งหลายก็ย่อมประสบปัญหายุ่งยากร่วมกัน ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ไม่ช่วยกันคิดแก้ไขปัญหายุ่งยากดังกล่าวนี้ เพราะถือว่าธุระไม่ใช่ของตัว สังคมก็ยิ่งยุ่งยากจมลึกลงไปอีก

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าคำสอนที่แปลคำ “อนัตตา” ผิดว่า “ไม่มีตัวตน” นี้ จึงมีพิษมีภัยแก่ความสงบสุขของสังคมนี้ฝ่ายเดียว ถ้าไม่ศึกษาให้ดีก็จะไม่เห็นว่ามีพิษมีภัยอะไร

สรุปความให้ชัดที่สุดแล้ว ตัวตน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำมาสอน ก็คือ จิตที่ได้ชำระให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสแล้ว ถ้ายังไม่ได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ เนื่องจากถูกอารมณ์ปรุงแต่งอยู่ จิตนั้นก็ยังไม่ใช่สภาพเดิมของตัวตน และเป็นทุกข์ตลอดไป หมายความว่า จิตสังขารไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

🌷 ตัวอย่างการสอนเรื่อง อนัตตา ผิดอีกแบบหนึ่ง

เท่าที่เป็นอยู่ ยังมีอาจารย์ธรรมะอีกหลายท่านเหมือนกัน ที่สอนว่า “อนัตตา” นี้แปลว่า “ไม่ใช่ตัวตน” โดยอ้างพระบาลีว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ที่ใช่ตัวตน จึงไม่มี เพราะไม่เห็นมีอะไรอย่างอื่นที่อยู่นอกเหนือไปจากขันธ์ ๕ ซึ่งล้วนแต่บังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใจหวังไม่ได้เลย ชีวิตซึ่งประกอบด้วยร่างกายและจิตใจนี้ ก็ต้องแตกทำลายหายสูญไปหมดสิ้น ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสักชิ้น

ดังนั้น จึงต้องถูกปฏิเสธด้วยคำว่า อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) เพราะบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใจหวังไม่ได้ทั้งสองอย่างไปด้วย โดยไม่เข้าใจและขาดการปฏิบัติธรรมเพื่อทดสอบ ให้รู้เรื่องราวของจิตใจตามความเป็นจริงมาก่อน จึงปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็น อนัตตา เพราะท่องจำพระบาลี สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ไว้อย่างเหนียวแน่น และอ้างคัมภีร์อรรถกถาประกอบด้วยเสมอ

🌷 หลักเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินว่าสิ่งใดเป็นอัตตาและสิ่งใดเป็นอนัตตา

กล่าวตามข้อเท็จจริงแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงแต่ทรงปฏิเสธรูปนาม หรือ ขันธ์ ๕ ว่า “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ และ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตนของเรา” ดังปรากฏชัดอยู่ในอนัตตลักขณสูตรนั้น

ดังนั้น ถ้าไม่หลงผิด ยึดเอารูปนามหรือขันธ์ ๕ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องด้วยมีอารมณ์มากระทบจิตว่าเป็นอัตตาตัวตนแล้ว ก็จัดว่าเป็นสัมมาทิฐิในพระพุทธศาสนานี้ เพราะว่า รูปนาม หรือ ขันธ์ ๕ นั้น เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน)

ด้วยเหตุนี้การเชื่อว่า จิตเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา และไม่เอารูปนามหรือขันธ์ ๕ เป็นจิต หรือเป็นอัตตาตัวตน จึงเป็นสัมมาทิฐิ

ในตอนท้ายพระสูตรดังกล่าว ได้สรุปความลงว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคย์ตรัสเรื่องราวนี้จบลง “จิตของพระปัญจวัคคีย์ ก็หลุดพ้นจากอุปาทานที่ทำให้เข้าไปยึดถือขันธ์ ๕”

ทั้งนี้แสดงว่า บุคคลที่เข้าไปยึดถือขันธ์ ๕ และปล่อยวางขันธ์ ๕ เสียได้ในที่สุดนั้น ก็คือ “จิต” นั่นเอง ซึ่งย่อมเห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า จิต กับ ขันธ์ ๕ นั้นเป็นคนละอย่างกัน ไม่ใช่อย่างเดียวกัน

อุปมาดัง “คน” ที่เข้าไปยึดถืออาศัย “บ้าน” อยู่ คนย่อมไม่ใช่บ้าน และบ้านย่อมไม่ใช่คน ข้อนี้ฉันใด “จิต” กับ “ขันธ์ ๕” ก็ฉันนั้น

ดังนั้น จึงแยกกล่าวให้ละเอียดได้ว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่จิต
แต่จิตเป็นผู้รู้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาเกิดขึ้นที่จิต แล้วก็ดับไปจากจิต

ในบรรดาพระสูตรสำคัญๆ ทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสปฏิเสธ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอนัตตา ดังปรากฏในพระบาลีว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” แปลว่า “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” แต่ยังไม่ปรากฏชัดๆ สักแห่งว่าได้ทรงปฏิเสธว่าจิตเป็นอนัตตาด้วย

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า นักศึกษาธรรมะอีกไม่น้อย ที่ท่องจำพระบาลีนี้ไว้สำหรับตีความเอง โดยรวมเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ วิราคจิต พระนิพพาน ซึ่งเป็นหลักธรรมอันเป็นที่พึ่งสำคัญในพระศาสนานี้ ให้เป็นอนัตตาไปด้วยเช่นเดียวกับขันธ์ ๕ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้

จึงทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้ที่ศึกษาธรรมะว่า ในพระพุทธศาสนามีแต่สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น ที่ใช่ไม่มีเลยหรือ???

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็จำเป็นต้องใช้พุทธพจน์สำหรับพิจารณาตัดสินปัญหา เพื่อมิให้เกิดความผิดพลาดที่เอาความคิดเห็นของตัวเองเข้าไปใส่ ดังต่อไปนี้คือ

พระพุทธองค์ได้ตรัสถามพระปัญจวัคคีย์ว่า “ยมฺปนานิจฺจํ ทุกฺขํ วิปริณามธมฺมํ กลฺลํ นุ ตํ สมนุปสฺสิตุํ เอตํ มม เอโส หมสฺสมิ เอโส เม อตฺตาติ” แปลว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นเป็นเรา เราเป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นตัวตนของเรา”

พระปัญจวัคคีย์กราบทูลตอบว่า “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

ทั้งนี้หมายความว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความปรวนแปรไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมเป็นอนัตตา และโดยกลับกัน สิ่งใดเที่ยง ไม่มีทุกข์ ไม่ปรวนแปรเป็นอย่างอื่น สิ่งนั้นก็ย่อมเป็นอัตตาในพระศาสนานี้

หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สิ่งใดสามารถบังคับบัญชาให้เป็นอย่างใจหวังได้ สิ่งนั้นย่อมเป็นอัตตา และ สิ่งใดไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใจหวังได้ สิ่งนั้นก็ย่อมเป็นอนัตตา

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระนิพพาน ได้แก่ จิตที่ได้ฝึกฝน บังคับ ชำระให้สะอาดบริสุทธิ์ เป็นวิราคจิต เป็นอมตธรรม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่ที่เดียวกัน และแยกจากกันไม่ได้ เพียงแต่สมมุติเรียกชื่อแตกต่างกันโดยคำพูด เท่านั้น

มีพระบาลียืนยันไว้ชัดเจนดังนี้คือ “อตฺตา นาม จิตฺตํ สกโล วา อตฺตภาโว” แปลว่า “จิตนี้แหละได้ชื่อว่าเป็นอัตตา แต่ว่าได้ยึดเอาสกลกายนี้เป็นอัตภาพไปด้วย”

🌷 ขอบเขตของการบังคับบัญชาร่างกายให้เป็นไปอย่างใจหวัง

ตามธรรมดา อัตภาพร่างกายซึ่งรวมอยู่กับจิตใจนี้เป็นสังขารธรรม จึงจัดเป็นอนัตตา คือไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใจหวังได้ ต้องปรวนแปรเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา

โดยเฉพาะรูปร่างกายนี้เป็นธรรมฝ่ายกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่อยู่ในอำนาจของจิต หมายความว่า จิตสามารถบังคับบัญชาใช้สอยร่างกายนี้ ให้ทำงานต่างๆ อันมิใช่สิ่งนอกเหนือคติธรรมดา ตามประสงค์ได้

โดยเฉพาะในแง่ของธรรมะ จิตย่อมบังคับบัญชาร่างกายไม่ให้ไปก่อกรรมทำชั่วได้ เช่นบังคับไม่ให้ถือศาสตราวุธไปทำร้ายผู้อื่น บังคับให้ทำความดี เป็นต้น สรุปแล้วสามารถกล่าวได้ว่า จิตบังคับบัญชาร่างกายให้ทำงานต่างๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา ในเมื่อร่างกายอยู่ในสภาพปรกติ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

ถึงแม้ว่าการระวังรักษาทางแพทย์ ก็ย่อมหมายความว่า ต้องคอยควบคุมร่างกายที่กำลังเจ็บป่วยอยู่ ให้กลับคืนเข้าสู่สภาพปรกติ ด้วยอำนาจของยาเหมือนกัน จะว่าบังคับบัญชาร่างกายไม่ได้โดยประการทั้งปวงนั้น ย่อมไม่ได้

ความหมายที่ว่า บังคับบัญชาร่างกายให้เป็นไปอย่างใจหวังไม่ได้ ตามที่ปรากฏอยู่ในอนัตตลักขณสูตรนั้น หมายแต่เพียงบังคับบัญชาไม่ได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับความเก่าแก่คร่ำคร่า ที่เป็นไปตามกาลเวลาที่ล่วงไปเท่านั้น เมื่อถึงเวลาแตกดับ ก็ต้องแตกดับไปเป็นธรรมดา

ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่า บังคับบัญชาร่างกายในเรื่องการใช้งานไม่ได้ เหมือนดังที่ท่องจำตามๆ กันมาว่า อะไรๆ ก็เป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา บังคับบัญชาไม่ได้ทั้งนั้น แต่ประการใด

🌷 อะไรๆ ก็ไม่ใช่ตัวตน ที่ใช่ตัวตนล่ะ???

ผู้ที่เรียนธรรมะโดยวิธีท่องจำตามๆ กันมาเช่นนี้ว่า อะไรๆ ก็ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ทั้งนั้น ที่ใช่ตัวตนไม่มีนั้น

อุปมาเหมือนดังผู้ที่ถูกเสี้ยมสอนให้ท่อง และเห็นว่า ธนบัตรที่มีอยู่ในท้องพระคลังทั้งหมด ไม่ใช่ธนบัตรดี (ปลอม) ทุกฉบับ รวมทั้งที่อยู่ในกระเป๋าตนเอง ก็ไม่ใช่ธนบัตรดี ไม่ว่าจะเห็นธนบัตรฉบับไหน สัญญาที่เกิดจากการท่องจำมา ก็ชิงทำหน้าที่พูดออกมาทันทีว่า ไม่ใช่ธนบัตรดีทั้งนั้น

ความรู้ที่เกิดจากถูกเสี้ยมสอนเช่นนี้ ย่อมไม่มีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องและขาดหลักวิชาการอย่างยิ่ง

ถ้าหากเริ่มสอนให้รู้จักรูปร่างลักษณะของธนบัตรที่ดี ว่าเป็นอย่างไรมาก่อนแล้ว ก็ย่อมรู้จักฉบับที่ไม่ใช่ธนบัตรดีได้ โดยไม่ต้องท่องหรือนึกเดาเอาเอง จนเกิดความผิดพลาดในที่สุด เป็นธรรมดา ข้อนี้ฉันใด

การเรียนธรรมะ โดยวิธีท่องจำว่า อะไรๆ ก็เป็นอนัตตาทั้งนั้น อัตตาไม่มีด้วยประการทั้งปวง ย่อมไม่มีหลักเกณฑ์ที่มั่นคง เช่นเดียวกับที่กล่าวมานี้ และย่อมผิดพลาดถ้านำเอาคำ อนัตตา ไปปฏิเสธ อมตธรรม (ธรรมที่ไม่ตาย) หรือโลกุตตรธรรม อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือพระนิพพาน ข้อนี้ก็ฉันนั้น

เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าคำสมมุติบัญญัติว่า อนัตตา จึงมีคู่กับคำว่า อัตตา เสมอ จะมีแต่เพียงคำหนึ่งคำใด โดยไม่มีอีกคำหนึ่งมาเป็นคู่ ย่อมไม่ได้

🌷 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเรื่อง ตัวตน ควบคู่กับ สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน

โปรดพิจารณาพุทธอุทานบทหนึ่ง ซึ่งทรงเปล่งออกหลังจากตรัสรู้ใหม่ๆ ดังนี้คือ

“ยทา จ อตฺตนา เวทิ มุนิ โมเนน พฺราหมฺโณ อถรูปา อรูปา จ สุขทุกฺขา ปมุญฺจติ” แปลว่า “เมื่อใดพราหมณ์ผู้เป็นมุนี มารู้จักตนเข้าด้วยปัญญาอันเกิดจาก(จิต)สงบ เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมพ้นจากรูป อรูป สุข และทุกข์ ดังนี้”

ทรงเห็นว่า รูป อรูป สุข และทุกข์ เป็นอนัตตาด้วยความมั่นใจ เพราะทรงรู้จักจิตที่สงบเป็นสันตินิพพานแล้ว

จากพระบาลีที่ยกมานี้ จะแลเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ได้ทรงใช้หลักเกณฑ์อย่างมั่นคง ในการปฏิเสธ รูป อรูป (นาม) สุขและทุกข์ ที่เนื่องจากนั้นว่าเป็น อนัตตา จนพระองค์หลุดพ้นออกมาเสียได้ ซึ่งหมายถึง จิตหลุดพ้นโดยเฉพาะ

เป็นที่น่าสังเกตว่า พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า อนัตตา สำหรับปฏิเสธ รูป นาม สุข และ ทุกข์ อันเนื่องจากนั้น ซึ่งเป็นสังขารธรรมในภาคพื้นโลกียะนี้เท่านั้น เพราะได้ทรงพบ จิตบริสุทธิ์ว่าเป็น อัตตา (ที่พึ่ง) คือ สภาพธรรมที่ไม่ตาย (อมตธรรม) ที่ทรงความรู้ไว้ตลอดทุกกาลสมัย, มาแล้ว พระองค์มิได้ทรงปฏิเสธสิ่งต่างๆ โดยปราศจากเหตุผลเลย

ถ้าหากทรงปฏิเสธอมตธรรม ซึ่งได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระนิพพาน ทิ้งเสีย ด้วยคำว่า อนัตตา แล้ว ก็ย่อมไม่มีธรรมะข้ออื่น หรือสิ่งอื่นในพระศาสนานี้ ที่จะนับว่ามีแก่นสารเป็นที่พึ่งได้อีกเลย คำว่าอมตธรรมอันเที่ยงแท้ถาวรก็ย่อมไม่มีจริง และพระองค์ย่อมตรัสว่าได้พบอมตธรรมในวันตรัสรู้ ไม่ได้อีกด้วย

🌷 อัตตาของศาสนาพราหมณ์กับอัตตาของศาสนาพุทธ

ก่อนอื่นทั้งหมด ควรจะได้ทำความเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “อัตตา” เสียก่อนว่า พระพุทธองค์ก็ได้ทรงสอนพระอานนท์ซึ่งเป็นพระโสดาบัน ให้ “มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง” ดังที่ได้ยกมากล่าวแล้วข้างต้น เช่นเดียวกับศาสนาพราหมณ์เหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า สิ่งใดที่จะเป็น อัตตา ได้นั้น สิ่งนั้นจะต้องมี คุณลักษณะ ที่อาจยกมาแสดงได้ ๔ ประการ ดังนี้คือ

๑. นิจฺโจ (เที่ยงแท้)
๒. ธุโว (คงทน)
๓. สสฺสโต (ถาวร)
๔. อวิปริณาม (ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น)

เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่ไม่มีคุณสมบัติเช่นว่านี้หรือมีคุณลักษณะตรงกันข้าม สิ่งนั้นก็ไม่ใช่สภาพธรรมของอัตตา แต่เป็นสภาพธรรมของอนัตตา และตกอยู่ในอำนาจของพระไตรลักษณ์ (คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา) เช่นเดียวกับโลกียธรรมทั้งหลายเหมือนกัน

ทั้งนี้หมายความว่า สภาพธรรมที่เป็นอัตตานั้นอยู่พ้นจากความครอบงำของพระไตรลักษณ์อย่างสิ้นเชิง จึงดำรงตนอยู่อย่างเที่ยงแท้ คงทน ถาวร ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น ตลอดไป

🌷 อัตตาของศาสนาพราหมณ์

ในศาสนาพราหมณ์นั้น ถือว่าพระพรหมมีอายุยืนยาวมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์อื่นที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ ด้วยกันแล้ว แตกต่างกันมากมาย กล่าวคือ

สัตว์อื่นได้เวียนเกิดแล้วตาย เกิดแล้วตายเป็นจำนวนหลายสิบหลายร้อยครั้งแล้ว แต่พระพรหมก็ยังคงดำรงตนอยู่ในสภาพเช่นนั้น จึงเกิดความประมาทขึ้นและเข้าใจว่าตัวเองไม่ตาย และได้บัญญัติเรียกตนเองว่าเป็นอัตตาขึ้น

ผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ เรียก พระพรหม ว่าเป็นมหาตมัน (อัตตาใหญ่) และเข้าใจว่าสัตว์อื่นๆ ทั้งหลายล้วนแต่แตกแยกออกมาจากพระพรหมทั้งสิ้น เมื่อปรารถนาจะกลับไปเป็นพระพรหมอีก ก็ต้องลงมือบำเพ็ญตบะ ทำฌานสมาบัติไว้ ครั้นตายลงเมื่อใด ก็จะได้กลับไปรวมอยู่กับพระพรหม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นอัตตาอีกในที่สุด

🌷 อัตตาในศาสนาพุทธ

พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธความเห็นของศาสนาพราหมณ์ในเรื่องนี้ว่า สภาพของพระพรหมทั้งหลายนั้นก็เป็นผลของการบำเพ็ญฌานสมาบัติ ที่สัตว์ได้เพ่งเพียรปฏิบัติทางจิตไว้ก่อน

ดังนั้น จึงเป็นเพียงภพภูมิหนึ่งที่ยังยึดถืออารมณ์ที่ปราศจากกาม และถูกอารมณ์นั้นๆปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นการปรุงแต่งที่เป็นครุกรรมฝ่ายกุศล ที่ส่งผลให้พระพรหมดำรงชีวิตอยู่ อย่างยืนยาวกว่าการปรุงแต่งด้วยอารมณ์อย่างอื่น ดังที่ทรงแสดงทิฐิไว้ ๖๒ ประการใน พรหมชาลสูตร แล้วนั้น อันล้วนแต่เป็น จิตสังขาร ทั้งสิ้น

เมื่อพระพรหมยังมีจิตที่ถูกปรุงแต่งอยู่ ก็ย่อมต้องมีการสิ้นอายุในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า แล้วก็ย่อมต้องจุติเข้าสู่กามาวจรภูมิ (ภูมิที่ยังท่องเที่ยวไปในอารมณ์ที่เป็นกามคุณ) อีกเป็นธรรมดา

ดังนั้น ฐานะของพระพรหมจึงไม่เที่ยงแท้ ไม่คงทน ไม่ถาวร และจะต้องมีการผันแปรไปเป็นอย่างอื่น จึงไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นอัตตา เนื่องจากจิตของพระพรหมยังยึดถืออารมณ์และถูกอารมณ์ปรุงแต่งอยู่ คือเป็นจิตสังขาร จึงจัดเป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สภาพตัวตนดั้งเดิม

ดังนั้นความเข้าใจของศาสนาพราหมณ์ว่าพระพรหมเป็นอัตตา จึงไม่ถูกต้อง การเห็นที่ว่าอารมณ์เที่ยง หรือเห็นว่าจิตสังขารเที่ยง จึงเป็นความเห็นผิดฝ่ายสัสสตทิฐิ

พระพุทธองค์ได้ทรงชี้ให้เห็นว่า ตราบใดที่สัตว์ยังติดข้องในอารมณ์อยู่ ตราบนั้นสัตว์จะยังไม่มีทางพ้นทุกข์ไปได้ ดังที่ทรงรำพึงเมื่อทรงศึกษาอยู่ในสำนักพระอุทกดาบสและพระอาฬารดาบสนั้น

ครั้นเมื่อได้ตรัสรู้พระอนตุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว จึงได้ทรงชี้ชัดเจนว่า จิตที่สิ้นความยินดีและแยกออกจากอารมณ์ทั้งปวงอย่างเด็ดขาด คือ วิราคจิต จัดเป็น นิพพาน เป็น อมตธรรม (ธรรมที่ไม่ตาย) ซึ่งย่อมดำรงตนอยู่อย่างเที่ยงแท้ คงทน ถาวร ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่นอีกต่อไป เป็น อัตตาตัวตน ในพระพุทธศาสนา และ เป็นที่พึ่ง ได้อย่างแท้จริง ดังที่ทรงยกมาสอนพระอานนท์ว่า “ให้มีตัวตนเป็นเกาะ มีตัวตนเป็นที่พึ่ง” นั้นทีเดียว