คำบริกรรมที่ใช้ในการปฏิบัติสมาธิ

🌷 คำบริกรรมที่ใช้ในการปฏิบัติสมาธิ

โดยทั่วไปแล้ว ในปัจจุบันนี้ แต่ละสำนัก แต่ละอาจารย์ ได้คิดคำบริกรรมสำหรับใช้ผูกมัดจิตอันปราดเปรียวนี้ขึ้น ควบคู่กับการยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติอีกอย่างหนึ่งด้วย สุดแต่จะนิยมนับถือว่าอย่างใดเหมาะสมที่สุด

โบราณาจารย์ ใช้คำบริกรรมว่า “อรหัง”
สายพระอาจารย์มั่น ใช้คำบริกรรมว่า “พุทโธ”
สายหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ใช้คำบริกรรมว่า “สัมมาอรหัง”
สายพม่า ใช้คำบริกรรมว่า “ยุบหนอ – พองหนอ หรือ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ เป็นต้น

นับว่าเป็นเจตนาที่ดีของท่านอาจารย์ในแต่ละสำนักดังกล่าวมานี้ ที่จะช่วยสานุศิษย์ของตนให้ปฏิบัติสมาธิได้รวดเร็วขึ้น

แต่อีกด้านหนึ่งนั้น ก็มักจะทำให้สานุศิษย์ของแต่ละสำนักที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ เกิดมีทิฐิและภาคภูมิว่า คำบริกรรมที่ตนกำลังใช้อยู่นี้ถูกต้อง ส่วนคำบริกรรมอย่างอื่นหรือของสำนักอื่นไม่ถูก ดังนั้น จึงมักจะโต้แย้งขัดคอกันบ่อยๆ เพราะไม่เข้าใจจุดประสงค์ว่าใช้คำบริกรรมเพื่ออะไร

เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้ปฏิบัติส่วนมากใช้คำบริกรรมไม่กลมกลืนกับสภาวะของจิต กล่าวคือ บางขณะก็เน้นจิตให้อยู่กับคำบริกรรม บางขณะก็เน้นจิตให้อยู่กับฐานที่ตั้งสติ เพราะฉะนั้น จึงกลายเป็นสองอารมณ์ขึ้นมา

เมื่อเป็นสองอารมณ์ เนื่องจากไม่มีอุบายอันแยบคาย ก็ย่อมทำให้เกิดความลังเลสงสัยว่า จะกำหนดจิตให้อยู่กับอารมณ์อันไหนแน่ ทำให้จิตซัดส่ายออกไปได้โดยง่ายในที่สุด

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องศึกษาวิธีใช้คำบริกรรมจากพระอาจารย์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน จึงจะลงมือปฏิบัติต่อไปได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วที่สุด

ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ใช้ สติ และสัมปชัญญะ เพ่งดู และรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะที่มีอารมณ์เข้ามากระทบ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจะไม่ใช้คำบริกรรมเลยตั้งแต่เริ่มต้น ก็ย่อมทำได้โดยไม่ผิดพลาด

สำหรับผู้ที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ที่ไม่ประสงค์จะใช้คำบริกรรม ก็อาจไม่ใช้เสียเลยก็ได้ เพราะจะช่วยย่นระยะการปฏิบัติให้สั้นเข้า แต่ถ้าประสงค์จะใช้ตามคำแนะนำของอาจารย์ในแต่ละสำนัก ก็ควรจะได้ศึกษาให้เข้าใจและรู้จักวิธีใช้ให้กลมกลืนกับสภาวะจิตใจ จึงจะช่วยให้จิตเป็นสมาธิได้รวดเร็ว

และสำหรับผู้ที่ใช้คำบริกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดมาจนเคยชินแล้ว ก็ควรจะได้ใช้คำบริกรรมอย่างนั้นต่อไป ไม่ควรใช้บ้าง หรือไม่ใช้บ้าง หรือคิดเปลี่ยนไปใช้คำบริกรรมอย่างอื่น เพราะจะทำให้ไม่ได้รับความคล่องแคล่วในการเข้าสมาธิเพิ่มขึ้นจากเดิม จนทำให้ต้องเริ่มต้นคลำหาทางเข้าสมาธิกันใหม่ ทุกครั้งที่ลงมือปฏิบัติตลอดไป

ทั้งนี้หมายความว่า ผู้ใดเคยปฏิบัติมาอย่างใดหรือเคยใช้คำบริกรรมแบบไหนมาก่อนจนเคยชินแล้ว ก็ให้ดำเนินปฏิบัติแบบนั้นต่อไป โดยไม่เปลี่ยนแปลงตลอดชีวิต เมื่อจิตเริ่มสงบแล้วก็ให้หยุดใช้คำบริกรรมเสียทันที

🌻 คำบริกรรมอุปมาเหมือนดังป้ายบอกทางเดินของจิต

ตามธรรมดาแล้ว จิตใจของสามัญชนย่อมวนเวียนท่องเที่ยวไปสู่อารมณ์ที่น่ารักใคร่ ตามความสะดวกสบายของตนเป็นนิตย์

ส่วนการปฏิบัติสมาธินั้น เป็นการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากอารมณ์อันน่ารักใคร่ ซึ่งฝืนกับกระแสจิตของสามัญชนที่มีอยู่แต่ก่อน จึงทำให้เกิดความสงบสุขแก่ตนเองในที่สุด

อุปมาดังการยกระดับตนเองขึ้นที่สูงให้พ้นทุกข์ จากการวนเวียนท่องเที่ยวไปหาชมสิ่งต่างๆ ในพื้นที่ราบหรือที่ต่ำตามความพอใจ ฉะนั้น

ในขณะที่ท่องเที่ยวอย่างเพลิดเพลินอยู่นั้น จิตย่อมได้รับความวุ่นวายซัดส่ายไปมาจนหาความสงบไม่ได้เลย แต่ถ้าสามารถยกตนให้สูงขึ้น และห่างออกจากความวุ่นวายซัดส่ายไปมาเสียได้ ก็จะเริ่มพบกับความสงบมากขึ้นตามลำดับ

เหมือนดังยกตัวให้สูงจากพื้นที่ราบหรือที่ต่ำ ด้วยการไต่เขาสูงขึ้นไปตามลำดับ ถ้ายิ่งไต่เขาสูงขึ้นไปเพียงใด ก็ยิ่งยกตัวห่างออกจากทุกข์ในพื้นที่ราบมากขึ้นเพียงนั้น ข้อนี้ฉันใด

คำบริกรรมนั้น อุปมาดังป้ายบอกทางเดินในขณะที่ยังอยู่ในระดับพื้นราบ เพื่อให้สามารถมุ่งตรงไปยังเชิงเขาได้ โดยตรงเท่านั้น พอเริ่มไต่เขาสูงขึ้นไปเมื่อใด ก็จะต้องทิ้งป้ายบอกทางไว้ข้างหลัง และมุ่งหน้าไต่เขาให้สูงขึ้นไปตามลำดับเมื่อนั้นทันที

ถ้ายังยึดเกาะป้ายบอกทางนั้นไว้ คือ ไม่ปล่อยวางอย่างสิ้นเชิง ก็จะทำให้เกิดกังวลและไต่เขาให้สูงขึ้นไม่ได้เป็นธรรมดา ข้อนี้ก็ฉันนั้น

ทั้งนี้หมายความว่า คำบริกรรมนั้นเป็นอุบายที่จะรวมจิตให้สงบเท่านั้น เมื่อจิตเริ่มสงบแล้ว คำบริกรรมก็ย่อมหมดหน้าที่ทันที ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องทิ้งคำบริกรรมเสีย จิตจึงจะสงบมากขึ้นต่อไป ถ้าไม่ทิ้งคำบริกรรมในขณะที่จิตรวมดีแล้ว ก็อาจทำให้จิตซัดส่ายแลบออกไปอีกได้ (จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ใช้คำบริกรรม) เมื่อทิ้งคำบริกรรมเสีย จิตก็จะเข้าสู่ความสงบทันที

ผลเสียอาจเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้คำบริกรรมก็ได้ คือ จิตไปจับอยู่ที่คำบริกรรมเพียงอย่างเดียว จึงทำให้ลืมฐานที่ตั้งสติที่กำหนดไว้เดิมเสียก็มี หรือเวลาจิตเริ่มรวมตัวเป็นสมาธิแล้ว ไม่หยุดใช้คำบริกรรมเสียก็มี เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความลังเลสงสัยขึ้น และกั้นไม่ให้จิตเป็นสมาธิได้ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ ในตอนที่ยังไม่ชำนาญในการปฏิบัติอยู่ จึงจะเพิ่มวสีให้แก่ตนเองมากขึ้นตามลำดับ