สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม

🌷 สติปัฏฐาน ๔ ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต

คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ได้เสด็จออกประกาศพระศาสนาไปทั่วชมพูทวีป หรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน เพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส ก็คือ สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งมีชื่อเรียกได้หลายอย่างตามความเหมาะสม และขนบธรรมเนียมในท้องถิ่นที่ทรงผ่านไปนั้น เช่น ทางสายกลางบ้าง, ทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์บ้าง, อริยมรรคบ้าง, มรรคมีองค์ ๘ บ้าง, ศีล – สมาธิ – ปัญญา บ้าง

ดังนั้น สติปัฏฐาน ๔ จึงเป็นที่สนใจและยอมรับของชาวพุทธ เป็นที่รวบรวมข้อปฏิบัติทั้งหลายไว้ด้วยกันอย่างถูกต้องและครบถ้วนที่สุด

เพราะฉะนั้น มหาสติปัฏฐานสูตร จึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ที่ควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติจริง, ด้วยแล้ว ประโยชน์ย่อมผ่านพ้นไปอย่างน่าเสียดายที่สุด เหมือนดังไม่ได้พบพระพุทธศาสนาทีเดียว

สติปัฏฐาน ๔ มีหลักคำสั่งสอนอยู่ที่การสร้างสติของผู้ปฏิบัติตาม ให้ตั้งอยู่ที่ฐานที่ได้เลือกไว้แล้ว อย่างมั่นคงในเมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบจิต โดยการยกจิตให้เข้าไปตั้ง อยู่ ณ ฐานแห่งใดแห่งหนึ่งใน ๔ แห่ง บ่อยๆ เนืองๆ คือ ที่ ฐานกาย ๑ ฐานเวทนา ๑ ฐานจิต ๑ หรือ ฐานธรรม ๑ ซึ่งรวมเรียกว่า มหาสติปัฏฐาน ก็ได้

ถ้ายกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานใดฐานหนึ่ง ดังกล่าวมานี้ได้สำเร็จอย่างมั่นคง สติปัฏฐานย่อมเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติย่อมไม่ถูกอารมณ์ทั้งหลายครอบงำจิตใจ เพราะเปลี่ยนความสนใจจากอารมณ์ที่กำลังเข้ามากระทบเฉพาะหน้า ให้เข้าไประลึกรู้ชัดอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติแทนเสียได้

ทั้งนี้หมายความว่า อารมณ์พร้อมทั้งความรู้สึกยินดียินร้ายที่เนื่องด้วยอารมณ์นั้นๆ ก็จะดับตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้จิตแสดงคุณธรรมที่ถูกต้องฝ่ายกุศล และเป็นประโยชน์แก่สังคมแทนที่ตามมาด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่าฐานทั้ง ๔ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเลือกฐานใดไว้เป็นที่ตั้งของสติก็ตาม ย่อมกระเทือนและส่งผลกระทบไปถึงฐานอื่นที่เหลือ และทำให้ผู้ปฏิบัติคลายความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ กับการปรุงแต่งอันเนื่องจากอารมณ์ (โลก) ดับไปตามลำดับ เหมือนกันหมด

ทั้งนี้เป็นเพราะอารมณ์ทั้งหลายซึ่งจะเข้ามาถึงจิตนั้น จะต้องผ่านเข้ามาทาง ฐานกาย
เมื่อกระทบอายตนะทางกายแล้ว ก็ย่อมเกิดความรู้สึกทุกข์สุขทาง ฐานเวทนา
เมื่อรู้สึกทุกข์สุขทางเวทนาแล้ว ก็ย่อมปรุงแต่ง ฐานจิต ให้ยินดียินร้ายขึ้น
เมื่อฐานจิตเกิดยินดียินร้าย ก็ย่อมมีสิ่งต่างๆ จากภายนอกมาประกอบเป็น ฐานธรรม ขึ้น
ซึ่งจะต้องละวางออกไปให้หมดสิ้น จนจิตบริสุทธิ์หลุดพ้นจากความเศร้าหมองเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิงในที่สุด

🌷 ธรรมะที่เกื้อกูลการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔

จากที่กล่าวมานี้ เราจะเห็นได้ว่าในขณะที่อารมณ์เข้ามากระทบอายตนะทางหนึ่งทางใดนั้น ย่อมกระเทือนฐานทั้ง ๔ อย่างทั่วถึงกัน เข้าไปสู่จิต และย่อมทำให้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ออกมามากบ้างน้อยบ้าง ตามความรุนแรงและความประทับใจที่มี

ดังนั้น คุณธรรมเรื่องขันติ (ความอดทน) จึงมีความจำเป็นสำหรับรองรับในเบื้องต้น ในเมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบ ถ้าขาดคุณธรรมเรื่องขันตินี้เสียแล้ว การปฏิบัติสติปัฏฐานจะไม่มีทางสำเร็จได้โดยง่าย อันได้แก่

ตีติกขาขันติ อดทนต่ออารมณ์ที่เข้ามายั่วยวน ยั่วยุ
อธิวาสขันติ อดทนต่อความลำบาก เจ็บไข้ได้ป่วย และทุกขเวทนา
ธีติขันติ อดทนต่อความหนาวร้อนหิวกระหายและหน้าที่การงาน

🌷 อารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ มี ๒๑ บรรพะ

๑. กายานุปัสสนา (ฐานกาย) มี ๑๔ บรรพะ
คือ อานาปานสติ ๑ อิริยาบถ ๑ สัมปชัญญะ ๑ ปฏิกูล ๑ ป่าช้า ๙
๒. เวทนานุปัสสนา (ฐานเวทนา) มี ๙ ข้อ รวมเป็น ๑ บรรพะ
๓. จิตตานุปัสสนา (ฐานจิต) มี ๑๖ ข้อ รวมเป็น ๑ บรรพะ
๔. ธัมมานุปัสสนา (ฐานธรรม) มี ๕ บรรพะ
คือ นิวรณ์ห้า ๑ ขันธ์ห้า ๑ อายตนะหก ๑ โพชฌงค์เจ็ด ๑ อริยสัจสี่ ๑

เมื่อรวมทั้ง ๔ ฐานแล้ว จึงมีอารมณ์รวม ๒๑ บรรพะ สำหรับใช้เป็นที่ตั้งของสติเวลาปฏิบัติ อารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ (๒๑ บรรพะ) สงเคราะห์ลงเป็นมรรคมีองค์ ๘ โดยมี สัมมาสมาธิ เป็นประธาน เมื่อจิตมีสมาธิอยู่ อกุศลก็ย่อมเข้าปรุงแต่งไม่ได้

ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติให้ต่อเนื่องเป็นประจำจนเคยชิน สำรวมระวังตัวอยู่เป็นประจำ ผู้ปฏิบัติก็ย่อมได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติของตนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำบ้างหยุดบ้าง แบบที่เรียกกันว่า ไปเข้ากัมมัฏฐานอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็ออกจากกัมมัฏฐานเสียเด็ดขาด คือ ทิ้งวิธีปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง ไม่ฝึกใช้สติกำกับการกระทำต่างๆ ไว้ด้วยตลอดเวลา กิเลสทั้งหลายก็ย่อมพากันหลั่งไหลเข้าสู่จิตของผู้นั้น ตอนออกจากกัมมัฏฐานนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงได้ทรงบัญญัติสติปัฏฐาน ๔ ขึ้น เพื่อให้ผู้ที่นับถือปฏิบัติ ใช้สติตามระลึกอย่างไม่ขาดสายเข้าไปในอารมณ์ที่มีอยู่ในฐานทั้ง ๔ จะได้ไม่เปิดโอกาสให้กิเลสเข้าสู่จิตได้แม้แต่วินาทีเดียว

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการออกจากกัมมัฏฐานตลอดชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ที่วัดหรือที่บ้านก็ปฏิบัติได้ ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ที่วัดหรือสำนักใด เพียงแต่ปฏิบัติจนรู้จักจิต จับทางเดินของจิต และจำทางเดินของจิตไว้ให้แม่นยำ ในเมื่อมีอารมณ์มากระทบ ผู้ปฏิบัติก็ย่อมได้รับประโยชน์จากการนับถือพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง

🌷 กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
(ใช้สติเข้าไปรู้เห็นกายทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง)

เป็นสติปัฏฐานหมวดแรก ซึ่งมีอยู่ ๑๔ บรรพะ คือ อานาปานสติ ๑ อิริยาบถ ๑ สัมปชัญญะ ๑ ปฏิกูล ๑ ธาตุ ๑ และป่าช้า ๙ ซึ่งทุกบรรพะจะมีคำว่า กายในกาย อยู่ตลอด ผู้ศึกษาจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องชัดเจนเสียก่อน จึงจะปฏิบัติตามได้ถูกต้อง

ลำดับการทำงานทางจิตในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
๑. พิจารณากายในกายเป็นภายในบ้าง
๒. พิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง
๓. พิจารณากายในกายทั้งภายในและภายนอกบ้าง

คำว่า กายในกาย ก็คือ นามกายซึ่งเกิดจากจิตยึดถือความนึกคิดในใจที่ซ้อนอยู่ในรูปร่างกายเนื้อ หรืออีกนัยหนึ่ง นามกาย ก็คือ ความนึกคิดที่เกิดขึ้นเมื่อมีอารมณ์มากระทบจิต ซึ่งเรียกว่า รูปกับนาม นั่นเอง

สำหรับในบรรพะที่กล่าวด้วยร่างกายเนื้อ(ปฏิกูล,ป่าช้า ๙) คำว่า กายในกาย ยังหมายถึง ส่วนประกอบย่อยๆ ส่วนใดส่วนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในรูปกายเนื้อทั้งหมดด้วย

คำว่า พิจารณากายในกายเป็นภายใน หมายถึง
พิจารณานามกายที่เกิดจากจิตยึดถือความนึกคิดถึงเรื่องราวทางใจภายใน ซึ่งซ้อนอยู่ในรูปร่างกายเนื้อของผู้ปฏิบัติ ซึ่งจะต้องฝึกทำจิตให้สงบโดยการปฏิบัติสมาธิให้คล่องแคล่วเป็นพื้นฐานเสียก่อน

คำว่า พิจารณากายในกายเป็นภายนอก หมายถึง
พิจารณานามกายที่เกิดจากจิตยึดถือความนึกคิดที่เกิดจากการรับรู้อารมณ์ภายนอก ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส (รวม ๕ ทาง) เป็นกายละเอียดที่ซ้อนอยู่ในรูปร่างกายเนื้อของผู้ปฏิบัติ ซึ่งจะต้องทำจิตให้สงบด้วยอำนาจปัญญาที่สั่งสมไว้จากการปฏิบัติสมาธิข้อแรก

และคำว่า พิจารณากายในกายทั้งภายในและภายนอก จึงหมายถึง
พิจารณานามกายที่เกิดจากจิตยึดถือทั้งความนึกคิดเรื่องราวทางใจภายใน และความนึกคิดจากการรับรู้อารมณ์ภายนอกรวม ๕ ทาง เป็นกายละเอียดที่ซ้อนอยู่ในร่างกายเนื้อของผู้ปฏิบัติ ซึ่งจะต้องปฏิบัติพร้อมกันไป และทำให้สงบด้วยกำลังของมรรคมีองค์ ๘ จนสามารถทำได้อย่างคล่องแคล่ว กลายเป็นอริยมรรคในที่สุด

🌷 อานาปานสติ (ใช้สติเพ่งดูลมหายใจเข้าออก)

เป็นวิธีปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ วิธีหนึ่งในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่สำคัญในพระพุทธศาสนา มีความจำเป็นและเหมาะสมสำหรับทุกคน เพราะทุกคนต่างก็มีลมหายใจเข้าออกอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเตรียมหาอุปกรณ์ให้ยุ่งยาก

ผู้ปฏิบัติสามารถลงมือทำได้ โดยแยกจิตซึ่งกำลังรับอารมณ์เฉพาะหน้า ให้เข้าไปเพ่งดูความเคลื่อนไหวของลมหายใจของตน ณ ฐานที่ตั้งสติ และประคองไว้ไม่ให้แลบหนีออกไปได้เท่านั้น จิตก็ย่อมสงบเป็นสมาธิทันที ผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติได้ทันทีตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่แห่งใดก็ตาม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ล้วนแล้วแต่ได้ทรงดำเนินไปทางนี้ จนกระทั่งตรัสรู้อริยสัจ ๔ เหมือนกัน แล้วก็ได้ทรงสั่งสอนชาวพุทธให้ปฏิบัติตามเสด็จด้วยวิธีอานาปานสติ ตลอดเวลาที่ประกาศพระศาสนาในชมพูทวีปในครั้งนั้นๆ ทุกพระองค์

ด้วยเหตุนี้ ชาวพุทธทั้งหลาย ควรจะได้ลงมือปฏิบัติอานาปานสติ คือ เพ่งดูลมหายใจเข้าออก ตามเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อช่วยกันจรรโลงการปฏิบัติธรรมให้มั่นคงถาวร ตลอดไป

ลมหายใจเข้าออกเป็นเครื่องชี้บอกลักษณะของจิต

ตามธรรมดาแล้ว ลมหายใจเป็นสังขารธรรม ซึ่งปรุงแต่งชีวิตคนและสัตว์ให้ดำรงอยู่ต่อไป ถ้าปราศจากลมหายใจเสียแล้ว คนและสัตว์ย่อมตายเป็นธรรมดา แต่เพราะว่ามีอารมณ์ต่างๆ เข้ามายั่วยวนยั่วยุจิตใจ ทั้งคนและสัตว์จึงไม่สนใจเรื่องลมหายใจเข้าออกของตนเสียอย่างสิ้นเชิง จึงได้ถูกอารมณ์ครอบงำจิตใจให้เกิดความยินดี-ยินร้ายตลอดเวลา แล้วส่งผลให้สภาพการเคลื่อนไหวของลมหายใจเข้าออกเปลี่ยนแปรไปด้วยเสมอ

กล่าวคือ ทำให้ลมหายใจเข้าออกทางช่องจมูก ช้าหรือเร็ว เย็นหรือร้อนแรง ละเอียดหรือหยาบ ไม่เหมือนกัน สุดแต่ความยินดียินร้ายจะปรุงแต่งจิตใจมากน้อยเพียงใดในขณะนั้นๆ ด้วย

ถ้าคิดถึงอารมณ์ที่น่ารักใคร่น่าพอใจ (อิฏฐารมณ์) ก็เกิดความชื่นชมยินดีโสมนัสขึ้นมา ลมหายใจก็ย่อมมีลักษณะเย็น ราบเรียบ เคลื่อนไหวเข้าออกช้าๆ

แต่ถ้าคิดถึงอารมณ์ที่ไม่น่ารักใคร่ (อนิฏฐารมณ์) ก็ย่อมเกิดความยินร้ายขัดเคือง ไม่ชอบใจโทมนัสขึ้นมา ลมหายใจก็ย่อมมีลักษณะร้อนแรง สะดุด ติดขัด หายใจหอบ และเคลื่อนเข้าออกเร็วกว่าปกติ

สภาพผิดปกติของลมหายใจดังกล่าวมานี้ จะเป็นไปมากกว่าหรือน้อยกว่าเดิมเพียงใดนั้น ย่อมแล้วแต่ความประทับใจที่เข้าไปยึดถืออารมณ์นั้นๆ ไว้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะต้องเกิดขึ้นแก่สามัญชนทุกรูปทุกนาม ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ลมหายใจเข้าออกสามารถชี้บอกสภาพจิตใจในแต่ละขณะได้โดยตรง

การปฏิบัติอานาปานสติ จะช่วยทำให้ผู้ปฏิบัติมีพลังจิตถอนความยึดถืออารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดถึงอารมณ์ได้ดี ถ้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็ย่อมปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลาย รวมทั้งความคิดถึงอารมณ์ให้หมดอย่างสิ้นเชิงได้ในที่สุด

เมื่อทำเช่นนี้แล้ว จิตก็หลุดพ้นจากการครอบงำของอารมณ์ คือ อารมณ์ไม่สามารถปรุงแต่งจิตได้อีกต่อไป และ ลมหายใจเข้าออก ก็ย่อมเคลื่อนไหวเข้าออก ราบเรียบ แผ่วเบา ประณีต ตามไปด้วยเป็นธรรมดา ดังนั้น จึงต้องยกจิตขึ้นเพ่งดูลมหายใจเข้าออก ณ ฐานที่ตั้งสติ เพื่อให้จิตทำงานเกี่ยวกับลมหายใจ แทนที่จะปล่อยให้สนใจอารมณ์ต่อไป

ถ้าลมหายใจสงบ จิตก็สงบด้วย

ผู้ปฏิบัติย่อมแลเห็นได้ว่าลักษณะของลมหายใจของแต่ละบุคคลนั้น สามารถชี้บอกความรู้สึกนึกคิดที่กำลังมีอยู่ได้ดี นับตั้งแต่ยกจิตเข้าสู่ฐานที่ตั้งสติเพื่อเพ่งดูความเคลื่อนไหวของลมหายใจ ณ ฐานนี้ (คัมภีร์พระอภิธรรม เรียกว่า เกิดอุคคหนิมิต)ได้แล้ว ผู้ปฏิบัติจะต้องทำงานแนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลมหายใจตลอดเวลา ลมหายใจที่เคยหยาบในระยะแรกๆ นั้น ก็จะแปรสภาพเป็นแผ่วเบา ละเอียด ประณีตขึ้น จนจับความเคลื่อนไหวเข้าออกได้ยากขึ้นตามลำดับ และดับหายไปจากความรู้สึกในที่สุด ซึ่งแสดงว่าจิตของผู้ปฏิบัติได้สงบตามลมหายใจที่สงบไปด้วย

เพราะฉะนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า การปฏิบัติอานาปานสติ ก็คือ การศึกษาให้รู้จักวิธีระงับลมหายใจเข้าออกที่หยาบ เพราะมีอารมณ์ที่น่ารักบ้างน่าชังบ้างเข้ามากระทบจิต แล้วส่งผลให้ลมหายใจเข้าออก ยาวบ้าง สั้นบ้างนั้น ได้ทำให้จิตกระเพื่อมไหวแลบออกไปจากฐานที่ตั้งสติแล้ว ผู้ปฏิบัติสามารถแก้ไขได้ โดยการย่อการเคลื่อนไหวของลมหายใจให้แคบลง ณ ฐานที่ตั้งสติ

การย่อลมหายใจที่กำลังจะขยายใหญ่ขึ้นเพราะอิทธิพลของอารมณ์ให้แคบลงนี้ (คัมภีร์พระอภิธรรมเรียก ปฏิภาคนิมิต) จะส่งผลให้ลมหายใจเคลื่อนไหวแผ่วเบา ประณีต ทำให้จิตสงบเป็นสมาธิได้ในที่สุด

ส่วนลมหายใจจะเคลื่อนไหวแผ่วเบาประณีตได้เร็วมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมแล้วแต่ความสามารถทำลมให้แคบและกว้างได้ชำนาญมากน้อย ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนให้เกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นสำคัญอย่างยิ่ง นั่นก็คือ การทำลมหายใจให้ละเอียดประณีตได้อย่างคล่องแคล่วชำนาญ จะสามารถทำให้จิตเป็นสมาธิได้เร็วที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ผู้ปฏิบัติจึงต้องจำวิธีย่อลมหายใจให้แคบเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ และจำวิธีขยายลมหายใจให้กว้าง เพื่อจะออกจากสมาธิ มาทำการงานอย่างอื่นๆ ไว้ให้ได้อย่างแม่นยำทั้งสองอย่างด้วย

ทั้งนี้เพื่อที่จะได้เข้าหรือออกจากสมาธิให้ได้อย่างคล่องแคล่วในครั้งต่อไป ได้ทันกับอารมณ์ที่จะเข้ามากระทบต่อไปอีกทุกอารมณ์

สิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องระวังโดยไม่ให้พลั้งเผลอ คือ ตอนขยายลมให้กว้างเพื่อออกจากสมาธิไปทำการงานนั้น จะต้องคอยระวังจิตมิให้แลบเตลิดออกไป จนจำทางกลับเข้าสมาธิครั้งใหม่ไม่ได้, มิให้เกิดขึ้น

คำแนะนำสำหรับผู้ปฏิบัติอานาปานสติ

สภาพลมหายใจที่ตกอยู่ใต้อำนาจพระไตรลักษณ์นี้ ผู้ปฏิบัติจะเริ่มเห็นตั้งแต่เพิกจิตออกจากอารมณ์เฉพาะหน้า และยกขึ้นสู่ฐานที่ตั้งสติทีเดียว

ผู้ที่ลงมือปฏิบัติใหม่ๆ จะพบจิตใจ ความคิดถึงอารมณ์ต่างๆ รวมทั้งลมหายใจของตน ดิ้นรนสับสนวุ่นวายอย่างยิ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่าง ความเพียรยกจิตเข้าสู่ฐานที่ตั้งสติ กับความปราดเปรียวของจิตที่จะดิ้นรนออกจากฐานดังกล่าว ไปอยู่กับอารมณ์อีกให้ได้เท่านั้น

ผู้ปฏิบัติใหม่ๆ บางคนถึงกับเหงื่อไหลโทรมกาย บางคนรู้สึกหายใจอึดอัด หายใจไม่ออก หายใจไม่ทัน แน่นหน้าอก บางคนก็แลเห็นภาพ หรือได้ยินเสียงที่น่ากลัว แล้วก็ตกใจสุดขีดจนพาลเลิกปฏิบัติต่อไปอีกก็มี

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาที่มักเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติใหม่ๆ เสมอ ผู้ปฏิบัติย่อมสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ โดยเพิ่มความเพียรพยายามนำจิตให้กลับมาตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติให้ได้อีกเท่านั้น ยิ่งได้ดึงจิตกลับเข้ามาตั้งที่ฐานที่ตั้งสติ บ่อยๆ มากๆ ครั้งเพียงใด พลังปัญญาที่จะปล่อยวางเรื่องดังกล่าว ก็ย่อมเกิดมากขึ้นเพียงนั้นด้วย จึงขออย่าได้ตกใจและคิดเลิกลาไปเสียก่อนโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็แล้วกัน เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีพิษ ไม่มีภัยอะไรเลย

ลำดับการทำงานทางจิตสำหรับการปฏิบัติอานาปานสติ

๑. พิจารณากายในกายเป็นภายในบ้าง
คือ เพ่งดูลมหายใจ เพื่อปล่อยวางความนึกคิดต่างๆ อันเกิดขึ้นภายในจิตใจ

๒. พิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง
คือ เพ่งดูลมหายใจ เพื่อปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ จากภายนอกรวม ๕ ทาง

๓. พิจารณากายในกายทั้งภายในและภายนอกบ้าง
คือมรรคจิตที่เพ่งดูลมหายใจ เพื่อให้จิตหลุดพ้นจากอารมณ์ทั้งภายในและภายนอก

ทั้ง ๓ ขั้นนี้ไม่ว่าจะปฏิบัติขั้นใดก็ตาม จุดสำคัญอยู่ที่ การทำลมหายใจที่หยาบและเคลื่อนไหวไม่ราบเรียบ เพราะถูกอารมณ์ปรุงแต่ง ให้เป็นลมหายใจที่ละเอียด และเคลื่อนไหวราบเรียบละเอียดประณีตให้มากที่สุด เพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิทั้งสิ้น

ผู้ปฏิบัติจะต้องยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ และประคองให้จิตตั้งมั่นไว้เฉพาะหน้า โดยวางจิตให้เป็นกลางที่สุด ไม่เอนเอียงไปสู่อารมณ์หรือนิมิตหมายใด ทั้งข้างซ้าย ข้างขวา ข้างหน้า ข้างหลัง และในขณะปัจจุบันด้วย ผู้ปฏิบัติจะต้องหมั่นฝึกทำลมให้ละเอียดให้ได้อย่างรวดเร็ว และประคองลมละเอียดไว้ตลอดเวลาให้ได้

๑. พิจารณากายในกายเป็นภายในบ้าง

การปฏิบัติอานาปานสติ เท่าที่บรรยายมานี้ ส่วนมากเน้นหนักไปในการระงับลมหยาบ ที่เกิดจากความนึกคิด อันเป็นอารมณ์ภายในของผู้ปฏิบัติเอง เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปฏิบัติจะต้องทำให้ได้เป็นพื้นฐานเสียก่อน ที่จะปฏิบัติธรรมขั้นต่อไป

ถ้าปราบความนึกคิดไม่ได้ จิตก็ย่อมฟุ้งซ่านและทิ้งฐานออกไปหาอารมณ์อื่นเสีย สติปัฏฐานก็ย่อมดับไปจากจิตอย่างสิ้นเชิง เมื่อทิ้งฐานที่ตั้งสติออกไป จิตก็ย่อมถูกอารมณ์ครอบงำชักพาให้เกิดความยินดี – ยินร้ายได้ตลอดเวลา

ดังนั้น การปฏิบัติสมาธิจึงเป็นหลักปฏิบัติที่จะต้องมี เพื่อเป็นบาทฐานสำหรับรองรับการปฏิบัติขั้นสูงต่อไป

กล่าวให้ชัดก็คืองานขั้นที่ ๑ นี้ คือ งานปฏิบัติสมาธิเพื่อปราบความนึกคิดฟุ้งซ่านซึ่งทำให้จิตซัดส่ายไปมา, ให้สงบ จัดเป็นงานทางจิตขั้นสำคัญและยากที่สุดที่จะต้องทำให้สำเร็จเป็นพื้นฐานให้ได้ ก่อนที่จะปฏิบัติงานทางจิตขั้นต่อไป

ถ้าทำไม่สำเร็จ ด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม ความนึกคิดฟุ้งซ่านซัดส่ายไปมาของจิต ก็ยังคงเคลื่อนไหวต่อไป จิตย่อมไม่สงบตั้งมั่น และปัญญาก็จะไม่เกิดขึ้น

ถ้าทำสำเร็จลงด้วยความพากเพียรโดยการปฏิบัติบ่อยๆ เนืองๆ แล้ว ผู้ปฏิบัติก็ย่อมมีประสบการณ์ในการทำให้จิตสงบตั้งมั่นมากขึ้นตามลำดับ พร้อมกับ สั่งสมพลังปัญญา ที่จะปล่อยวางความนึกคิด ฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปมาได้มากขึ้นด้วย และพลังปัญญานี้จะถูกนำไปใช้ในการปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ จากภายนอกที่เข้ามา ๕ ทาง ในการปฏิบัติงานทางจิตขั้นที่ ๒ และ ขั้นที่ ๓ ต่อไปตามลำดับด้วย

๒. พิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง

เมื่อผู้ปฏิบัติมีความชำนาญในการปฏิบัติสมาธิ ตามที่ได้บรรยายมาแล้ว งานปฏิบัติขั้นต่อไปก็คือ

การปราบความวุ่นวายทางใจ เมื่อมีอารมณ์ภายนอกเข้ามากระทบ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส รวม ๕ ทางให้ได้ด้วย ซึ่งจะต้องนำเอาความชำนาญที่ได้รับจากการปฏิบัติสมาธิปราบความนึกคิดภายในมาใช้เป็นบาทฐาน

นั่นคือ เอาพลังปัญญาที่สั่งสมไว้จากการปฏิบัติสมาธิ มาปล่อยวางอารมณ์ที่มากระทบทางอายตนะทั้ง ๕ ให้ได้จนชำนาญอีกด้วย เพื่อที่จะทำให้จิตหลุดพ้น หรือเป็นจิตที่ตั้งมั่นอยู่ด้วยตนเองตลอดไป โดยไม่ให้ขาดระยะเลย

ทั้งนี้หมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องยกจิตไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติตั้งแต่วินาทีแรกที่ตื่นนอน ติดต่อกันไปจนกระทั่งวินาทีสุดท้ายที่จะเข้านอน โดยมิให้จิตกระเพื่อมไหวเลย

ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องเพียรทำให้ได้ใน ๒ – ๓ วันแรกเท่านั้น จิตของผู้ปฏิบัติในระยะนี้จะกระสับกระส่าย ดิ้นรน ที่จะออกไปอยู่กับอารมณ์ตามความเคยชิน ที่เรียกว่า อนุสัย นั่นเอง อุปมาดังปลาที่เคยอยู่ในน้ำแต่ถูกจับโยนขึ้นไปบนตลิ่ง ปลาย่อมดิ้นรนที่จะกลับคืนไปอยู่ในน้ำตามเดิม ฉันใดก็ฉันนั้น

การยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ และคอยระวังประคองไว้ไม่ให้แลบออกไปได้ตลอดเวลานี้ เป็นการอบรมจิตเพื่อสร้างความเคยชินใหม่ให้เกิดขึ้นในทิศทางที่ฝืนกับความเคยชินเดิม ทำให้จิตเป็นอิสระ ไม่ต้องอาศัยอยู่กับอารมณ์ใดๆ อีกต่อไป ทั้งกามภพ รูปภพ อรูปภพ จิตไม่ต้องพลอยเกิดพลอยตายตามอารมณ์ใดๆ ในโลกอีกต่อไป

๓. พิจารณากายในกายทั้งภายในและภายนอกบ้าง

งานปฏิบัติขั้นนี้ เป็นงานปฏิบัติสติปัฏฐานขั้นสุดท้ายที่ผู้ปฏิบัติได้อบรมจิตมามากพอสมควร จนรู้และจำทางเดินของจิตได้อย่างคล่องแคล่วขึ้น จึงรวมงานขั้นที่ ๑ กับขั้นที่ ๒ เข้าปฏิบัติด้วยกันและพร้อมกันไป

ดังนั้น จึงเป็นงานปฏิบัติขั้นมรรคจิต หรือ อริยมรรค สำหรับตัดอารมณ์ออกไปจากจิต

คือไม่ให้ยึดถืออารมณ์ใดๆ ที่เข้ามากระทบจิตแม้แต่น้อย อารมณ์ซึ่งเคยเรียกว่าอารมณ์ ก็ไม่ใช่อารมณ์อีกต่อไป และเมื่อจิตมิได้ยึดถือไว้แล้ว การกระทบนั้นๆ ก็อยู่ในสภาพเพียงสักแต่ว่ากระทบเท่านั้น ไม่สามารถครอบงำจิตให้เกิดความยินดียินร้ายขึ้นได้อีก เหมือนสามัญชนทั้งหลาย

เมื่อความยินดียินร้ายไม่ครอบงำจิตใจผู้ปฏิบัติแล้ว นามกายก็ย่อมแตกแยก กล่าวคือ ไม่เกิดความคิดพึงพอใจที่จะไปสร้างรูปร่างกายใหม่อีก ในเมื่อร่างกายชุดปัจจุบันตายลงแล้ว

ถึงแม้ว่าร่างกายชุดปัจจุบันจะยังคงดำรงอยู่เพราะยังไม่สิ้นอายุขัยก็ตาม จิตก็คงทำหน้าที่ประคับประคองรักษาไว้ เพื่อทำความดีให้แก่สังคมเท่านั้น ไม่ได้อยู่เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ตนเองแต่ประการใดทั้งสิ้น

ดังนั้น ความนึกคิดทั้งหลายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติขั้นมรรคจิตนี้ จึงเป็นธรรม ซึ่งเรียกว่า พระธรรม

อารมณ์ใดๆ ที่เข้ามากระทบจิตของผู้ปฏิบัติขั้นมรรคจิต ย่อมหลุดร่อนออกเป็นผลจิตทันที มิได้ทำให้จิตเศร้าหมองได้เลย ดุจดังน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว แต่ไม่เปียกใบบัว ฉะนั้น

กล่าวคือ ใบบัวก็อยู่ส่วนใบบัว น้ำก็อยู่ส่วนน้ำ มิได้ส่งผลกระทบใดๆ ถึงกัน ทั้งๆ ที่อยู่ด้วยกัน นี่คือสภาพจิตที่เป็นพระธรรม หลังจากผ่านการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ มาครบถ้วนสมบูรณ์ดีแล้ว

🌷 อิริยาบถ ๔ (ใช้สติเพ่งดูอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง)

อิริยาบถ ๔ นี้ เป็นบรรพะหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้ในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อให้พระสาวกใช้เป็นฐานสำหรับตั้งสติลงที่อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งเฉพาะหน้าเมื่อมีอารมณ์มากระทบจิต ทั้งเรื่องที่นึกคิดและเรื่องที่เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส อีกรวม ๕ ทางด้วย

อารมณ์ดังกล่าวนี้ ย่อมปรุงแต่งจิตให้ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่าย แล้วเกิดรัก – ชังติดตามมาด้วยตลอดเวลาเป็นธรรมดา แต่ถ้ารวมจิตหรือยกจิตให้มากำหนดดูอยู่ที่อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งเฉพาะหน้าแล้ว จิตย่อมสลัดอารมณ์ทั้งหลายออกไปได้ เช่นเดียวกับการปฏิบัติอานาปานสติเหมือนกัน

และถ้าหากผู้ปฏิบัติกำหนดดูอยู่ที่อิริยาบถได้ตลอดไป จิตก็ย่อมหลุดพ้นจากการปรุงแต่งของอารมณ์ได้ในที่สุด ดังเช่นพระอานนท์ ผู้เป็นพุทธอุปฐาก ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ในท่าที่กำลังจะเอนกายจากท่านั่งเพื่อจะลงนอน ในวันก่อนที่จะทำปฐมสังคายนา (สะสางร้อยกรองคำสั่งสอนให้ถูกต้องครั้งแรก) เพียงวันเดียวเท่านั้น เป็นต้น

รูปร่างกายของผู้ปฏิบัติที่กำลังเคลื่อนไหวไปในอิริยาบถ ๔ ดังกล่าวข้างต้นนี้ ย่อมเป็นไปตามความประสงค์ของจิตที่เป็นประธานคอยคุมครอบครองอยู่ตลอดเวลาทุกประการ

ถ้ากระทำให้ช้าๆ สมาธิจะเกิดขึ้นจากอิริยาบถเฉพาะหน้ามากขึ้น โดยมีรูปร่างกายเป็นอารมณ์ตามลำดับ … อารมณ์ทั้งหลายอื่นๆ ดับไปแล้ว เพราะยกจิตออกมาตั้งไว้ที่รูปร่างกายที่กำลังเคลื่อนไหวในอิริยาบถทั้ง ๔

อิริยาบถจึงเป็นฐานที่ตั้งสติของผู้ปฏิบัติที่จะต้องประคองจิตไว้ เพื่อไม่ให้แลบหนีออกไปอยู่ที่อื่น รวมทั้งฝึกหัดยกจิตออกจากอารมณ์ทั้งหลาย มาตั้งไว้ ณ อิริยาบถเฉพาะหน้าของตนอย่างคล่องแคล่ว และด้วยความชำนาญทุกขณะจิตอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง หรือนอน ก็ตาม

หลักปฏิบัติอิริยาบถ ๔ ซึ่งอยู่ในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็คือ

ผู้ปฏิบัติจะต้องรวมจิตให้เข้ามาตามรู้ความเคลื่อนไหวของร่างกายให้ทันทุกขณะ โดยประคองจิตไว้ด้วยอุบายอันชอบ และไม่เผลอปล่อยให้อารมณ์หรือความคิดถึงเรื่องอื่นใดเข้ามาแทรกซ้อนได้ แม้แต่น้อย

การเคลื่อนไหวร่างกายในขณะปฏิบัติอิริยาบถ ๔ นี้ ให้กระทำอย่างช้าๆ ต่อเนื่องกันไปตลอดเวลาโดยไม่มีเลิกทำสติให้ขาดตอน

ในระยะแรกๆ จิตผู้ปฏิบัติจะแลบหนีออกไปจากฐานที่ตั้งสติคืออิริยาบถนี้บ่อยๆ แต่ให้ผู้ปฏิบัติดึงกลับคืนมาตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ ด้วยอุบายอันแยบคายให้ได้ โดยไม่คิดย่อท้อ หรือเบื่อหน่ายแล้วพาลเลิกไปเสียก่อน

เพราะการดึงจิตที่แลบให้กลับมาตั้งที่ฐานดังกล่าวนี้ ก็คือ พลังปัญญาที่ผู้ปฏิบัติจะได้รับเพิ่มขึ้นมากขึ้นตามลำดับนั่นเอง

ถ้าผู้ปฏิบัติคอยระวังให้จิตอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติตลอด ไม่ปล่อยให้แลบหนีออกไปทุกอิริยาบถ จนจิตเชื่องในที่สุด สมาธิก็ย่อมเกิดขึ้น และสงบมากขึ้นตามลำดับ

เมื่อจิตสงบถึงขีดสุดแล้ว ผู้ปฏิบัติย่อมรู้เห็นเองอย่างชัดเจนว่า กายกับจิตเป็นคนละส่วนกัน แต่อยู่ด้วยกัน และร่างกายนี้จะเป็นไปหรือเคลื่อนไหวอย่างไร ก็ย่อมแล้วแต่จิตสั่งให้เป็นไปทั้งสิ้น

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ ผู้ปฏิบัติจะต้องจำวิธีทำจิตหรือรวมจิตให้สงบอย่างแม่นยำ และทำได้อย่างคล่องแคล่วในเมื่อมีอารมณ์มากระทบจิตในครั้งต่อไป

อนึ่ง ผู้ปฏิบัติพึงสังเกตว่า พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติอิริยาบถไว้ ๔ ประการ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน เท่านั้น เพื่อให้พระสาวกใช้เป็นฐานที่ตั้งสติ โดยไม่มีอิริยาบถวิ่งอยู่ด้วยเลย ทั้งๆ ที่อิริยาบถวิ่งนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวไปได้ เช่นเดียวกับอิริยาบถเดินเหมือนกัน

ถ้าหากพิจารณากันให้ถี่ถ้วนแล้ว การวิ่งนี้เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่รวดเร็ว จิตทำงานอย่างกระสับกระส่าย จึงไม่ทรงโปรดให้พระสาวกวิ่งในการปฏิบัติธรรมเลย ไม่ว่าจะเสด็จไปสั่งสอน ณ ที่ใดก็ตาม และได้ทรงแสดงเกี่ยวกับอิริยาบถวิ่งนี้ไว้ว่า

บุคคล ๔ ประเภทต่อไปนี้ไม่ควรวิ่ง เพราะวิ่งแล้วทำให้ไม่สง่างาม คือ ๑. พระราชา ๒. พระสงฆ์ ๓. สตรี ๔. ช้าง

รวมความแล้ว การวิ่งเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่รวดเร็ว จึงเป็นการยากที่จะกำหนดให้ทันอิริยาบถในขณะที่กำลังเป็นปัจจุบัน จึงอาจกลายเป็นอดีต หรือนึกคาดคะเนเอาอิริยาบถในอนาคตอันใกล้ก็ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งที่เป็นปัจจุบัน จึงทำได้ยากตามไปด้วย ดังนั้น จึงประคองจิตให้สงบเป็นสมาธิไม่ได้ เพราะฐานที่ตั้งสติไม่ได้อยู่ในสภาพที่เด่นชัดและมั่นคงเพียงพอ วุ่นวายไปในร่างกายอย่างรุนแรงและมากมาย จนเป็นการยากที่จะควบคุม และนำกลับมาไว้ที่ฐานที่ตั้งสติได้อย่างมั่นคง

ด้วยเหตุนี้ ผู้ปฏิบัติจึงต้องเคลื่อนไหวร่างกายช้าๆ เพื่อให้จิตมีโอกาสตั้งมั่นอยู่กับอิริยาบถปัจจุบันตลอดเวลาทุกๆ อิริยาบถ จนแยกกายกับจิตออกเป็นคนละส่วนได้ในที่สุด

🌷 สัมปชัญญะบรรพะ (ความรู้ตัวทั่วพร้อมในอิริยาบถย่อย)

สัมปชัญญะบรรพะ เป็นบรรพะที่ว่าด้วยการใช้สติกำกับทุกอิริยาบถย่อยที่ผู้ปฏิบัติเคลื่อนไหวร่างกาย ไปในระหว่างอิริยาบถใหญ่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ในอิริยาบถบรรพะ

ในส่วนอิริยาบถย่อยนั้น คือ ไม่ว่าจะก้าวไปข้างหน้า หรือถอยไปข้างหลังก็ดี เหลียวไปข้างซ้ายหรือแลไปข้างขวาก็ดี คู้อวัยวะเข้าหรือเหยียดออกก็ดี ทรงผ้าสังฆาฏิ – บาตรหรือจีวรก็ดี กิน – เคี้ยว – ดื่ม – ฉัน หรือลิ้มก็ดี ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะก็ดี ยืน – เดิน – นั่ง – หลับ – ตื่น – พูด หรือนั่งเฉยก็ดี เหล่านี้ ผู้ปฏิบัติจะต้องใช้สติกำกับอยู่กับอิริยาบถย่อย ที่กำลังกระทำอยู่เฉพาะหน้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้เอาสติไปตั้งไว้ที่ฝ่าเท้า ขณะก้าวกระทบพื้น ทุกก้าวของอิริยาบถเดินหน้า – ถอยหลัง มิให้ขาด เพื่อไม่ปล่อยจิตให้แลบหนีไปอยู่กับอารมณ์ต่างๆ ภายนอกได้เลย

แสดงว่า ผู้ปฏิบัติต้องยกจิตไปตั้งไว้และประคองไว้ตลอดเวลา จากอิริยาบถย่อยหนึ่งถึงอิริยาบถย่อยอีกอิริยาบถหนึ่ง จิตได้บรรลุเข้าสู่ปฐมฌานเท่านั้น ไม่มีโอกาสก้าวขึ้นสู่ฌานที่สูงขึ้นไปอีก ตลอดการปฏิบัติสัมปชัญญะบรรพะ

ดังนั้นจึงแลเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องคอยยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่อิริยาบถปัจจุบัน และยกจิตออกเมื่ออิริยาบถปัจจุบันนี้คล้อยตัวออกไปเป็นอดีต อย่างระมัดระวัง เอาไปตั้งที่อิริยาบถใหม่ที่เข้ามาแทนที่ กล่าวคือ ต้องทำหน้าที่วิตกกับวิจารเท่านั้น ซึ่งเป็นผลให้ ปีติกับสุข ที่ทำงานได้สำเร็จ

เมื่อหยุดเคลื่อนไหว คือนิ่งอยู่ ผู้ปฏิบัติจะต้องควบคุมจิตให้สงบอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ จิตก็จะไม่มีโอกาสแลบหนีไปสู่อารมณ์อื่นได้ แต่ถ้าเผลอหรือประคองไว้ไม่แยบคาย จิตก็จะแลบออกจากฐานที่ตั้งสติทันที ฌานก็ดับ

นั่นก็คือ สัมปชัญญะบรรพะ จะช่วยเสริมการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ให้ละเอียด ประณีตมากยิ่งขึ้น เพราะปัญญาที่เกิดจากการรู้ตัวทั่วพร้อม จะป้องกันไม่ให้จิตแลบหนี ทำให้จิตอยู่ในสัมมาสมาธิได้ดีทีเดียว

🌷 ปฏิกูลบรรพะ (ว่าด้วยกายเป็นของปฏิกูล)

บรรพะนี้ ว่าด้วยการพิจารณาให้เห็นร่างกาย ที่ผู้ไม่ได้ปฏิบัติเห็นว่าเป็นของสวยงามน่ารักใคร่กันอยู่นี้ ว่าเป็นของปฏิกูล – ไม่สวยงาม

ตามปรกติแล้ว สามัญชนย่อมสั่งสอนอบรมบุตรหลานให้รักใคร่ยินดี และทนุถนอมรูปร่างกายของตนว่า เป็นสิ่งที่สวยงามน่ารักใคร่อย่างยิ่ง ดังนั้นจึงได้พากันรักใคร่ยึดถือไว้อย่างเหนียวแน่น ที่จะไม่ให้เจ็บป่วยหรือเสื่อมสภาพของการใช้งานต่างๆ เช่น รับรู้อารมณ์ทั้งหลายได้ดีตลอดไปอย่างเที่ยงแท้ถาวร เป็นต้น

ทุกคนลืมระลึกไปว่า ต้นกำเนิดของร่างกายนี้ มาจากหยดน้ำที่ผสมในครรภ์มารดา ซึ่งประกอบด้วยสิ่งสกปรกเป็นปฏิกูลหล่อเลี้ยงรักษาและห่อหุ้มไว้ จนถึงวันคลอดออกมาสู่โลกภายนอก

เมื่อคลอดออกมาแล้ว ก็ต้องกินอาหารเป็นคำๆ เข้าไปเก็บไว้ในท้อง ดุจดังไถ้บรรจุอาหารที่มีสองปาก คือ กินเข้าทางหนึ่ง ถ่ายออกอีกทางหนึ่ง และอาหารที่กินเข้าไปนั้นเล่า ก็ต้องเน่าบูดฝังอยู่ในท้อง ดุจป่าช้าฝัง กุ้ง ปู ปลา หอย ไว้ ฉนั้น

ดังนั้น รูปร่างกายนี้จึงหาได้สวยสดงดงามอย่างที่ยึดถือกันไว้ไม่ ที่แท้จริงแล้วก็คือ อสุภะ (ไม่งาม) นั่นเอง

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติบรรพะนี้จึงต้องกระทำในขณะที่จิตควรแก่การงาน อสุภะที่จะเพ่งพินิจนั้น ก็ควรเป็นศพที่ขึ้นอืดแล้ว และเข้าไปพิจารณาทางด้านเหนือของลม เพื่อไม่ให้กลิ่นรบกวน จึงจะดีและไม่เกิดโทษ

เมื่ออุคคหนิมิต (นิมิตติดตา) เกิดขึ้นทางใจ ผู้ปฏิบัติที่มีนิสัยค่อนข้างกลัว จะเห็นไปว่าถูกผีหลอก หรือผู้ปฏิบัติที่เห็นศพอยู่นานๆ แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดหรือไปข้างไหนก็ตาม จะแลเห็นภาพศพมาปรากฏอยู่เฉพาะหน้า ติดตาติดใจอยู่ อาจทำให้ตกใจกลัว และถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ เกิดเจ็บไข้ “หัวโกร๋น” ไปก็มี จนต้องหาหมอมารักษากันยกใหญ่ทีเดียว

การที่เห็นภาพศพมาปรากฏติดตาติดใจ จัดเป็นอุคคหนิมิตนี้ เป็นเรื่องดีที่ผู้ปฏิบัติจะตั้งสติให้มั่นคง เพื่อเพ่งพิจารณายกระดับขึ้นสู่ความสงบ เป็นฌานต่อไปตลอดเวลา

ซึ่งจะช่วยให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้าและแลเห็นพระไตรลักษณ์ พร้อมกับปล่อยวางความยึดถือร่างกายด้วยความสำคัญผิด ออกไปได้ในที่สุด ถ้าไม่กลัวและสำคัญผิดแล้ว ผีก็ย่อมทำอะไรไม่ได้ เพราะรูปร่างกายของเรา ก็เป็นอสุภะน่าเกลียดน่ากลัวเช่นเดียวกับศพ นั่นเอง

แต่สภาพที่ไม่งดงามโดยเป็นอสุภะไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจน ก็เพราะยังมีชีวิต และเอาสิ่งภายนอกมาปกปิดไว้ จึงทำให้เห็นว่าร่างกายนี้สวยงามน่ารัก ซึ่งตรงกันข้ามกับความจริงพื้นฐานไป

ถ้าสมมุติว่า เราจะถอดเอาสิ่งปกปิดภายนอกออกไป แล้วกลับเอาชิ้นส่วนอาการ ๓๒ ออกมาอยู่ภายนอกผิวหนังเสีย ทุกคนก็จะต้องคอยถือไม้ไล่กาและสุนัขที่จะเข้ามากัดกินอย่างแน่แท้

ผู้ที่ขาดปัญญาย่อมเข้าใจผิดในร่างกายของตน ว่าสวยงามอยู่ แล้วทำความชั่วบาปกรรมทั้งหลาย ซึ่งมีทุคติเป็นที่รองรับ และยังไม่พ้นทุกข์จากการเกิด แก่ เจ็บ ตายไปได้เลย

การเจริญอสุภะ หรือ ป่าช้า ๙ จนอุคคหนิมิตเกิด และเป็นปฐมฌานแล้ว ผู้ปฏิบัติจะต้องเปลี่ยนฐานที่ตั้งสติมาไว้ที่ฐานลมกระทบที่ได้เคยอุปโลกน์ไว้ก่อนแล้ว, แทนที่เสีย แล้วเพ่งลมหายใจเข้าออกจนเกิดปฏิภาคนิมิต คือ ย่อลมหายใจให้ละเอียดลง เพื่อนำจิตให้สงบมากขึ้นตามลำดับ จนสงบถึงขีดสุดในที่สุด

เพราะ ปฏิกูลบรรพะไม่อาจทำให้ก้าวเข้าสู่ฌานที่สูงกว่า “ปฐมฌาน” ได้

การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติปฏิกูลบรรพะนี้ขึ้น ก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติธรรมพิจารณาดูรูปร่างกายให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ส่วนต่างๆ ที่ประกอบเป็นร่างกายนี้ขึ้น มิได้สวยสดงดงามอย่างที่เข้าใจกันเลย คงเป็นสิ่งที่จิตได้สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่อาศัยรับรู้อารมณ์ (ภพ) ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น เมื่อสิ้นเหตุปัจจัยลงเมื่อใด ก็ย่อมแตกแยกสลายตัวเน่าเปื่อย ผุพัง จนเข้าสู่สภาพที่ไม่งดงามเป็นอสุภะเมื่อนั้น

ในทางปฏิบัติที่พระอุปัชฌาย์สอนผู้เข้าบวชใหม่ในวันแรกเริ่มบวชนั้น ท่านสอนให้เพ่งพิจารณาดูชิ้นส่วนภายนอกที่สามารถแลเห็นชัดด้วยตา คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง รวม ๕ ประการ โดยอนุโลมและปฏิโลม (กลับไปกลับมา)

เพื่อให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปฏิกูล ไม่เที่ยงแท้ถาวรอะไรเลย ไม่จีรังยั่งยืน คือ ต้องเปลี่ยนแปร แก่เฒ่า และเสื่อมสลายไปในที่สุดเป็นธรรมดา เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นชัดเจนแล้ว ก็ย่อมเกิดญาณ (รู้ตามความเป็นจริง) แก่กล้า ยกจิตเข้าไปเพ่งดูชิ้นส่วนอื่นๆ ในร่างกายต่อไปอีกครบ ๓๒ ประการ และกำจัดความเห็นผิดในรูปร่างกายเสียได้

ดังพุทธอุทานว่า “เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมกำจัดมารและเสนามาร (กิเลสน้อยใหญ่ที่ทำให้จิตเข้าไปยึดถือไว้ผิดๆ) มิให้ดำรงอยู่ได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัยกำจัดความมืด ทำให้อากาศสว่าง ฉนั้น”

🌷 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ใช้สติเข้าไปรู้เห็นเวทนาทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง)

คำว่า เวทนา ในพระพุทธศาสนา หมายถึง ความรู้สึกที่จิตมีต่ออารมณ์ที่เข้ามากระทบ แล้วทำให้เกิดความยินดี (พอใจ) – ยินร้าย (ขัดเคือง) เท่านั้น ไม่ได้หมายถึง ความน่าสงสาร เหมือนดังที่สังคมเข้าใจกันอยู่ตามปกติ แต่ประการใด

ลำพังจิตเองนั้น ไม่ได้มีอะไร หรือ ไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น และไม่ใช่ดี ไม่ใช่ชั่ว ไม่ใช่ทุกข์ และไม่ใช่สุขอีกด้วย เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบจิต เวทนาก็เกิดตามด้วยทันที ถ้ายังไม่มีอารมณ์มากระทบ เวทนาก็ยังไม่เกิด

ดังนั้น เวทนาจึงเป็นผลที่เกิดจากจิตกระทบกับอารมณ์ และถ้าจิตยึดถือเวทนานั้นๆ ไว้ ทุกข์ก็เกิดซ้อนขึ้นมาด้วย เพราะฉะนั้นจิตที่เข้ามาสัมผัสกับอารมณ์ จึงมีความรู้สึก (เวทนา) ควบคู่อยู่ด้วยเสมอไป

เวทนาจึงเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อมีอารมณ์มากระทบจิต หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นอาการที่จิตแสดงออกมาในขณะนั้นด้วย จัดเป็นนาม ในขันธ์ ๕

ถ้าจิตเข้าไปยึดถือเวทนาที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยอารมณ์ต่างๆ ไว้ จิตก็ย่อมฟุ้งซ่านซัดส่ายตามเวทนาที่กำลังปรุงแต่งไปด้วย ส่วนจะฟุ้งซ่านหวั่นไหวมากหรือน้อยเพียงใดนั้น ย่อมแล้วแต่ความยินดี – เพลิดเพลิน ถ้ายึดถือมาก ก็ทุกข์มาก ถ้ายึดถือน้อย ก็ทุกข์น้อย ถ้าไม่ยึดถือเลย ก็ไม่มีทุกข์

ในพระสูตรหลายแห่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงยกอุปมาอุปมัยเรื่องจิตซึ่งไม่มีรูปร่างนี้เทียบกับน้ำ เพื่อให้มองเห็นอาการของจิตเป็นรูปธรรมว่าไม่เที่ยงแท้ถาวร

เผณุปิณฺฑูปมํ รูปํ : รูป (อารมณ์)เปรียบเหมือนฟองน้ำ
เวทนา ปุพฺพลูปมา : เวทนา เปรียบเหมือนต่อมน้ำ
มริจิกูปมา สญฺญา : สัญญา เปรียบเหมือนพยับแดด
สงฺขารา กทลูปมา : สังขาร เปรียบเหมือนต้นกล้วย
มายูปมญฺจ วิญฺญาณํ : วิญญาณ เปรียบเหมือนคนเจ้าเล่ห์
เทสิตาทิจฺจ พนฺธุนา : พระองค์ผู้เผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ได้ทรงเทศนาไว้ ดังนี้

ตามธรรมดา หยดน้ำนั้นเมื่อหยดลงน้ำ น้ำย่อมกระเพื่อมที่ผิวน้ำ แต่ในใต้ผิวน้ำ ย่อมไม่มีทั้งหยดน้ำและการกระเพื่อมใดๆ อาการกระเพื่อมเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยจากภายนอกมากระทบผิวน้ำ ถ้าไม่มีอะไรมากระทบ ผิวน้ำย่อมสงบราบเรียบเป็นเส้นระดับ ข้อนี้ฉันใด

สภาพเดิมของจิตที่ยังไม่มีอารมณ์เข้ามากระทบ ย่อมสงบนิ่งเฉย ไม่มีอาการรัก – ชังใด ๆ ปรากฏอยู่ ถ้ามีอารมณ์เข้ามากระทบ ความรัก – ชังก็ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกัน ทำให้จิตหวั่นไหวตามไปด้วย ข้อนี้ก็ฉันนั้น อาการของจิตที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ไม่เที่ยงทั้งสิ้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงชี้ให้เห็นใน “อนัตตลักขณสูตร” ว่าดังนี้ “เวทนาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่ใช่ตัวตนของเรา คือ เวทนาเป็นอนัตตา”

ซึ่งหมายความว่า “เวทนาอาการหวั่นไหวนั้นไม่ใช่เรา ซึ่งอยู่ในสภาพเดิมอันสงบ เราซึ่งอยู่ในสภาพเดิมอันสงบ ก็ไม่ใช่เวทนา เรากับอาการหวั่นไหวที่เกิดขึ้น เป็นคนละส่วนกัน”

สิ่งใดไม่ใช่เรา เราจะละทิ้งเสียหรือยึดถือไว้ก็ได้ แต่ตัวของเราเองนั้น จะยึดถือไว้หรือละทิ้งเสีย ย่อมไม่เกิดผลอะไร นอกจากเป็นความเข้าใจผิดที่ไม่รู้จักตัวเองเท่านั้น

ลำดับการทำงานทางจิตในหมวดเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๓ ขั้น
๑. พิจารณาเวทนาในเวทนาเป็นภายในบ้าง
๒. พิจารณาเวทนาในเวทนาเป็นภายนอกบ้าง
๓. พิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งภายในและภายนอกบ้าง

งานทั้ง ๓ ขั้นนี้ ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกสติให้ตั้งมั่นอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติบ่อยๆ เนืองๆ จนสามารถทำสติให้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เพื่อที่จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกพอใจ (สุข) – ไม่พอใจ (ทุกข์) ทั้งหลาย ที่เนื่องด้วยอารมณ์ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง เป็นเป้าหมายในที่สุด

ดังนั้น ฐานที่ตั้งสติจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ปฏิบัติจะต้องอุปโลกน์ขึ้น และจำไว้ในใจให้แม่น ก่อนปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ เพื่อที่จะยกจิตเข้าไปตั้งได้โดยสะดวก ซึ่งโดยปกติแล้ว ใช้จุดที่ลมหายใจกระทบภายในช่องจมูก เพียงจุดเล็กๆ จุดเดียว เป็นฐานที่ตั้งสติสำหรับการปฏิบัติธรรมทั้ง ๔ หมวด

เมื่อความรู้สึกชอบใจ (สุข) – ไม่ชอบใจ (ทุกข์) เกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติจะต้องรีบยกจิตออกจากความรู้สึกนั้นๆ ให้เข้าไปตั้งที่ฐานที่ตั้งสติ พร้อมกับประคองไว้ด้วยความแยบคาย เพื่อไม่ให้จิตแลบหนีออกไปหาความรู้สึกสุข – ทุกข์อื่นใดอีก อันเป็นเหตุทำให้จิตวุ่นวาย กระสับกระส่ายได้ต่อไป ให้ฝึกทำเช่นนี้ทุกครั้งที่มีอารมณ์เข้ามากระทบ จนจิตรวมเป็นสมาธิสงบถึงขีดสุด

ผู้ปฏิบัติจะต้องเพียรพยายามทำดังกล่าวนี้ จนคล่องแคล่ว ถึงขั้นที่ว่าพอน้อมยกจิตให้เป็นสมาธิเท่านั้น จิตก็สงบถึงขีดสุดได้ทันที เมื่อจิตสงบถึงขีดสุดแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นก็ขาดหายไปอย่างสิ้นเชิงด้วย

มีพุทธพจน์ในโสฬสปัญหา รับรองอยู่ดังนี้ “อชฺฌตฺตญฺจ พหิทฺธาจ เวทนํ นาภินนฺทิตํ, เอวํ สตสฺส จรโต วิญฺญาณํ อุปรุชฺฌตีติ” แปลว่า “ถ้าไม่เพลินยิ่งในเวทนาทั้งหลายทั้งภายในและภายนอก โดยการประพฤติให้มีสติเช่นนี้แล้ว วิญญาณย่อมดับลง ด้วยประการฉะนี้”

นั่นคือ วิญญาณ (การรับรู้) ทางอายตนะทั้ง ๖ เป็นเพียงกระทบก็สักแต่ว่ากระทบเท่านั้น ไม่ส่งผลให้เกิดกิเลสที่ทำให้มีการยึดมั่นถือมั่นใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการกระทำกรรมต่อไป ด้วยเหตุนี้ พระอรหันต์จึงตัดกรรมได้ขาดอย่างสิ้นเชิง และไม่มีการสร้างภพสร้างชาติใหม่ต่อไปอีกในที่สุด

๑. พิจารณาเวทนาในเวทนาเป็นภายในบ้าง

การพิจารณาเวทนาในเวทนาเป็นภายใน ก็คือ การปราบความนึกคิดฟุ้งซ่านที่เกิดจากจิตนำเอาเรื่องราวต่างๆ ในอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว มาคิดปรุงแต่งขึ้นในใจอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่างจากอารมณ์ใดๆ เฉพาะหน้า จึงมีความรู้สึกทุกข์ – สุข กระสับกระส่าย เพราะเข้าไปยึดถือความรู้สึกอันนั้นไว้

ผู้ปฏิบัติ จะต้องรีบพรากจิตออกจากเรื่องที่นึกคิดนี้ แล้วยกเข้ามาตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติโดยเร็ว พร้อมกับประคองไว้ด้วยอุบายอันแยบคาย เพื่อไม่ให้จิตแลบหนีออกจากฐานได้อีก ถ้าประคองได้สำเร็จ จิตก็เป็นสมาธิ

หรืออีกนัยหนึ่ง ทันทีที่จิตรู้สึกพอใจ – ไม่พอใจในเรื่องที่นึกคิดเฉพาะหน้า ก็ให้ยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ โดยสลัดความรู้สึก (เวทนา) ในเรื่องที่กำลังนึกคิดฟุ้งซ่านอยู่เสียโดยเร็ว จิตก็สงบไม่ซัดส่ายไปมาต่อไปอีก

กล่าวให้ชัดที่สุดก็คือ งานขั้นที่ ๑ นี้ เป็นงานทำสมาธิโดยตรง จัดเป็นงานทางจิตที่ผู้ปฏิบัติจะต้องเพียรพยายาม ทำให้สำเร็จอย่างคล่องแคล่ว ถ้าทำให้สำเร็จจนชำนาญคล่องแคล่วแล้ว จิตก็จะมีพลังปัญญา สำหรับปล่อยวางอารมณ์อย่างอื่นเป็นพื้นฐานด้วย

ขอแนะนำเพิ่มเติมสักเล็กน้อยว่า การจำทางเข้าและออกจากสมาธิไว้ได้ จะช่วยให้จิตรู้จักวิธีทำสติปัฏฐานให้เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี จัดเป็นจิตที่ควรแก่การงานในพระพุทธศาสนา ถ้าหากความรู้สึกนึกคิดไม่สงบ จิตก็ย่อมไม่สงบด้วย, เป็นธรรมดา

๒. พิจารณาเวทนาในเวทนาเป็นภายนอกบ้าง

งานขั้นนี้ เป็นงานฝึกปฏิบัติเพื่อปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในเวทนา หรือความรู้สึกที่ผ่านเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส จากภายนอกรวม ๕ ทาง ขณะที่ต้องอยู่รวมกับสังคมในชีวิตประจำวันตลอดเวลา (ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ เรียกว่า วิปัสสนา นั่นเอง)

ผู้ฝึกปฏิบัติจะสลัดปล่อยวางความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดีเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความคล่องแคล่วในการยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ และประคองไว้ได้ดีเพียงประการเดียวเป็นสำคัญ ไม่มีอะไรต่างกันเลย นอกจากทางที่เข้ามาของเวทนา คือ จากภายใน กับจากภายนอก เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ งานสลัดปล่อยวางเวทนาภายนอก หรือรู้แล้วละเวทนาภายนอกให้เข้ามาสงบตั้งมั่นในจิตของตน จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความคล่องแคล่วที่ได้ฝึกไว้ จากการปฏิบัติงานขั้นที่ ๑ มาปฏิบัติต่อไปนั่นเอง

ดังนั้น การจำทางเดินของจิตอย่างแม่นยำว่า เคยทำจิตให้สงบเป็นสมาธิมาแล้ว อย่างไรในงานขั้นที่ ๑ ย่อมจะช่วยให้การปฏิบัติก้าวหน้าไปได้อย่างดียิ่ง

โปรดสังเกต ที่มักกล่าวกันว่า สมถะ กับ วิปัสสนา นั้น เป็นคนละอย่างกัน ไม่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน กล่าวคือ สมถะเป็นอุบายปฏิบัติให้จิตสงบ และวิปัสสนาเป็นอุบายปฏิบัติให้เรืองปัญญา ดังเป็นที่ได้ยินได้ฟังกันมาแล้วนั้น ความจริงแล้วต่างกันโดยวิธีปฏิบัติเท่านั้น แต่ต้องทำงานร่วมกันและพร้อมกันในขณะจิตเดียวกัน เพื่อทำให้จิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ

กล่าวคือ ปล่อยวางเวทนาออกไปจากจิต เป็นวิปัสสนา แล้วยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ และประคองไว้ให้สงบ เป็นสมถะ มิฉะนั้นแล้ว เวทนาจะปรุงแต่งจิตแล้วผลักดันออกมา ทำให้ตื่นเต้นบ้าง หน้าซีดบ้าง ตาขวางบ้าง สุดแต่ว่าจะเป็นเวทนาชนิดใด

ลำดับการทำงานของจิตทั้ง ๒ ขั้นที่กล่าวมานี้ หากผู้ปฏิบัติสามารถจำทางเดินของจิตได้แม่นยำ และฝึกปฏิบัติบ่อยๆ เนืองๆ แล้ว จะกลายเป็นอริยมรรค หรือวิชชา ขึ้นที่จิตมากขึ้นตามลำดับ และทำให้อวิชชา – ตัณหา – อุปาทาน (คือ รู้ผิด – ทะยานอยากออกไป – ยึดถืออารมณ์ไว้ ) ดับไปจากจิต จนหมดสิ้นในที่สุด เมื่ออวิชชาดับ กรรมก็ย่อมขาด และเมื่อกรรมขาด ก็ย่อมไม่มีวิบาก หมดภพชาติ คือไม่เกิดอีกต่อไป ซึ่งเราเรียกว่า “ตัดกรรม” กันนั่นเอง

๓. พิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งภายในและภายนอกบ้าง

งานขั้นนี้เป็นงานฝึกปฏิบัติขั้นสุดท้าย ที่รวมเอางานขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ มาปฏิบัติพร้อมกันไป เป็นงานปฏิบัติขั้นนำอริยมรรค หรือที่เรียกว่า มรรคจิต เอามาปราบความยึดมั่นถือมั่นในเวทนาทั้งหลายให้หมดไป

กล่าวคือ เมื่อมีเวทนาเกิดขึ้นจากอารมณ์ทั้งภายในก็ดี ภายนอกก็ดี ก็รีบยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติทันที และเพียรประคองไว้ไม่ให้จิตแลบหนีออกไปหาเวทนาใดๆ ได้อีก, ทุกครั้งตลอดชีวิต

อารมณ์ที่ผ่านไปแล้ว เป็นอดีต อารมณ์ที่ยังมาไม่ถึง เป็นอนาคต ไม่ต้องเก็บมาคิด เพราะไม่สามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้อีกแล้ว ผู้ปฏิบัติจะต้องเอาใจใส่จดจ่ออยู่กับอารมณ์เฉพาะหน้า คือ สลัดปล่อยวางออกไปเพียงประการเดียวเท่านั้น ด้วยการยกจิตเข้าตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะไม่เปิดโอกาสให้เวทนาชนิดใดเข้าไปปรุงแต่ง ให้เกิดสุข (พอใจ) – ทุกข์ (ไม่พอใจ) ขึ้นที่จิตได้เลย

ด้วยสภาวะที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ถ้าจิตกระทบกับเวทนาครั้งต่อไปอีก ก็เป็นสักแต่ว่ากระทบเท่านั้น เพราะจิตไม่ได้ยึดถือเวทนาไว้ดังแต่ก่อนอีกแล้ว ผู้ปฏิบัติจะเห็นได้ชัดเจนว่า เวทนาไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่เวทนา และเวทนาไม่ใช่ตัวตนของเรา ตรงกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในอนัตตลักขณสูตรว่า “เวทนา อนัตตา เวทนาไม่ใช่ตัวตน” ทีเดียว

🌷 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน บรรพะนี้หมายความว่า ใช้สติตามรู้ตามเห็นเข้าไปในอาการของจิตที่เกิดขึ้น เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบ

ดังนั้น จิตชนิดต่างๆ ในบรรพะนี้ จึงเป็นจิตสังขาร คือ ถูกอารมณ์เข้าปรุงแต่งให้เสียคุณภาพเดิมไปแล้วทั้งสิ้น

อาการของจิตทั้งหลาย เช่น ราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี จึงล้วนแต่อยู่ใต้อำนาจพระไตรลักษณ์ ที่สามารถสลัดละวางได้ด้วยอำนาจของสัมมาสมาธิในที่สุด

อารมณ์ที่เข้ามากระทบจิตนั้นแบ่งเป็น ๒ ชั้น คือ อารมณ์ชั้นใน และอารมณ์ชั้นนอก

อารมณ์ชั้นในนั้น ได้แก่ ความนึกคิดที่เกิดขึ้นภายในจิต และอารมณ์ชั้นนอกนั้น ก็ได้แก่ อารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส รวม ๕ ทางด้วยกัน

เมื่ออารมณ์ใดๆ เข้ามากระทบจิตแล้ว ย่อมส่งผลให้เกิดความรู้สึกทุกข์ – สุข (เวทนา) ขึ้น เมื่อความรู้สึกทุกข์ – สุขเกิดขึ้น ก็ย่อมส่งผลให้เกิดจิตสังขาร คือ รัก ชัง เฉยๆ ซึ่งเป็นกิเลส รวม ๑๖ ชนิดขึ้นด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์ชนิดใดเข้ามากระทบ หรือแล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์ชั้นในหรือชั้นนอก

ลำดับการทำงานของผู้ปฏิบัติหมวดจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอยู่ ๓ ขั้น ดังนี้ คือ
๑. พิจารณาจิตในจิตเป็นภายในบ้าง (คือ ความนึกคิดของตน)
๒. พิจารณาจิตในจิตเป็นภายนอกบ้าง (คือ อารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะ ๕)
๓. พิจารณาจิตในจิตทั้งภายในและภายนอกบ้าง (คือ ทั้งความนึกคิดและอารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะ ๕)

งานทั้ง ๓ ขั้นนี้ ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกสติให้ตั้งลงที่ฐานที่ตั้งสติให้มั่นคง จนจิตควรแก่การงานอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เพื่อที่จะปล่อยวางความรัก ชัง ฟุ้งซ่าน หวั่นไหวออกไปจนหมดสิ้น จนกระทั่งชำนาญคล่องแคล่วทุกขณะจิต ถึงขั้นที่ว่าพอน้อมยกจิตเข้าไปตั้งที่ฐานเท่านั้น จิตก็รวมตัวสงบถึงขีดสุดได้ทันที เมื่อจิตสงบแล้ว อาการทั้งหลายของจิต ก็ย่อมดับหายขาดไปทันทีด้วย เมื่ออาการของจิตดับหายขาดไปแล้ว ความประพฤติทางกายกับวาจา ก็ย่อมไม่วิปริต ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมและผู้ใกล้ชิด เป็นธรรมดา

๑. พิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นภายในบ้าง

กล่าวโดยรวมแล้ว การพิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นภายใน คือ การเอางานสมาธิมาปราบความรู้สึกรัก ชัง ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่าย ที่เกิดจากอารมณ์ในอดีตที่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว กลับมาปรุงแต่งจิตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่างจากอารมณ์ใดๆ เฉพาะหน้า จึงทำให้เกิดความรัก ชัง ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่าย เพราะเข้าไปยึดถืออารมณ์นั้นๆ ไว้

ผู้ปฏิบัติจะต้องรีบพรากจิตออกจากความรัก ชัง ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่ายในเรื่องที่นึกคิดนี้ แล้วยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติโดยเร็ว พร้อมกับประคองไว้ด้วยอุบายอันแยบคาย เพื่อไม่ให้จิตแลบหนีไปหาอารมณ์ใดๆ ได้อีก จนจิตเป็นสมาธิในที่สุด

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ รีบยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติทันทีที่เกิดความรัก ชัง ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่ายขึ้น ความรัก ชัง ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่าย ก็ย่อมดับหายไปทันที

การจำทางเข้า – ออกสมาธิได้แม่นยำ จึงเป็นงานที่จะช่วยสลัดอาการต่างๆ ของจิตได้อย่างถูกจุดที่สุด

๒. พิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นภายนอกบ้าง

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว การพิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นภายนอกบ้างนี้ เป็นงานที่เกิดจากการนำเอาความคล่องแคล่วของการฝึกทำสมาธิ มาใช้ตัดความรัก ชัง ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่ายจากอารมณ์ที่เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัสให้หมดไป ด้วยการเพิกอารมณ์ แล้วยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติทันทีที่เกิดความรัก ชัง ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่ายขึ้น โดยมิชักช้า

งานขั้นนี้ จึงเป็นเรื่องของการใช้ความคล่องแคล่วทางจิต ที่จะช่วยให้มีสมาธิ ทำให้การปฏิบัติก้าวหน้าไปได้ดียิ่ง ถ้าไม่ได้ผ่านงานฝึกปฏิบัติสมาธิให้ชำนาญคล่องแคล่วมาก่อนแล้ว ย่อมทำงานขั้นที่ ๒ นี้ไม่สำเร็จ แล้วย่อมผลักดันกิเลสทั้งหลายให้ปรากฏออกมาได้อย่างแน่นอน คือวิปัสสนาล้มเหลว

แต่ถ้าจำทางเข้าสมาธิได้ดี คล่องแคล่วแล้ว ความรัก ชัง กระสับกระส่าย ย่อมดับสูญไปได้ และถ้าสามารถประคองสติให้ตั้งอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายแล้ว ก็จะกลายเป็นอริยมรรค ทำหน้าที่สลัดความรัก ชัง ฟุ้งซ่าน และกิเลสทั้งหลายออกไป จนเกิดวิชชาขึ้นแทนที่ที่จิตมากขึ้นตามลำดับด้วย

๓. พิจารณาจิตในจิตทั้งภายในและภายนอกบ้าง

งานขั้นนี้ เป็นงานขั้นสุดท้ายที่รวมเอางานขั้นที่ ๑ กับขั้นที่ ๒ เข้าปฏิบัติพร้อมกัน เป็นงานขั้นอริยมรรค (ซึ่งคัมภีร์พระอภิธรรม เรียกว่า มรรคจิต) เอามาปราบความยึดมั่นถือมั่นในรัก ชังอารมณ์ ให้หมดไป

กล่าวให้ชัด ก็คือ เมื่อกิเลสอย่างใดเกิดขึ้นที่จิต ไม่ว่าจะมาจากอารมณ์ภายนอกก็ดี ภายในก็ดี ก็รีบยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ และเพียรประคองไว้ไม่ให้แลบออกไปปรุงแต่งเป็นกิเลสอย่างอื่นต่อไปอีกได้ทุกครั้งตลอดชีวิต

จิตสังขารที่ผ่านไปแล้ว เป็นอดีต จิตสังขารที่ยังมาไม่ถึง เป็นอนาคต อย่าเก็บเอามาคิด เพราะไม่สามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้แล้ว ผู้ปฏิบัติจะต้องสนใจกับจิตสังขารเฉพาะหน้า คือ สลัดปล่อยวางออกไปเพียงประการเดียวเท่านั้น

เมื่อจิตสังขารเฉพาะหน้าดับไป ก็ย่อมเห็นชัดเจนว่า
จิตสังขารชนิดนั้นไม่ใช่เรา
เราไม่ใช่จิตสังขารชนิดนั้น
จิตสังขารทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนของเรา อย่างไม่มีข้อสงสัยอะไรเลย

ด้วยเห็นชัดเจนว่า จิตสังขารเกิดขึ้น เพราะมีอารมณ์มากระทบ ถ้ายังไม่มีอารมณ์มากระทบ จิตก็รู้อยู่ชัดว่าจิตสังขารก็ยังไม่เกิดขึ้น คือ จิตรู้ว่าตัวเองว่างจากสิ่งใดๆ

ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมีอยู่ ๑๖ ข้อนั้น ผู้ปฏิบัติย่อมรู้อยู่ทุกขณะ ไม่ว่าจะมีราคะ โทสะ หรือโมหะ เกิดขึ้นที่จิต และรู้อยู่ทุกขณะไม่ว่า ราคะ โทสะ หรือโมหะหายไปจากจิต เมื่อจิตหดหู่ ฟุ้งซ่าน เป็นฌาน มีจิตอื่นยิ่งกว่า ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ เมื่อจิตตั้งมั่น จิตหลุดพ้น หรือยังไม่หลุดพ้นก็รู้

ผู้ปฏิบัติย่อมแยกออกได้เองว่า อาการดิ้นรน ฟุ้งซ่าน หดหู่ กระสับกระส่าย หวั่นไหว ต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่สภาพเดิมของตน ดังพุทธพจน์ในอนัตตลักขณสูตรที่มีมาว่า “เนตํ มม เนโสหมสฺมิ น เมโส อตฺตาติ แปลว่า
สิ่งนั้นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตนของเรา”

ดังนั้นจึงได้นำจิตเข้าสู่ฐานที่ตั้งสติ จนสงบเป็นสมาธิต่อไป และเป็นจิตหลุดพ้นในที่สุด เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ความเสียดแทง ความกระวนกระวายที่ทำให้เป็นทุกข์ทั้งหลาย ย่อมดับไปจากจิตอย่างสิ้นเชิง ดุจลูกคลื่นซึ่งเป็นอาการของน้ำ ได้ดับหายไปจากผิวน้ำอย่างสิ้นเชิง คงเหลืออยู่แต่ผิวน้ำ ที่สงบราบคาบเป็นเส้นระดับ ฉนั้น

ถ้าผู้ปฏิบัติรักษาจิตให้ตั้งอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติอย่างถาวรต่อเนื่องไม่ขาดสายได้แล้ว ก็เป็นอันจบการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ในพระพุทธศาสนาเพียงเท่านี้

🌷 ตัวรู้ของพระอริยะและสามัญชน

ผู้ที่ได้ศึกษามาถึง จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพะนี้ และได้ลงมือปฏิบัติจริง ด้วยความสังเกตดู “ตัวรู้” ที่มีอยู่แล้ว จะพบว่า “ตัวรู้” ของตน ทรงความรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าราคะ หรือ โทสะ หรือ โมหะ จะเกิดขึ้นที่จิต แล้วดับไปจากจิตกี่ครั้งกี่หนก็ตาม

ซึ่งแสดงชัดเจนที่สุดว่า สิ่งที่เกิดดับทั้งหมด คือ กิเลสหรืออาการที่จิตแสดงออกเนื่องด้วยอารมณ์ ส่วน “ตัวรู้ซึ่งถูกคุมด้วยสติ” นั้น ไม่ได้ดับหายไปไหนเลย

ตัวรู้ซึ่งถูกคุมด้วยสติ ทำให้ผู้ปฏิบัติรู้จักอารมณ์ทั้งหลายที่เข้ามากระทบ ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้ไม่ปรุงแต่งเป็นกิเลส เรียกว่าเกิดวิชชาขึ้นที่จิตแล้ว นับว่าเป็นจิตของพระอริยะ คือ รู้ถูก

 

ส่วนตัวรู้ของสามัญชนนั้นขาดสติคุ้มครอง จึงรู้ผิด เป็นอวิชชา คือ ไม่รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง หรือรู้จักอารมณ์อย่างผิดๆ แล้วยึดถืออารมณ์นั้นๆ ไว้

🌷 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เป็นบรรพะที่ผู้ปฏิบัติต้องทำสติตามรู้ตามเห็น เข้าไปในสังขารธรรมหรืออารมณ์ทั้งหลาย มีรวม ๕ บรรพะ ซึ่งได้แก่

๑. นิวรณ์ บรรพะที่ว่าด้วยอาการกระเพื่อมไหวของจิต ๕ ชนิดหลังจากที่มีอารมณ์เข้ามากระทบ
๒. ขันธ์ ๕ บรรพะที่ว่าด้วยอาการของจิต ๕ ประการ หรือ ๕ กอง หลังจากที่มีอารมณ์มากระทบ
๓. อายตนะภายในและภายนอก อย่างละ ๖ ช่องทาง เมื่อมีอารมณ์มากระทบ
๔. โพชฌงค์ ๗ องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้
๕. อริยสัจ ๔ ความจริงของพระอริยเจ้ารวม ๔ ประการ

๑. นิวรณ์บรรพะ ๕ เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบจิต ย่อมทำให้จิตแสดงปฏิกิริยาตอบสนอง เป็นอาการต่างๆ ออกมาตามชนิดของอารมณ์ ดังนี้คือ

กามฉันทะนิวรณ์ จิตแสดงอาการรักใคร่พอใจในกามกระเพื่อมไหวออกมา
พยาปาทะนิวรณ์ จิตแสดงอาการชิงชังไม่ชอบใจกระเพื่อมไหวออกมา
ถีนมิทธะนิวรณ์ จิตแสดงอาการง่วงเหงาหดหู่กระเพื่อมไหวออกมา
อุทธัจจะกุกกุจจะนิวรณ์ จิตแสดงอาการฟุ้งซ่านกระเพื่อมไหวออกมา
วิจิกิจฉานิวรณ์ จิตแสดงอาการลังเลสงสัย เข้าสู่ฐานที่ตั้งสติไม่ได้

ถ้าทำให้จิตสงบได้ ผู้ปฏิบัติย่อมพ้นจากทุกข์ในพระพุทธศาสนา

๒. ขันธะบรรพะ ๕ เมื่อสิ่งที่เป็นอารมณ์เข้ามากระทบจิตแล้ว ก็เกิดสังขารธรรม ขึ้น ๕ กอง ดังนี้คือ

รูป ได้แก่ อารมณ์ทั้งหลาย
เวทนา ได้แก่ ความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ เฉยๆ
สัญญา ได้แก่ ความจำอารมณ์นั้นๆ ได้
สังขาร ได้แก่ ความคิดที่จะตอบโต้ต่ออารมณ์นั้นๆ
วิญญาณ ได้แก่ ความรับรู้อารมณ์จากช่องทางที่รับเข้ามา ทำให้จิตหวั่นไหวเป็นทุกข์ตามไปด้วยทุกอารมณ์

ถ้าจิตเข้าไปยึดถือขันธ์ ๕ ไว้มาก จิตก็เป็นทุกข์มาก
ถ้าจิตเข้าไปยึดถือขันธ์ ๕ ไว้น้อย จิตก็เป็นทุกข์น้อย
ถ้าจิตไม่เข้าไปยึดถือขันธ์ ๕ เลย จิตก็พ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนา

๓. อายตนะทั้งภายในและภายนอก อย่างละ ๖ ช่องทาง คือ ช่องทางที่รับอารมณ์เข้ามาสู่จิต ที่เป็นเหตุให้เกิดความเร่าร้อน กระสับกระส่าย วุ่นวายขึ้นที่จิต ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งคู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย ธัมมารมณ์ โดยลำดับ

ถ้าผู้ปฏิบัติยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติทันทีที่อารมณ์เข้ามากระทบช่องทางรับอารมณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดอาการเร่าร้อน-กระสับกระส่าย-วุ่นวายขึ้นที่จิตเสียก่อนแล้ว ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีสติและเป็นผู้พ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนา

๔. โพชฌงคบรรพะ (องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ ๗ ประการ) เป็นบรรพะที่ว่าด้วยองค์ธรรม คือ ปัญญาที่ทำให้ตรัสรู้ พ้นจากการครอบงำของอารมณ์อย่างสิ้นเชิงในที่สุด ซึ่งมีองค์ธรรมสำคัญอยู่ ๗ ประการ ดังนี้ คือ

๑. สติ ความระลึกถึงฐานที่ตั้งสติได้อย่างแม่นยำคล่องแคล่วเมื่อมีอารมณ์มากระทบ
๒. ธัมมวิจยะ เลือกเฟ้นว่าสิ่งใดมีแก่นสาร สงบเยือกเย็น และปล่อยวางสิ่งที่ทำให้ไม่สงบ เร่าร้อน ไม่มีแก่นสาร โดยแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย
๓. วิริยะ
– เพียรละความกระสับกระส่ายที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิด
– เพียรละความกระสับกระส่ายที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หมดไป
– เพียรทำความสงบเยือกเย็นที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น
– เพียรทำความสงบเยือกเย็นที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น
>๔. ปีติ เมื่อทำดังกล่าวสำเร็จ ความอิ่มใจย่อมเกิดขึ้นตามมา
๕. ปัสสัทธิ เมื่อเกิดความอิ่มใจ กายย่อมสงบ จิตก็สงบตามด้วย
๖. สมาธิ จิตก็ย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิโดยลำดับจนถึงขีดสุด
๗. อุเบกขา จิตผู้ปฏิบัติย่อมเป็นอุเบกขาญาณ วางเฉยต่ออารมณ์ทั้งปวงได้

๕. อริยสัจบรรพะ (ว่าด้วยความจริงของพระอริยเจ้า ๔ ประการ) ในเชิงของการปฏิบัติแล้ว ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาให้รู้จักและรู้กิจที่จะต้องดำเนินต่อสัจจะแต่ละอย่าง เพื่อไม่ให้สับสน

ทุกข์ ต้องกำหนดรู้
สมุทัย ต้องละ
นิโรธ ต้องทำให้แจ้ง
มรรค ต้องเจริญให้เกิดขึ้น

๑. ทุกขอริยสัจ ให้กำหนดรู้ ดังต่อไปนี้
– ความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศกเศร้า ร่ำไห้รำพัน ทุกข์เพราะไม่สบายกาย โทมนัส ความคับแค้นใจ เป็นทุกข์
– ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์
– ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์
– ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น เป็นทุกข์
ทั้งหมดนี้ รวมกล่าวได้ว่า การยึดถือขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

๒. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ให้ละความยึดถือ ดังต่อไปนี้
– กามตัณหา คือ ความอยากได้พอใจในอารมณ์เป็นที่น่าพอใจ
– ภวตัณหา คือ ความอยากได้พอใจอารมณ์ที่เป็นรูปปราศจากกาม
– วิภวตัณหา คือ ความอยากได้พอใจอารมณ์อันวิเศษยิ่งที่ปราศจากกาม

ตัณหานั้น เมื่อจะเกิดขึ้นหรือตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือที่ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัส ธัมมารมณ์ หรือที่วิญญาณ ๖ สัมผัส ๖ เวทนา ๖ สัญญา ๖ สัญเจตนา ๖ ตัณหา ๖ วิตก ๖ และวิจาร ๖ ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกว่า รูปอันเป็นที่รักที่ชอบใจในโลก (โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ)

๓. นิโรธ (ธรรมเป็นที่ดับทุกข์) ให้ทำให้แจ้ง คือ ความสำรอก ความดับไม่เหลือ ความสละ ความส่งคืน ความปล่อยวาง ความไม่อาลัยในตัณหานั้น

ตามที่ได้กล่าวมาในข้อ ๒ นิโรธกับตัณหา เป็นคู่ปรับซึ่งกันและกัน ดังนั้น เมื่อจะละหรือเมื่อจะดับตัณหา ก็ย่อมละหรือดับได้ที่รูปอันเป็นที่รักที่ชอบใจ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น

๔. ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (มรรคมีองค์ ๘) ให้ทำให้เจริญ ให้มีขึ้น กล่าวคือ

สัมมาทิฐิ มีความเห็นว่า
ทุกข์ ให้กำหนดรู้ ไม่ต้องดัดแปลงแก้ไขอะไร
สมุทัย ให้ละวางเสีย
นิโรธ ให้ทำให้แจ้ง
มรรค ให้เจริญให้มีขึ้น

สัมมาสังกัปปะ
ดำริออกจากกาม ดำริไม่พยาบาท ดำริไม่เบียดเบียน

สัมมาวาจา
ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ

สัมมากัมมันตะ
ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงละเมิดในกาม

สัมมาอาชีวะ
ละความเลี้ยงชีวิตผิด สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีพชอบ

สัมมาวายามะ
ย่อมยังความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองตั้งจิตไว้เพื่อที่จะ
– ละบาปที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิด
– ละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
– ยังกุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น
– ยังกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญงอกงาม

สัมมาสติ
ตั้งสติไว้ ณ ที่ฐานกาย เวทนา จิต หรือธรรมอย่างเนืองๆ เพื่อให้ต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย ในที่สุด

สัมมาสมาธิ เจริญฌาน ๔

🌷 ธรรมทั้งหลายไม่ใช่เรา

ในหมวดธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่สงบเยือกเย็น เป็นสิ่งที่มีอยู่เดิมอย่างมั่นคง เป็นแก่นสาร ควรเจริญรักษาไว้ให้มั่นคงต่อเนื่อง

และสิ่งที่ทำให้เกิดความเร่าร้อน กระสับกระส่ายทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอกนั้น ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นในภายหลัง และไม่มีแก่นสาร ต้องมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ดังนั้น จึงต้องพยายามละสิ่งที่ไม่ใช่เราออกไปจากจิตใจให้หมดสิ้นตามลำดับ

การทำงานทางจิตในหมวดธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๓ ขั้น ดังนี้
๑. พิจารณาธรรมในธรรมเป็นภายในบ้าง
๒. พิจารณาธรรมในธรรมเป็นภายนอกบ้าง
๓. พิจารณาธรรมในธรรมทั้งภายในและภายนอกบ้าง

งานทั้ง ๓ ขั้นนี้ ผู้ปฏิบัติจะฝึกได้สำเร็จมั่นคงเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นกับการทำพลังสติที่จะเข้าไปตั้ง ณ ฐานที่ตั้งสติได้อย่างคล่องแคล่วเป็นสำคัญ

ฐานที่ตั้งสตินี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องอุปโลกน์ขึ้น และจำไว้ในใจให้แม่นเพียง ๑ แห่ง โดยต้องฝึกให้พร้อมที่จะยกจิตเข้าไปตั้งไว้ได้อย่างชำนาญคล่องแคล่ว ทุกขณะที่มีอารมณ์เข้ามากระทบ

หมายความว่า เมื่อมีอารมณ์ที่ทำให้เกิดความกระสับกระส่ายเร่าร้อนขึ้น ก็ให้นำจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ได้อุปโลกน์ไว้อย่างรวดเร็วที่สุด และประคองไว้มิให้แลบหนีออกไปหาอารมณ์ใดๆได้อีก จิตก็จะรวมเป็นสมาธิสงบเยือกเย็นขึ้นแทนที่

ถ้าสามารถประคองไว้ได้ จิตก็ย่อมทำงานเป็นอันเดียวกับสติ สติปัฏฐานก็ย่อมเกิดตามมาด้วยเป็นธรรมดา และเมื่อสติปัฏฐานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็นับว่าเป็นมหาสติปัฏฐานแล้ว

๑. พิจารณาธรรมในธรรมเป็นภายในบ้าง

กล่าวโดยรวมแล้ว การพิจารณาธรรมในธรรมเป็นภายใน ก็คือ การปราบความกระสับกระส่ายเร่าร้อน เมื่อมีเรื่องราวที่เป็นอดีตสัญญา มานึกคิดขึ้นในใจอีกครั้งหนึ่งเฉพาะหน้า

โปรดสังเกตว่า เมื่อสติสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นได้แล้ว ก็ย่อมเป็นอัญญะมัญญะปัจจัย นำธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา ให้เป็นสัมโพชฌงค์ด้วย ทำให้ได้ตรัสรู้ในที่สุด

ผู้ปฏิบัติจะต้องรีบยกจิตออกจากความกระสับกระส่ายเร่าร้อนของความนึกคิดนี้ ให้เข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติโดยเร็ว พร้อมกับประคองไว้ด้วยอุบายอันแยบคาย ที่จะไม่ให้แลบหนีออกไปอยู่ที่อารมณ์อื่นได้อีก จิตก็ย่อมเข้าสู่สภาพสงบร่มเย็นจนเป็นสมาธิได้ สติสัมโพชฌงค์ก็ย่อมเกิดตามมาด้วย

๒. พิจารณาธรรมในธรรมเป็นภายนอกบ้าง

งานขั้นนี้เป็นงานสัมโพชฌงค์ ขั้นปล่อยวางความกระสับกระส่ายของจิต ที่เกิดจากอารมณ์ที่ผ่านเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส รวม ๕ ทาง

การปล่อยวางความกระสับกระส่ายทางจิตได้ดีเพียงใดนั้น ย่อมแล้วแต่กำลังของสติสัมโพชฌงค์ที่ได้ฝึกมาจากงานขั้นที่ ๑ แล้วเท่านั้น

หมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องจำทางเดินของจิต จากการที่เคยปล่อยวางความกระสับกระส่ายเร่าร้อนในงานขั้นที่ ๑ ได้สำเร็จ อย่างแม่นยำที่สุด

๓.พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในและภายนอกบ้าง

งานขั้นนี้ เป็นงานใช้ปัญญาปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลาย หลังจากที่ได้ฝึกปล่อยวางในขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ มาอย่างคล่องแคล่วแล้ว กล่าวคือ เป็นงานรวมทั้งขั้นที่ ๑ และ ขั้นที่ ๒ มาปฏิบัติพร้อมกัน

โดยทำจิตให้กำหนดรู้ แล้วละเรื่องที่รู้ทุกเรื่อง และควบคุมสติให้ตั้งมั่นอยู่ ณ ฐานที่ตั้งสติอย่างฉับพลัน ต่อเนื่องไม่ขาดสาย จัดเป็นอริยมรรค ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องพยายามแก้ไขตกแต่งจิตของตน ให้ปล่อยวางอารมณ์ให้ได้เด็ดขาดตลอดชีวิต โดยไม่เผลอปล่อยให้จิตแลบหนีออกไปจากฐานที่ตั้งสติ (ซึ่งเป็นสติสัมโพชฌงค์อยู่) ก็จะทำให้บรรลุมรรคจิตที่สูงกว่าต่อไปได้

เมื่ออริยมรรคเกิดขึ้นแล้ว อริยผลคือความสงบตั้งมั่นแห่งจิต ก็ย่อมเกิดขึ้นทันที อารมณ์ทั้งหลายก็อยู่ในสภาพที่สักแต่ว่ากระทบเท่านั้น และไม่เรียกว่าเป็นอารมณ์อีกต่อไป เพราะจิตไม่ได้ยึดถือไว้ดังแต่ก่อนเสียแล้ว