สัมมาทิฐิ (ความเห็นถูก)

🌷 ทิฐิ (ความเห็น)

ความจริงแล้ว คำว่า ทิฐิ แปลว่า ความเห็น เป็นคำกลางๆ แต่สังคมเอาไปใช้พูดกันในความหมายที่ว่า เห็นผิด ไปเสีย ถ้าจะพูดให้ถูกต้องแล้ว จึงต้องพูดให้เต็มคำว่า สัมมาทิฐิ (เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง) และ มิจฉาทิฐิ (เห็นผิดจากความเป็นจริง) จึงจะตรงกับความหมายที่แท้จริงของศัพท์

เรื่อง สัมมาทิฐิ และ มิจฉาทิฐิ นี้ ยังไม่มีผู้ใดสรุปความหมายไว้ให้ชัดเจนว่า เห็นอย่างไรจึงจะเรียกว่า เห็นผิด และเห็นอย่างไรจึงจะเรียกว่า เห็นถูก

เพื่อให้ผู้ศึกษาธรรมะใช้เป็นหลักเกณฑ์ สำหรับพิจารณาเชื่อถือธรรมะได้ด้วยตนเองโดยไม่ผิดพลาด และสามารถลบล้างความเชื่อถือเก่าๆ ที่ว่าใครพูดว่าอะไรเที่ยงไม่ได้ และ พูดว่าอะไรสูญหายก็ไม่ได้ ต้องปรับให้ผิดทั้งขึ้นทั้งล่อง เช่น พูดว่าตายแล้วเกิดอีกก็ผิด ตายแล้วสูญก็ผิด ดังนี้เป็นต้น

คติธรรมทางพระพุทธศาสนานั้น เราเชื่อกันอย่างมั่นใจว่า มนุษย์หรือสัตว์ทุกรูปนามจะต้องไปเกิดใหม่อีก เมื่อตายแล้ว มิได้ดับสูญไปตามรูปร่างกายที่ตายไปด้วย

ฝ่ายนักศึกษาพระอภิธรรม เข้าใจว่าในขณะที่ตายนั้นมีปฏิสนธิจิตออกจากร่างกาย แล้วไปสู่รูปร่างกายชุดใหม่ จิตที่จุติ (เคลื่อน)ออกจากร่างกายที่ตายแล้ว กับจิตที่ปฏิสนธิ (เกิด) ในรูปร่างกายชุดใหม่นั้น เป็นคนละดวงกัน ไม่ใช่ดวงเดียวกัน แต่รับถ่ายทอดกรรมที่ทำไว้ จากจิตดวงหนึ่งไปยังจิตอีกดวงหนึ่งเป็นทอดๆ ได้

ฝ่ายนักศึกษาพระสูตร ก็อธิบายว่า จิตในชาติที่ตายแล้ว กับจิตในชาติใหม่เป็นดวงเดียวกัน จึงไม่ต้องถ่ายทอดกรรมกัน ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จิตดวงนี้จึงต้องรับกรรมที่ทำไว้ในอดีตทั้งหมด อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เปรียบดังล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนนั้นไปทีเดียว ไม่ว่าจะทำกรรมอย่างใดไว้ก็ตาม

ฝ่ายนักธรรมะบางพวก ก็มีความเห็นว่า ตายแล้วสูญหมด ไม่มีอะไรจุติหรือปฏิสนธิทั้งนั้น โดยอ้างว่าไม่เห็นมีอะไรออกจากโลงของผู้ตายไปเกิดอีก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมทำให้ผู้ที่กำลังศึกษาธรรมะใหม่ๆเกิดความลังเลใจ เพราะไม่รู้ว่าจะตัดสินใจเชื่อใคร จึงจะไม่ผิด

🌷 หลักตัดสิน เห็นถูก หรือ เห็นผิด

หลักเกณฑ์สำหรับใช้ตัดสินใจเชื่อเรื่อง “เห็นถูก” หรือ “เห็นผิด” ในพระพุทธศาสนา

มีพุทธพจน์ในอนัตตลักขณสูตรตรัสไว้ดังนี้คือ “เอว เมตํ ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญาย ทฏฺฐพฺพํ” แปลว่า “ท่านทั้งหลายพึงเห็นเรื่องนี้ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบ”

ดังนั้น จึงใช้หลักแห่งความเป็นจริงสำหรับตัดสินใจเชื่อในเรื่อง “เห็นถูก” หรือ “เห็นผิด” ที่ยกมากล่าวนี้ได้ ดังนี้คือ

๑. เห็นสิ่งที่เที่ยงว่าเที่ยง คือ เห็นอสังขตธรรม ได้แก่ ธาตุแท้ทั้ง ๖ ซึ่งไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยใดๆ ปรุงแต่ง ว่าเป็นสภาพธรรมที่ดำรงตนเองอยู่ เช่นนั้นตลอดไปได้ โดยไม่มีการดับตายหายสูญไปไหน ตามที่เป็นจริง จัดเป็น สัมมาทิฐิ

๒. เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง คือ เห็นสังขตธรรม ได้แก่ สังขารทั้งหลาย ที่เกิดจากการประชุมปรุงแต่งของธาตุแท้ทั้ง ๖ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจดำรงตนอย่างยืนยาวตลอดกาลไปได้ ย่อมดับตายหายสูญไป เป็นธรรมดา จัดเป็น สัมมาทิฐิ

๓. เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง คือ เห็นผิดจากความเป็นจริงว่า สังขตธรรม (ได้แก่ สังขารทั้งหลาย ที่เกิดจากการประชุมปรุงแต่งของธาตุแท้ทั้ง ๖) สามารถดำรงตนเองอย่างยืนยาวไปได้ตลอดกาล (เช่น เห็นขันธ์ ๕ ว่าเที่ยงแท้ถาวร เป็นต้น) จัดเป็น มิจฉาทิฐิ ฝ่ายสัสสตทิฐิ (เห็นผิดว่าอารมณ์เที่ยง)

๔. เห็นสิ่งที่เที่ยงว่าไม่เที่ยง คือ เห็นผิดจากความเป็นจริงว่า อสังขตธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรม ที่ดำรงตนเองอยู่ได้เช่นนั้นตลอดไป ต้องพลอยดับตายหายสูญไปด้วยเมื่อรูปร่างกายของสัตว์ตายลง เช่นเห็นว่าจิตไม่จุติออกไปเพื่อสืบภพชาติใหม่ต่อไปอีก จัดเป็น มิจฉาทิฐิ ฝ่ายอุจเฉททิฐิ (เห็นผิดว่าขาดสูญเมื่อสัตว์ตาย)

สำหรับข้อ ๑ กับข้อ ๒ จัดเป็นความรู้เห็นตามความเป็นจริง ย่อมเป็น สัมมาทิฐิ
สำหรับข้อ ๓ กับข้อ ๔ จัดเป็นความรู้เห็นที่กลับตาละปัด ผิดจากความเป็นจริง นับว่าเป็น มิจฉาทิฐิ

🌷 สัสสตทิฐิ (เห็นผิดว่าอารมณ์หรือโลกเที่ยง)

คำว่า สัสสตทิฐิ นี้ เป็นไวพจน์กับคำว่า อัตตานุทิฐิ หรือ สักกายทิฐิ ซึ่งรวมแล้วแปลว่า เห็นอารมณ์ หรือขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตน หรือเป็นกายอันเที่ยงแท้ถาวรของตน เช่น ศาสนาพราหมณ์เห็นว่า พระพรหมเป็นสภาพธรรมที่ดำรงตนอย่างเที่ยงดิ่งตลอดไป

พระพุทธองค์ได้ตรัสปฏิเสธว่า พระพรหม ถึงแม้จะมีอายุยืนยาวสักเพียงใดก็ตาม ก็ยังเป็นสังขารธรรมที่ถูกอารมณ์ฌานปรุงแต่งอยู่ ดังนั้น จึงยังไม่พ้นจากความครอบงำของพระไตรลักษณ์ไปได้ สักวันหนึ่งข้างหน้าพระพรหมก็จะต้องจุติเปลี่ยนสภาพไปสู่ภพภูมิอื่น เป็นธรรมดา

ด้วยเหตุนี้ ความเห็นของศาสนาพราหมณ์จึงจัดเป็น มิจฉาทิฐิ ฝ่ายสัสสตทิฐิ เพราะเห็นว่าอารมณ์เที่ยง

เท่าที่ปรากฏอยู่ในวิชาธรรมะ คำที่มีความหมายเป็นไวพจน์ เกื้อกูลกับคำว่า อารมณ์ คือ ขันธ์ ๕, รูปนาม, สังขาร, สังขตะ, โลก, ทุกข์ เหล่านี้ มักใช้แทนกันได้ตามสำนวนที่กำลังเอ่ยถึงอยู่ในขณะนั้น ดังนั้น แต่ละคำเหล่านี้จึงล้วนแล้วแต่มีความหมายว่า ไม่เที่ยงแท้ถาวร ทั้งสิ้น

ถ้าหากใครเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมที่เที่ยงแล้ว ก็ย่อมเห็นผิดจากความเป็นจริง เช่น เห็นว่าพระพรหมดำรงตนอยู่อย่างเที่ยงดิ่ง เช่นนี้ตลอดไป เป็นต้น ก็เรียกว่าเห็นกลับตาละปัดไปจากความเป็นจริง ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ ถ้าเห็นว่าเมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็เป็นมนุษย์ตลอดไป หรือเมื่อได้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้วก็เป็นสัตว์เดรัจฉานตลอดไป ตายแล้วก็ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นตามคติของกรรมที่ตนได้ทำไว้ ก็จัดเป็น สัสสตทิฐิ

แต่ถ้าเห็นว่า จิตของมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลายจะต้องจุติไปเกิดอีกหลังจากที่ตายแล้ว ในเมื่อยังไม่หมดกิเลส ก็จัดว่าเป็น สัมมาทิฐิในพุทธศาสนา ไม่ใช่สัสสตทิฐิ

สำหรับเรื่องสัสสตทิฐินี้ ผู้ที่เริ่มเข้ามาศึกษาธรรมะใหม่ๆ มักจะถูกผู้อื่นเอาสัสสตทิฐิปลอมๆ ซึ่งฝ่าฝืนเหตุผล มาขู่ให้กลัวเกรง ทำให้ลืมเรื่องราวที่ดีที่ชอบ ประกอบด้วยเหตุผลไปเสีย จนทำให้ต้องเห็นคล้อยตามคำขู่นั้นไปด้วย

เช่น เห็นว่าเมื่อสัตว์ตาย แต่จิตเป็นสิ่งที่ไม่ได้ตายสูญหายไปไหน ย่อมจุติออกไปถือกำเนิดในภพชาติใหม่ต่อไปอีก ไม่มีที่สิ้นสุด ก็ขู่ว่านี่เป็นสัสสตทิฐิ

หรือเห็นว่า ในอัตตภาพของคนและสัตว์ ซึ่งประชุมพร้อมด้วยรูปธรรม – นามธรรมนี้ มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เป็นสภาพยั่งยืนสำหรับรับผลกรรมที่ได้ทำไว้ ไม่ได้ดับตายหายสูญไปตามร่างกายที่ตายไปด้วย ก็ขู่ว่านี่เป็นสัสสตทิฐิ

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เริ่มศึกษาธรรมะหันกลับมาเชื่อตามผู้ขู่ ว่าทั้งร่างกายและจิตใจที่ได้ประชุมพร้อมกันอยู่นี้ ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสักนิด จึงไร้ประโยชน์ และดับตายหายสูญไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อสัตว์ตาย

เช่นเดียวกับบุญ – บาป – กิเลสอาสวะที่ได้สั่งสมรวมไว้ในจิตด้วยเหมือนกัน จิตที่ไปเกิดใหม่ เป็นจิตดวงใหม่ แต่สามารถถ่ายทอดรับช่วงบุญบาปจากจิตดวงเก่าได้ อุปมาดังพ่อทำบาปสะสมไว้ พอตายไป ก็ถ่ายทอดบาปกรรมเช่นนั้น ให้ลูกที่เกิดในภายหลังเป็นผู้รับมรดกต่อไป ซึ่งเป็นคำขู่ที่เชื่อถือไม่ได้เลย

ความจริงนั้น พระพรหมก็ดี หรือที่เรียกว่า ขันธ์ ๕ ก็ดี เป็นสภาพธรรมฝ่ายผล (วิบาก) ที่เกิดจากจิตถูกอารมณ์ฌานปรุงแต่งให้มีให้เป็นทั้งสิ้น เมื่อหมดอารมณ์ฌานปรุงแต่งแล้ว จิตก็ย่อมถูกอารมณ์อย่างอื่นทยอยกันเข้ามาปรุงแต่งตามลำดับติดต่อกันไป

อุปมาดังน้ำสะอาดที่ถูกนำเอาสีเข้ามาผสมปรุงแต่ง ทำให้น้ำมีสีเหมือนกับสีที่เข้าผสมแต่ละสี ฉันใดก็ฉันนั้น

เราจะเห็นว่า ทั้งจิตและน้ำ ได้ยืนเป็นประธาน ให้สิ่งอื่นเข้ามาปรุงแต่งอยู่ ไม่ได้สูญหายไปไหน แต่สิ่งที่เข้ามาปรุงแต่งได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่คงที่เสมอไป

ดังนั้น ถ้าเรากล่าวว่า จิตเป็นธาตุทรงตัว “รู้” อยู่ทุกกาลสมัยตามที่เป็นจริง ย่อมเป็น สัมมาทิฐิ

และในขณะเดียวกัน ถ้าเรากล่าวว่า อารมณ์ฌานที่เข้ามาปรุงแต่งเที่ยงแท้แน่นอน ก็เป็น สัสสตทิฐิ

🌷 อุจเฉททิฐิ (เห็นสิ่งที่เที่ยงว่าไม่เที่ยงหรือเห็นว่าขาดสูญ)

อุจเฉททิฐิ นี้ เป็นความเห็นผิดที่มีโทษร้ายแรงมากถึงกับต้องห้ามมรรคผลของตัวเองทีเดียว ทั้งนี้เป็นเพราะไม่ได้ศึกษาให้รู้จัก อสังขตธรรม (ซึ่งไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยใดๆ ปรุงแต่งให้มีให้เป็น เป็นธรรมที่รักษาสภาพเดิมของตนเองไว้ตลอดทุกกาลสมัย)

แต่ผู้ที่เห็นผิดกลับเข้าใจว่าไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารถาวรเลย บุคคลพวกนี้เห็นว่าทั้งมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเกิดมาจากความสนุกสนานร่าเริงกันของบิดามารดา จึงทำให้เกิดรูปร่างกายของตัวเองขึ้นมา และเมื่อเกิดรูปร่างกายขึ้นมาแล้ว ก็มีจิตใจพลอยเกิดตามมาด้วยโดยอัตโนมัติ

ดังนั้น เมื่อร่างกายตายลงเมื่อใด จิตก็ต้องพลอยพินาศดับสูญไปด้วยเช่นเดียวกัน เกิดหนเดียว – ตายหนเดียวเท่านั้น ไม่มีการสืบภพชาติต่อไปอีกแต่ประการใด ความเห็นเช่นนี้จัดว่าเป็น อุจเฉททิฐิ (เห็นว่าขาดสูญ)

ความเห็นผิดเช่นนี้ มีอยู่มากมายในปัจจุบันนี้ ผู้ที่มีความเห็นเช่นนี้ มักมีจิตใจกระด้างหยาบคายเป็นส่วนใหญ่ มักไม่เห็นความถูกต้องของการดำเนินชีวิตในสังคมว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงมักประพฤติตนตามชอบใจ และสวนทางกับหลักธรรมในพระศาสนา บางทีก็กล่าวบิดเบือนสัจธรรมให้ผิดไป ทำให้ส่งผลที่เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมเป็นอย่างยิ่ง

ผู้ที่เชื่อถือเช่นนี้ จะละเลยการประกอบคุณงามความดี และหันเข้าประกอบแต่ความชั่วกอบโกยผลประโยชน์ แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา โดยไม่คำนึงถึงผลของกรรมที่จะได้รับข้างหน้า เพราะได้เข้าใจผิดเสียแล้วว่า ใครจะทำอะไรลงไปก็ย่อมขาดตายหายสูญ เมื่อตายจึงไม่ต้องรับผลของกรรมแต่ประการใด

ดังนั้น ผู้ศึกษาธรรมะที่หลงพาตัวเองเข้าไปอยู่ในข่ายความเห็นผิดว่าตายสูญ เพราะเหมาเอาว่าจะพ้นทุกข์นั้น ย่อมขัดแย้งกับพระพุทธศาสนา ดังพุทธดำรัสที่มีมาใน อปัณณกสูตรว่า:

“พระอรหันต์ทั้งหลาย ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าปรโลกมีอยู่ ฉะนั้นผู้ที่ถือว่าปรโลกไม่มี จึงได้ชื่อว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อพระอรหันต์ทั้งหลาย

ในเมื่อตนเองถือเช่นนั้น (ถือว่าตายสูญ) แล้วสอนผู้อื่นให้เชื่อตาม จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกาศอสัทธรรม และด้วยอสัทธรรมที่ได้ประกาศออกมาเช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ยกตนข่มผู้อื่นอีกด้วย ย่อมละศีลได้ง่ายและประพฤติตนในทางทุศีล

ดูก่อนคหบดีทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉาทิฐิเป็นปัจจัย ย่อมก่อให้เกิดอกุศลกรรมไม่ใช่น้อยทีเดียว

ดูก่อนคหบดี ในเรื่องปรโลกนี้ สำหรับคนที่ฉลาดย่อมคิดอย่างนี้ว่า ถ้าปรโลกไม่มี คนที่ทำบาปไว้ก็ปลอดภัยไป แต่ถ้าปรโลกมีจริง คนที่ทำบาปตายไปแล้ว ก็จะเข้าถึงทุคติ วินิบาตนรก หรือแม้ไม่พูดถึงปรโลก แต่คนที่เห็นผิดและทุศีล ก็ย่อมถูกวิญญูชนติในโลกนี้เอง

เพราะฉะนั้น คนที่มีความเห็นผิด จึงต้องประสบผลร้ายถึง ๒ ทางคือ ถูกติเตียนในโลกนี้ และเมื่อตายไปแล้วก็จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรกอีกด้วย”

สรุปความแล้ว ผู้ที่เห็นว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่ต้องดับตายหายสูญ เมื่อรูปร่างกายนี้ตายลง จัดว่าเป็น อุจเฉททิฐิ ในพระพุทธศาสนานี้

🌷 สัมมาทิฐิ (ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง)

จะมีขึ้นได้เพราะจิตได้รับการอบรมศึกษา จากการปฏิบัติสมาธิอย่างชำนาญแล้ว จนเห็นด้วยตนเองอย่างชัดเจนว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ทรงความรู้ทุกกาลสมัย ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน ส่วนอารมณ์เป็นเพียงสิ่งอื่นจากภายนอกที่มากระทบเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็ดับไป ไม่อาจยึดถือเป็นตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวรได้

สัมมาทิฐิ แบ่งออกเป็น ๒ ระดับ คือ

๑. สัมมาทิฐิ ที่ยังมีอาสวะกิเลสปนอยู่ หมายความว่า เป็นสัมมาทิฐิที่เป็นที่ตั้งแห่งกุศล ที่ให้ผลเป็นขันธ์ เป็นกรรม – กิเลส และเป็นรูป – เสียง – กลิ่น – รส – ความสัมผัสที่น่าปรารถนาในอนาคต มีอยู่ ๑๐ อย่างคือ

๑. เชื่อว่าการให้ทานมีผล
๒. การบูชาด้วยการบริจาคเครื่องไทยธรรมมีผล
๓. การทำการมงคลด้วยการให้เครื่องสักการะ เครื่องต้อนรับมีผล
๔. วิบากผลของกรรมดี – กรรมชั่วมี
๕. โลกนี้มีสำหรับคนสัตว์ในโลกอื่น
๖. โลกอื่นมีสำหรับคนสัตว์ในโลกนี้
๗. มารดามีบุญคุณ
๘. บิดามีบุญคุณ
๙. สัตว์ที่เกิดเติบโตเต็มที่ทันทีมีอยู่
๑๐. พระสมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชีวิตชอบ ปฏิบัติชอบ จนตรัสรู้ด้วยตนเอง แล้วชี้แจงสั่งสอนชุมชนให้รู้ตาม มีอยู่ในโลก

๒. สัมมาทิฐิ ที่ไม่มีอาสวะกิเลสปนอยู่ ได้แก่ พลังปัญญาที่อบรมให้เกิดขึ้นที่จิต จากการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นเหตุให้เกิดสัมมาทิฐิ )

คือ ได้พบเห็นสภาพจิตเดิมของตนเองว่าไม่ใช่ตัวทุกข์ ดังนั้นจึงสามารถปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ได้ เพราะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง (เห็นอริยสัจ ๔) คือ

๑. เห็นอาการซัดส่ายของจิตเพราะยึดอารมณ์ เป็นทุกข์
๒. เห็นจิตเมื่อแส่ออกไปรับอารมณ์ที่จะไม่ทุกข์เป็นไม่มี เป็นเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย)
๓. เมื่อจิตปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ได้ ก็พ้นทุกข์ เป็นนิโรธ
๔. เห็นว่าการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ โดยมี “สัมมาสมาธิ” เป็นประธาน เป็นหนทางที่ทำให้จิตปล่อยวางอารมณ์ได้ เป็นมรรค

สัมมาทิฐิทั้ง ๒ ประการดังกล่าวนี้ จะมีขึ้นได้ เพราะจิตได้รับการอบรมศึกษาจากการปฏิบัติสมาธิจนชำนาญแล้ว เห็นด้วยตนเองอย่างชัดเจน

แต่ในตอนเริ่มศึกษาธรรมะนั้น เพียงแต่เชื่อ กฎแห่งกรรมว่า ทำดีได้ดี เท่านั้น ก็นับว่าเป็นสัมมาทิฐิแล้ว แต่เป็นสัมมาทิฐิชนิดที่ยังมีอาสวะกิเลสปนอยู่

โปรดดูพุทธอุทานที่มีมา “จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตา เสว ชาติสุ ตานิ เอตานิ ทิฏฺฐานิ ภวเนตฺติ สมูหตา อุจฺฉินฺนํ มูลํ ทุกฺขสฺส นตฺถิ ทานิ ปุนพฺ ภโวติ” แปลว่า “เพราะไม่เห็นอริยสัจสี่ตามความเป็นจริง เรา (จิต) จึงได้เวียนว่ายเข้าไปในภพชาติอันยาวนานนับไม่ถ้วน บัดนี้ เราได้ถอนความเห็นผิดในเรื่องภพ และมูลเหตุแห่งทุกข์ออก เสียหมดสิ้นแล้ว ภพใหม่ต่อไปจึงไม่มีอีก”

ผู้ที่มีเหตุผล ได้เห็นพุทธอุทานข้อนี้ ย่อมแลเห็นได้ว่าทรงตรัสธรรมะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ จิตของพระองค์ ซึ่งเป็นพุทธะไปแล้ว, ส่วนหนึ่ง กับ ร่างกายของพระองค์ ซึ่งประกอบด้วย ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อันเป็นภพที่อาศัยของพระองค์, อีกส่วนหนึ่ง

🌷 การรู้เห็นตามความเป็นจริง (to know mind and body as it really is)

ก็คือ รู้ว่าอะไรที่เข้าไปเวียนว่ายในสังสารวัฏฏ์ และรู้ว่าอะไรที่ไม่ได้เข้าไปเวียนว่ายในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งถ้าใช้หลักของเหตุผลแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า

ผู้ที่เข้าไปเวียนว่ายในสังสารวัฏฏ์ ก็คือ จิตของพระองค์ ซึ่งมีดวงเดียว เกิดดับไม่ได้

แต่ผู้ที่ไม่ได้เข้าไปเวียนว่ายในสังสารวัฏฏ์ ก็คือ ร่างกาย ซึ่งเห็นชัดว่า ตายเน่าผุพังไปหมดสิ้นทุกชาติ (ภพ) ร่างกายจึงเป็นสังขารธรรมที่ต้องปรวนแปรไปตามกาลเวลา จนถึงวันตาย

ถ้าเห็นว่าร่างกายเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนของเรา ก็แปลว่า เห็นผิด

แต่ถ้าเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ของเที่ยง เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นเพียงที่อาศัยของเรา ก็แปลว่า เห็นถูก