กาลามสูตร-หลักความเชื่อ ๑๐ ประการ

🌷 กาลามสูตร

เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงโปรดกาลามชน ชาวเกสปุตตนิคม ซึ่งทูลถามปัญหาเกี่ยวกับสมณพราหมณ์ว่า แต่ละพวกมักเชิดชูคำพูดของตนว่าถูก และคัดค้าน ดูหมิ่น ปรักปรำ คำพูดของพวกอื่นว่าผิด จนพวกเขาไม่รู้ว่าจะเชื่อฝ่ายไหนดี ว่าฝ่ายไหนพูดจริง ฝ่ายไหนพูดเท็จ

พระพุทธองค์จึงตรัสตอบแก้ความสงสัย ดังนี้

เอถ ตุเมฺห กาลามา : ดูก่อน กาลามชน
มา อนุสฺสเวน : ท่านอย่าได้ถือโดยฟังตามๆกันมา
มา ปรมฺปราย : อย่าได้ถือโดยเข้าใจว่าเป็นของเก่าๆ สืบกันมา
มา อิติกิราย : อย่าได้ถือโดยตื่นข่าว
มา ปิฏกฺสมฺปทาเนน : อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา (ปิฎก)
มา ตกฺกเหตุ : อย่าได้ถือโดยเหตุนึกเดาเอา
มา นยเหตุ : อย่าได้ถือโดยใช้คาดคะเน
มา อาการปริวิตกฺเกน : อย่าได้ถือโดยความตรึกตามอาการ
มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา : อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับลัทธิของตน
มา ภพฺพรูปตาย : อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดควรเชื่อได้
มา สมโณ โน ครูติ : อย่าได้ถือโดยนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา

หลักที่ไม่ให้เชื่อถือใครง่ายๆ ๑๐ ประการนี้ พระพุทธองค์ทรงชี้หลักเกณฑ์สอนชาวกาลามะ เพื่อให้พิจารณาดูคำสั่งสอนหรือธรรม ที่สมณพราหมณาจารย์ทั้งหลายแสดงให้ฟัง เป็นรายละเอียดว่า :-

ถ้าเป็นอกุศล มีโทษ ผู้รู้ติเตียน ใครสมาทานให้เต็มที่แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ จึงจะไม่เชื่อถือต่อไป

แต่ถ้าเป็นกุศล มีประโยชน์ ผู้รู้สรรเสริญ ใครสมาทานให้เต็มที่แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อสุข จึงจะเชื่อถือ และสมาทานให้เต็มที่ต่อไป

โดยเฉพาะข้อ ๑๐ ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายของหลักความเชื่อถือที่ว่า “มา สมโณ โน ครูติ : อย่าได้ถือโดยนับถือว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา”

ในปัจจุบันได้บิดเบือนแปลคำสมณะว่าพระพุทธเจ้า และได้มีการสอนผิดเพี้ยนไปว่า พระพุทธเจ้าตรัสก็อย่าเชื่อถือ นับเป็นความผิดพลาดอย่างอุกฤษทีเดียว เพราะว่าผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งหลาย ย่อมรู้แก่ใจว่า การที่ตนเข้ามานับถือคำสั่งสอนของพระพุทธองค์นั้น ตนได้เชื่อในความตรัสรู้ของพระองค์ (ตถาคตโพธิสทฺธา)

และได้พิจารณาโดยถ่องแท้แน่นอนเสียก่อนแล้วว่า คำสั่งสอนเป็นกุศล มีประโยชน์ ผู้รู้สรรเสริญ ใครสมาทานให้เต็มที่แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของผู้นั้นเอง จึงได้ยอมรับนับถือว่าเป็นที่พึ่งทางจิตใจตลอดมา

ก็เมื่อปฏิเสธว่า ไม่เชื่อสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนเสียแล้ว ก็ย่อมเท่ากับว่าตนไม่ใช่ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาอีกต่อไป นับตั้งแต่เวลาที่เริ่มปฏิเสธนั้นทีเดียว

อนึ่ง พระอรรถกถาจารย์ เป็นบุคคลผู้อธิบายเนื้อหาของพุทธพจน์ทั้งหลายที่ได้ตรัสรู้ไว้ ในภายหลังปรินิพพานแล้วเท่านั้น และพระอรรถกถาจารย์ก็ไม่ใช่พระอริยบุคคลแต่ประการใด พระพุทธองค์ได้ทรงเห็นการณ์ไกล จึงได้ตรัสว่า “มา ภพฺพรูปตา : อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้”